• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกมกับสุขภาพ... เด็ก

"เวลาว่างเด็กๆ ทำอะไรกันบ้างที่บ้าน"

คำตอบของคำถามนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนอย่างมาก แต่ก่อนเด็กๆ อาจตอบว่าขี่จักรยาน เล่นกระต่ายขาเดียว เล่นหมากเก็บ เล่นขายของ หรือดูทีวี แต่เดี๋ยวนี้จะตอบว่าเล่นเกมกันเกือบทั้งหมด การเล่นเกมของเด็กๆ เป็นอะไรที่ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจสำหรับพวกเขา จนยากที่จะหักห้ามใจได้ ยิ่งเล่นยิ่งสนุก ยิ่งเล่นยิ่งติด เด็กบางคนเล่นมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่า 700 ชั่วโมงต่อปี หากเราคิดว่าเด็กนอนวันละ 8 ชั่วโมง จะเหลือเวลากิน เล่น เรียนอีก 16 ชั่วโมง ถ้าทั้ง 16 ชั่วโมงเด็กเล่นเกมตลอดเวลาเด็กก็จะใช้เวลาเล่นเกมคิดเป็น 44 วัน ต่อปีหรือใน 1 ปี เด็กจะเอาแต่เล่นเกมตลอดเวลาถึง 1 เดือนครึ่ง

ในโลกแห่งข่าวสารข้อมูล คุณพ่อคุณแม่หากไม่ถึงขั้นตกข่าวจนเกินไป ก็คงตระหนักเป็นอย่างดีว่า ผลแห่งการหมกมุ่นเล่นแต่เกมนั้นมันมีผลร้ายตามมาอย่างน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเสียหายแก่จิตใจ เช่น ไปกระตุ้นความก้าวร้าวรุนแรง ก่อให้เกิดพฤติกรรมชอบเล่นการพนัน กระทั่งไม่มีสมาธิและอารมณ์จะร่ำเรียนหนังสืออีกต่อไป มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อปวดเกร็ง (เส้นประสาทของนิ้ว ข้อมือ แขน หัวไหล่ ถูกกดทับและใช้งานอย่างหนัก) สมองเฉื่อยชา การจมอยู่แต่ในโลกของเกมทำให้ขาดการพัฒนาทางร่างกาย-จิตใจ และสูญเสียความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว  สังคม และเสียอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย... เรามาดูผลทางลบเหล่านี้และวิธีป้องกัน

โรคจากการบาดเจ็บซ้ำบริเวณเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า โรคอาร์เอสไอ (RSI : Repetitive strain injuries) หรือโรคซีทีดี (CTD : Cumulative trauma disorder)

การเกร็งนิ้ว โดยเฉพาะนิ้วโป้ง และการขยับนิ้วรัวเร็วแบบถี่ยิบเพื่อกดปุ่มบังคับ เป็นเวลานานๆ ด้วยความเมามัน ตื่นเต้น เป็นเหตุให้เกิดโรคกล้ามเนื้อเกร็ง ข้อเส้นเอ็นอักเสบเรื้อรัง เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์เกินกว่าวันละ 1 ชั่วโมง ก็มีโอกาสถูกโรคนี้เล่นงานได้ เพราะทั้งนิ้ว ข้อมือ แขน หัวไหล่ ต้นคอ และหลัง จะถูกใช้งานอย่างหนัก อย่างไม่รู้ตัว 
โดยเฉพาะเส้นเอ็น เส้นประสาทแถวมือ ข้อมือ จะเกิดการใช้งานหนักซ้ำๆ นานๆ ทำให้เส้นเอ็นเกิดการบาดเจ็บเรื้อรังแบบซ้ำๆ ลงเอยจะมีอาการนิ้วติดหรือนิ้วล็อก (trigger finger) คือว่า เมื่อกำมือลงแล้วเหยียดนิ้วข้างที่มีอาการไม่ออก ต้องใช้อีกมือมาช่วยง้าง ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นก่อให้เกิดพังผืดที่บริเวณเส้นเอ็น และพังผืดดังกล่าวมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เส้นเอ็นไม่สามารถลอดเยื่อหุ้มเส้นเอ็นได้ ต้องไปพบหมอกระดูกอาจเริ่มด้วยการออกกำลังกายเหยียดนิ้ว หรือจัดการฉีดยาเข้ารอบเส้นเอ็น หรือผ่าตัด อาการจึงจะดีขึ้น 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพแสดงการบวมของเส้นเอ็นและเยื่อหุ้ม ทำให้ไม่สามารถลอดปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้ เกิดอาการนิ้วติดหรือนิ้วล็อก       
 

