• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นหมอของตัวเองในการดูแลโรคเบาหวาน

ในวงเสวนาเรื่อง " รู้กัน รู้แก้ โรคเบาหวาน"  ที่สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน เมื่อวันที่ 12  พฤศจิกายน
พ.ศ.2552 ที่ผ่านมานั้น มีผู้สนใจร่วมเสวนา 10 กว่าคน มี 4 คนที่เริ่มป่วยเป็นเบาหวานและรับการรักษาที่โรงพยาบาลมา 1-2 ปี ล้วนเป็นสตรีในวัยทำงาน มี 3-4 คนที่มีญาติเป็นเบาหวานหรือตรวจพบว่าเป็น "เบาหวานแฝง"

วงสนทนาเล็กๆ นี้มีบรรยากาศของการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเองและสนุกสนาน รวมทั้งได้เสนอประเด็นและเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าไม่อาจเกิดขึ้นง่ายนักในการพบปะพูดคุยกับแพทย์ขณะไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากวงสนทนาในครั้งนี้ พอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่นิยมไปตรวจเช็กสุขภาพ บางคนยอมเสียเงินไปหา "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่มีวิธีการตรวจโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ (ตามคำโฆษณา) ราคาแพง

ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการไปรับบริการตรวจเช็กสุขภาพที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่คิดค่าตรวจแพงเกินเหตุ รวมทั้งรู้สึกว่าแพทย์ไม่ได้ให้บริการครบถ้วนตามสัญญาที่ให้ จึงได้ร้องทุกข์กับหน่วยงานต่างๆ และได้ฟ้องร้องต่อสู้คดีความกับแพทย์ นานเป็นปีจนในที่สุดมีการไกล่เกลี่ยและแพทย์ยอมชดใช้เงินให้

ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่ง บอกว่าไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล พบเป็น "เบาหวานแฝง" แต่เจ้าตัวไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร เมื่อสอบถามดู พบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือด (หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง) 105 มก./ดล. ซึ่งสูงเกินค่าปกติ (ต่ำกว่า 100 มก./ดล.) และยังไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวาน (ต้องมีค่าตั้งแต่ 126มก./ดล. ขึ้นไป) ภาษาแพทย์เรียกว่าเป็น "เบาหวานแฝง (pre-diabetes)" คือยังไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่มีความเสี่ยงที่อาจจะกลายเป็นเบาหวานในอนาคต ควรระมัดระวังในการควบคุมน้ำหนักและอาหาร ก็จะปลอดภัย

ตรงนี้สะท้อนว่า ภาษาแพทย์ (ศัพท์แสงวิชาการ) มักเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับชาวบ้าน การสื่อสารจึงควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และควรมีการอธิบายให้ชาวบ้านเกิดความกระจ่าง มิเช่นนั้นย่อมสร้างความสับสนวิตกกังวลให้ชาวบ้าน

2. ผู้เสวนา 4 ท่านที่เป็นเบาหวานล้วนมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน (เป็นตระกูลเบาหวาน) และพบเป็นโรคนี้ประมาณอายุ 35-40 ปี 3 ท่านไม่มีอาการแสดง โดยวินิจฉัยได้จากการตรวจเช็กสุขภาพ 1 ท่านมีอาการปัสสาวะบ่อย และดื่มน้ำบ่อย แต่ก็นึกว่าเป็นนิสัยปกติของตัวเองที่รู้สึกคอแห้งมากกว่าคนอื่น เมื่อตรวจเลือด (จากการไปตรวจเช็กสุขภาพ) ก็พบว่ามีค่าน้ำตาลสูงร่วม 300 มก./ดล. จึงเริ่มรับการรักษา

ทั้ง 4 ท่านไปพบแพทย์ตามนัด (นัดทุก 1-3เดือน) ไม่มีปัญหาค่าใช้จ่าย เนื่องจากใช้สิทธิประกันสังคม
หลังรับการรักษา ส่วนใหญ่ยังมีค่าน้ำตาลสูงเกินเป้าหมายของการควบคุมโรค (คือ ต้องมีค่าระหว่าง 70-130 มก./ดล.) มักจะมีค่า 140-150 มก./ดล.ขึ้นไป ซึ่งทุกคนล้วนยืนยันว่ารู้สึกสบายดี ไม่มีอาการแสดงผิดปกติให้รู้สึก

ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าคุมให้ต่ำกว่า 130 มก./ดล. ตามแพทย์สั่ง ก็มักจะมีอาการอ่อนระโหยโรยแรง ไม่สุขสบาย แต่ถ้าสูงเกิน 140-150 มก./ดล. จะรู้สึกสุขสบายดี (แต่จะมีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ตรงนี้แหละที่เรียกว่า "ภัยเงียบ" คือเป็นเบาหวานโดยไม่มีอาการ ปล่อยให้น้ำตาลเป็นพิษค่อยๆ บ่อนทำลายอวัยวะต่างๆ อย่างช้าๆ) 

3. เวลาไปพบแพทย์ แพทย์มักไม่มีเวลาพูดคุยแนะนำผู้ป่วยจะดูค่าน้ำตาลเป็นหลัก ถ้าพบว่าค่าน้ำตาลสูงก็มักจะขู่ว่า "ระวังเถอะ เดี๋ยวจะตาบอด ไตวาย หัวใจวาย อัมพาต ตัดขา..." ไม่มีเวลาแม้แต่จะสอบถามถึงพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การทำงาน ความเครียด ความเชื่อ ความรู้สึก การกินยาหรือไม่กินยา

4. ผู้ป่วยรู้ว่าทุกครั้งที่ไปตรวจ แพทย์จะพอใจค่าน้ำตาลที่ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงตั้งใจควบคุมอาหารก่อนแพทย์นัดตรวจ 1-2 วัน ซึ่งทำให้ค่าน้ำตาลลงได้ดี โดยก่อนหน้านั้นเป็นเดือนก็ยังคงกินอาหารตามอำเภอใจ ผู้ป่วยรู้ว่าวิธีนี้ไม่ถูกต้อง เท่ากับหลอกหมอ แต่ก็ทำเพื่อให้คุณหมอพอใจ

5. ผู้ป่วยบางคนจะแอบปรับยาเองตามอำเภอใจ โดยไม่กล้าบอกหมอ (ผู้เสวนาท่านหนึ่งบอกว่า "ขืนบอกไป เดี๋ยวคุณหมอไม่พอใจ  ขนาดควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดียังถูกคุณหมอเทศนาดุว่าหนักๆ เอาเลย")
ท่านหนึ่งถูกหมอขู่จนกลัว ตั้งใจควบคุมอาหาร ลดน้ำหนักได้ 3 กก. โดยไม่ยอมกินยาที่หมอสั่งให้ (บอกว่า "ขอพึ่งตนเองก่อน ไม่อยากพึ่งยา ซึ่งถ้ากินแล้วจะต้องกินไปเรื่อยๆ") เวลาไปตรวจน้ำตาลลดดี แพทย์เข้าใจว่าได้ผลจากยาที่ให้ โดยหารู้ไม่ว่าผู้ป่วยไม่ได้กินยา ก็ยังคงสั่งยาเดิมให้ผู้ป่วยทุกครั้ง ผู้ป่วยเก็บยาไว้จนเหลือเฟือ และนำไปเจือจานให้คนอื่นที่จำเป็นต้องใช้

ท่านหนึ่งกินยาแล้วรู้สึกไม่สุขสบาย เข้าใจว่าเป็นผลข้างเคียงจากยา เล่าให้หมอฟัง หมอก็ว่าไม่เกี่ยวกัน จึงปรับลดยาเอง อาการก็ดีขึ้น ก็เลยกินยาน้อยกว่าที่หมอสั่งโดยไม่กล้าบอกหมอ

ข้อ 3-5 นี้ สะท้อนว่า แพทย์กับผู้ป่วยขาดความสัมพันธ์ที่ดี และขาดการสื่อสารกันฉัน "กัลยาณมิตร" ผู้ป่วยจึงมีพฤติกรรม "หลอกหมอ" "ไม่กล้าบอกความจริง"

6. ผู้เสวนาบางท่านมีความสับสนหรือความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา (กลัวว่ากินไปนานๆ ทำให้ไตวาย ทั้งๆ ที่ภาวะนี้เกิดจากตัวโรคเองที่ไม่ได้คุมให้ดีๆ) การใช้สมุนไพรรักษาเบาหวาน (ซึ่งยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าได้ผลจริงและปลอดภัย) รวมทั้งยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคและอันตรายของโรคนี้

7. ข้อสรุปสุดท้ายก่อนสิ้นสุดการเสวนาก็คือ ในการป้องกันและควบคุมโรคจะต้อง "เป็นหมอของตัวเอง" ควบคู่กับการดูแลของแพทย์ คือต้องมีสติปัญญาและวินัยในการดำเนินชีวิต
 

ข้อมูลสื่อ

368-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 368
ธันวาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