• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลข้างเคียงจากยา

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 71
จากการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินในเช้าวันหนึ่ง

แพทย์ประจำบ้าน : "หญิงไทยโสด อายุ 56 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการจุกแน่นยอดอก และคลื่นไส้อาเจียนมา 3 วันค่ะ
ผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉินเมื่อ 3 วันก่อน แพทย์ตรวจแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ เข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะ มีกรดมาก ได้ให้ยาลดกรดไปกิน แต่ผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้น จึงมาตรวจใหม่ค่ะ"

อาจารย์ : "แล้วครั้งนี้ หมอตรวจพบอะไรบ้าง"

แพทย์ประจำบ้าน : "การตรวจร่างกายครั้งนี้ไม่พบอะไรผิดปกติ ท้องไม่อืดและกดไม่เจ็บ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และเอกซเรย์ท้องแล้ว ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ เช่นเดียวกับครั้งก่อน
เนื่องจากผู้ป่วยอายุมาก อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จึงได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสารเลือดของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (troponin T) ก็ปกติดีขึ้น จึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่อง "โรคกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ" (dyspepsia) ได้ฉีดยาลดกรดให้ และรอดูอาการค่ะ"

อาจารย์จึงหันไปหาผู้ป่วย ซึ่งนอนหงายอยู่บนเตียงเข็นในลักษณะร่างกายเหยียดตรง หน้าตายู่ยี่แสดงความเครียดกังวล และตาแดงๆ คล้ายเพิ่งร้องไห้มาใหม่ๆ หรือกำลังจะร้องไห้

อาจารย์ : "สวัสดีครับ อาการดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิมครับ"

ผู้ป่วย : "เหมือนเดิมค่ะ"

อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้น คุณเล่าอาการไม่สบายให้หมอฟังจากปากคุณเอง ว่าอาการป่วยมันเริ่มอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในระยะ 3วันนี้"

ผู้ป่วย : "อยู่ดีๆ ชั้นก็มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง พออาเจียนมากๆ ก็รู้สึกหวิวๆ คล้ายจะเป็นลมหน้ามืด 3 วันก่อน มาโรงพยาบาล ได้ยาไปกิน อาการก็ไม่ทุเลา วันนี้จึงต้องมาตรวจใหม่"

อาจารย์ : "แล้วคุณอาเจียนเป็นอะไรออกมาครับ"

ผู้ป่วย : "อาเจียนเป็นน้ำเมือกใสๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าหลังอาหาร ก็เป็นอาหารที่กินเข้าไป"

อาจารย์ : "อาการอาเจียนของคุณมักจะเป็นเวลาเช้า กลางวัน เย็น หรือกลางคืน ครับ"

ผู้ป่วย : "ไม่แน่นอนค่ะ"

อาจารย์ : "หมายความว่า คุณอาเจียนพอๆ กันทั้งในเวลาเช้า กลางวัน เย็น และกลางคืนหรือครับ"
ผู้ป่วยนิ่งอึ้งไปนานกว่าจะตอบ

ผู้ป่วย : "เป็นเวลากลางคืนมากกว่ากลางวันค่ะ"

อาจารย์ : "คุณทานอาหารเย็นประมาณกี่โมง แล้วคุณเริ่มอาเจียนประมาณกี่โมงครับ"

ผู้ป่วย : "ทานอาหารเย็นประมาณ 6 โมงเย็นถึงทุ่มค่ะ และมักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลัง 3-4 ทุ่มไปแล้ว"

อาจารย์ : "แล้วส่วนใหญ่อาเจียนเป็นน้ำเมือกใสๆ หรือครับ"

ผู้ป่วย : "ใช่ค่ะ"

อาจารย์ : "แล้วรสชาติของน้ำที่อาเจียนออกมา มันหวาน เค็ม เปรี้ยว ขม หรือเป็นรสอะไรครับ"

ผู้ป่วย : "เปรี้ยวๆ ค่ะ"

อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าอาหารที่คุณทานเข้าไปได้ผ่านกระเพาะคุณไปแล้ว คุณจึงไม่อาเจียนเป็นอาหารออกมา ส่วนน้ำเมือกใสๆ รสเปรี้ยวที่คุณอาเจียนออกมาก็คงเป็นน้ำย่อยในกระเพาะของคุณนั่นเอง หลังอาหารเย็นคุณกินยาอะไรบ้าง"

ผู้ป่วย : "ก็ทานยาตามที่หมอสั่งแหละค่ะ"

อาจารย์ : "มียาอะไรบ้างครับ"