นอกจากที่มือแล้วการใช้ท่าทางที่ผิดท่า ก้มๆ เงยๆ หรือการยกไหล่สูงในขณะที่กดปุ่มต่อสู้จะส่งผลให้เส้นเอ็นที่กระดูกต้นคอและหัวไหล่มีการอักเสบ ก่อให้เกิดอาการปวดคอ ปวดไหล่ คอแข็ง ไหล่แข็ง เดินเหมือนหุ่นยนต์

วิธีป้องกันคือ ในแต่ละวันไม่ควรเล่นเกมเกิน 1 ชั่วโมง ในระหว่างการเล่นต้องมีการพักทุกๆ 20 นาที ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย เหยียดนิ้วกางมือให้เต็มที่

เวลานั่งต้องนั่งตัวตรง มีพนักพิงหลัง ไม่นั่งหลังค่อม ไม่ก้มคอก้มหัว วางเท้าแตะพื้นแบบสบายทั้ง 2 ข้าง ไม่จิกปลายเท้า ไม่เกร็งเท้า
การจับเกมและบังคับปุ่มกด ต้องให้ข้อมืออยู่ในท่าเหยียดตรง ไม่งอข้อมือ

สำหรับเด็กแล้ว กลยุทธ์ที่สำคัญในการควบคุมดังกล่าวให้เป็นจริงได้ ต้องวางคอมพิวเตอร์ ทีวีและเครื่องเล่นเกมในบริเวณที่คุณพ่อคุณแม่เห็นได้ ไม่ซื้อให้ลูกโดยวางไว้ในห้องนอนหรือห้องส่วนตัวของลูกเพราะเป็นการยั่วให้เด็กทำผิดกฎ 

ชัก

มีการศึกษาชัดเจนว่าคนบางคนซึ่งเซลล์ประสาทมีความไวต่อแสง อาจเกิดอาการชักได้ในขณะเล่นเกม
Graf   และคณะได้รายงานการชักของเด็กขณะเล่นเกม และระบุว่าเกิดในขณะที่ภาพเกมมีการเปลี่ยนแปลงไวๆ ซ้ำไปซ้ำมา

Ferrie   รายงานผู้ป่วยเด็ก 15 รายที่เกิดอาการชักทั้งตัวขณะเล่นเกม ในจำนวนนั้น ๙ รายเป็นการชักครั้งแรก ร้อยละ 70 เมื่อนำไปทดสอบความไวต่อแสง พบว่ามีความไวสูง ดังนั้นอาการชักน่าจะมาจากการกระตุ้นของแสง คนเหล่านี้หากดูทีวีที่มีแสงวูบวาบเร็วๆ อาจมีอาการชักได้เหมือนกัน กลุ่มคนที่ไม่ไวต่อแสงนั้นอาจมีอาการชักได้จากความตื่นเต้น ความอ่อนเพลีย การอดนอน

จากการสัมมนาวิชาการว่าด้วยเรื่องของ "โรคลมชัก" เมื่อปี พ.ศ.2546 ท่านเลขาธิการสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย ได้เคยกล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า การเล่นเกมคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นอีกสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองอย่างฉับพลัน โดยเซลล์สมองมีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่มากผิดปกติ ซึ่งเป็นเหตุให้ชักได้

คนที่เคยเล่นแล้วมีอาการชัก วิธีการป้องกันคือ ต้องหยุด ห้ามเล่นต่อไปเพราะหากเล่นต่อไปก็มีโอกาสชักซ้ำได้อีก 


ภาพแสดงคลื่นสมองที่เปลี่ยนแปลงไปจากการกระตุ้นด้วยแสง ซึ่งพบได้ร้อยละ 70 ของผู้ที่ชักครั้งแรกแบบไม่ทราบสาเหตุระหว่างเล่นเกม

เล่นแล้วอ้วน

การศึกษาตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Journal Obesity Research ได้รายงานการศึกษาเด็ก 872 คนโดย The University Hospital Zurich ซึ่งพบความสัมพันธ์ของการเล่นวิดีโอเกม และความอ้วน การเล่นเกมทำให้เด็กเสียเวลาในการเล่นกลางแจ้งซึ่งเป็นการออกกำลังกายในตัว นอกจากนั้นยังปลูกฝังพฤติกรรมการเคลื่อนไหวน้อยๆ ขี้เกียจขยับตัวไปมา แม้แต่กิจวัตรในชีวิตประจำวัน รวมทั้งยังสร้างสมพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกวิธี เช่น การกินของหวาน ขนมขบเคี้ยว ตลอดเวลาในระหว่างการเล่นเกม