ผู้ป่วย : "ก็หมอให้ยาลดกรด และยาแก้คลื่นไส้อาเจียนไปไม่ใช่หรือคะ"

อาจารย์ : "แล้วมียาอะไรอย่างอื่นอีกมั้ยครับ ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน หรืออื่นๆ"

ผู้ป่วย : "ก็มียาอีก 2-3 อย่างจากสถาบันประสาทฯ มีอีก 2-3 อย่างจากโรงพยาบาลทหารผ่านศึก แล้วก็มียาบำรุงอีก 2อย่างจากคลินิกและมียาสมุนไพรคลายเส้นค่ะ"

อาจารย์ : "คุณนำยาติดตัวมาด้วยหรือเปล่าครับ"

ผู้ป่วย : "ไม่ได้เอามาค่ะ"

อาจารย์ : "คุณรักษาโรคอะไรบ้างที่สถาบันประสาทฯ และโรคอะไรบ้างที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกครับ"

ผู้ป่วย : "สถาบันประสาทฯ ให้ยากันโรคสมองเสื่อม และโรงพยาบาลทหารผ่านศึกให้ยาแก้ข้อเข่าเสื่อมค่ะ"

อาจารย์ : "ขอโทษนะครับ คุณทำอาชีพอะไรหรือครับ"

ผู้ป่วย : "เป็นครูค่ะ"

อาจารย์ : "แล้วทำไมคุณคิดว่าคุณเป็นโรคสมองเสื่อม และข้อเข่าเสื่อมล่ะครับ"

ผู้ป่วย : "ชั้นไม่ได้คิดไปเองนะคะ ก็หมอบอกว่าอายุมากสมองจะเสื่อม ชั้นก็ไปตรวจที่สถาบันประสาทฯ เค้าก็ให้ยากันโรคสมองเสื่อมมากิน
ส่วนข้อเข่าของชั้นก็ปวดเป็นครั้งคราว เวลานั่งพับเพียบ นั่งยองๆ ซักผ้า หรือถูบ้าน หมอก็ว่าเป็นข้อเข่าเสื่อม ก็ให้ยามาอีก ชั้นไม่ได้คิดไปเองนะ"

อาจารย์ : "ขอโทษครับ หมอไม่ได้ว่าคุณคิดไปเอง หมอตั้งใจจะถามว่าคุณมีอาการอะไร หมอที่สถาบันประสาทฯ จึงบอกว่าคุณเป็นโรคสมองเสื่อม และหมอที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกจึงบอกว่าคุณเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม" (จะเห็นได้ว่าการถามผู้ป่วยโดยไม่เรียบเรียงคำพูดให้ดี อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ และทำให้ผู้ป่วยไม่พอใจได้)

ผู้ป่วย : "ไม่เป็นไรค่ะ แล้วหมอจะช่วยให้ชั้นหายได้อย่างไร"

อาจารย์ : "จากประวัติที่คุณเล่าให้ฟังทั้งหมด หมอคิดว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนของคุณ น่าจะเกิดจากผลข้างเคียงของยา ยิ่งกินยาหลายขนาด ยาจะตีกัน (มีปฏิกิริยาระหว่างยา drug interaction) ทำให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น
ดังนั้น หมอคิดว่าคุณควรจะหยุดยาที่คุณกินอยู่ทั้งหมดดูก่อน แล้วกินแต่ยาลดกรด และยาแก้คลื่นไส้อาเจียนที่เราให้คุณไว้ ถ้าไม่ดีขึ้น ค่อยส่องกล้องตรวจดูกระเพาะอาหารหรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆ
อนึ่ง คุณควรจะรักษาที่โรงพยาบาลแห่งเดียว เพราะการรักษาหลายหมอหลายโรงพยาบาล รวมทั้งซื้อยากินเอง (ยาสมุนไพร) จะทำให้คุณเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่ายและได้มากด้วย"

กรณีนี้ จะเห็นว่าแพทย์ประจำบ้านซักประวัติไม่ละเอียด จึงไม่รู้ว่าผู้ป่วยกินยาหลายอย่างจากหลายโรงพยาบาล การให้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ได้สั่งให้หยุดยาที่กินอยู่ จึงทำให้อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น

นอกจากนั้น จะเห็นว่าแพทย์ในปัจจุบันชอบพึ่งแล็บ (การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์) มากกว่าการซักประวัติและตรวจร่างกาย จึงมักวินิจฉัยได้ไม่ตรงประเด็นและสาเหตุ การรักษาจึงไม่ได้ผล

 

ข้อมูลสื่อ

368-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 368
ธันวาคม 2552
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์