การใช้แอ็กชั่นเกม (action game) พวกเกมวี เช่น เกมการเต้นตามเพลง เกมเทนนิสที่มีไม้มาให้ด้วย เป็นการแก้ปัญหาทางหนึ่ง เพื่อเพิ่มการขยับตัวและการออกกำลังของเด็กขณะเล่น

พฤติกรรมความรุนแรง

การศึกษาของ Silvern & Williamson ในปี พ.ศ. 2530 พบว่า เกม 'Space Invaders' ทำให้เด็กอายุ 4-6 ปี มีพฤติกรรมรุนแรงหลังการเล่นไปสักระยะหนึ่ง แม้ว่าเป็นผลติดตามระยะสั้นไม่ใช่ระยะยาวก็ตาม แต่เราก็คงต้องให้ความสนใจกับผลการวิจัยนี้ และระวังการสนับสนุนให้เด็กเล็กๆ เล่นเกม

ความคิดที่ว่าเกมจะทำให้เขาสนุกหรือกลัวว่าความสามารถของลูกเราในการใช้คอมพิวเตอร์จะไม่ทันคนอื่นเลยต้องเล่นเกมนั้นน่าจะเป็นความคิดที่ผิด การสนับสนุนผิดวิธีตั้งแต่วัยเยาว์อาจนำไปสู่การติดเกมและพฤติกรรมรุนแรงเมื่อโตขึ้น

เหยื่อเกมรายนี้คือเด็กชายวัย 9 ขวบ ที่เริ่มจากการผลัดกับเพื่อนวัยเดียวกันเล่นเกม เคาน์เตอร์สไตรก์ เกมคอมพิวเตอร์ประเภทไล่ล่าฆ่ายิงกันเลือดสาด แต่วันนั้นเจ้าหนู 2 คนนี้เกิดอารมณ์สุดขีดขึ้นมาอย่างไรไม่ทราบได้ โดยเจ้าคนแรกจู่ๆ ก็ผละจากเกม แล้วคว้าปืนยาว (ของเล่น)ขึ้นมา เล็งไปยังเพื่อนคนที่กำลังเล่นเกม ปรากฏว่าเพื่อนรีบลุกแล้ววิ่งเข้าไปในห้องนอนพ่อ กลับเข้ามาพร้อมปืนพก (ของจริง!) แล้วยิงเข้าที่ศีรษะของเด็กที่ถือปืนยาวเด็กเล่น
มีการศึกษาที่ลงใน Journal Pediatrics ซึ่งได้ศึกษาเด็กญี่ปุ่นอายุ 12-15 ปี จำนวน 181 คน และอีกกลุ่มหนึ่งอายุ 13-18 ปี จำนวน 1,050 คน เด็กสหรัฐอเมริกาอายุ 9-12 ปีอีก 364 คน ผลสรุปพบว่าเด็กที่เล่นเกมที่มีความรุนแรงมาก เช่น การยิงกัน การต่อสู้กัน ยิ่งเล่นมากเล่นนาน ยิ่งมีพฤติกรรมความรุนแรงมาก

Dr.L.Rowell Huesman กล่าวว่า เกมส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงได้ 3 ประการ

1. การเล่นเกมทำให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการ รูปแบบการตอบสนองด้วยความรุนแรงแบบหลากหลาย ทำให้เด็กลอกเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น ทั้งในยามปกติเพื่อความสนุกสนาน หรือในยามมีภาวะเครียด เช่น โกรธผู้อื่น แล้วตอบสนองด้วยพฤติกรรมรุนแรงที่เลียนแบบมาจากการพบเห็นขณะเล่นเกม

2. เป็นจากความเคยชิน (desensitized to violence) ทำให้ไม่ได้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี ไม่สมควร ความเคยชินจากการได้ทำร้ายคู่ต่อสู้ ฆ่าคน ขโมยของ หรือข่มขืนคนอื่นในเกม ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการหล่อหลอมพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่น่ากลัวอย่างมากสำหรับเด็กในอนาคต

3. เป็นเป้าหมายของเกม การได้คะแนนมากขึ้น ได้สู่เป้าหมายคือชัยชนะ โดยจำนวนการตายของคู่ต่อสู้ หรือจำนวนการข่มขืน โบนัสจากการใช้อาวุธที่แรงทำให้คนตายจำนวนมาก โบนัสจากการฆ่าเด็ก คนชรา และสตรี สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กหล่อหลอมความคิด แม้เพียงความขัดแย้งปกติที่ในอดีตอาจลงเอยด้วยการชกต่อยกัน กลับกลายมาเป็นการใช้มีดทิ่มแทงเพื่อให้ "ตาย" โดยไม่รู้ตัวว่าความตั้งใจเหล่านี้ถูกหล่อหลอมมาหลายปีจากการเล่นเกม

ระบบเรตติ้ง (rating) ของเกม

การจัดเรตติ้งของเกมอาจเป็นการป้องกันทางหนึ่ง แม้ว่ายังอ่อนอยู่มาก ก่อนจะให้เด็กเล่นเกมใดลองค้นทางอินเทอร์เน็ต หรือหากซื้อเกมจริงก็ลองอ่านดูในคำแนะนำ และให้เด็กเล่นให้เหมาะสมตามอายุ

ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีระบบการจัดเรตติ้ง 2 ระบบคือ  Entertainment Software Rating Board (ESRB) เป็นระบบสำหรับวิดีโอเกม และ Recreational Software Advisory Council (RSAC) ซึ่งเป็นระบบสำหรับคอมพิวเตอร์เกม เรตติ้งนี้จะถูกติดไว้ที่หน้ากล่องเกม

ในระบบ ESRB ได้แบ่งเรตติ้งเกมตามกลุ่มอายุเพื่อความเหมาะสมในการเล่นดังนี้

 

 

สำหรับเด็กอายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป ไม่มีเนื้อหาใดที่ไม่เหมาะสมเลย
 

 


สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป อาจจะมีเนื้อหาความรุนแรง หรือการใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับเด็กเล็ก 
 

 


สำหรับวัยรุ่น 13 ปีขึ้นไป (T=Teen) มีเนื้อหาความรุนแรง หรือการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับเด็กวัยเรียน
 

 


สำหรับวัยรุ่นผู้ใหญ่ (M=Mature) อาจมีเนื้อหาความรุนแรง เช่น มีเลือดคล้ายของจริง การใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับเด็ก ภาพส่อทางเพศ
 

 


สำหรับวัยผู้ใหญ่ (A=Adults) มีเนื้อหาความรุนแรง  การใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับเด็ก ภาพส่อทางเพศ ห้ามขายหรือเช่าให้กับเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี 
 

 
 

                          

               ตัวอย่างหน้ากล่องเกมจะบอกเรตติ้ง E หมายถึงเล่นได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบขึ้นไป


ระบบ Recreational Software Advisory Council (RSAC) ซึ่งเป็นระบบสำหรับคอมพิวเตอร์เกม เพ่งเล็งที่ความเสี่ยง 3 ประการคือ ความรุนแรง ภาษา และการส่อทางเพศ แต่ละความเสี่ยงบ่งบอกระดับไว้ด้วยรูปปรอทดังในภาพ เช่น ในความรุนแรง แบ่งเป็นระดับต่ำและระดับสูง (เช่น (1) มีการทำลายข้าวของ (2) มีการต่อสู้ ทำร้ายร่างกายและมีเลือดเล็กน้อย (3) ต่อสู้ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าตาย และมีเลือดมาก (4) การทำร้ายร่างกายแบบรุนแรง ข่มขืน เป็นต้น) 

 

        

                          ภาพแสดงระดับปรอทบ่งบอกระดับความเสี่ยง 4 ระดับ

 

ในยุโรปใช้ระบบเรตติ้งตามอายุ ชื่อ Pan European Game Information (PEGI) ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ.2546 ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนโดย PlayStation, Xbox และ Nintendo ด้วย ในระบบนี้จะแบ่งกลุ่มอายุเด็กเป็น 3+, 7+, 12+, 16+, 18+ และบอกความเสี่ยง 6 ด้าน

 

          
  

มีภาษาไม่ไพเราะ

 

แสดงการแบ่งแยกชนชั้น

 

เกมน่ากลัว

 

   

แสดงออกทางเพศ


แสดงความรุนแรง

 

 
 

         
                                             
ภาพตัวอย่างเกมที่จัดเรตติ้งด้วยระบบ PEGI

 

ในระบบพ่อแม่ดูแลกันเอง มีระบบ KID'S SCORE  ที่พ่อแม่จะเข้าไปใน http://www.mediafamily.org/kidscore/index.shtml ช่วยกันให้คะแนนเพื่อจัดกลุ่มเกมทั้งหลายตามอายุ และความรุนแรงแบบต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

1. ใช้สี 3 สีเป็นเกณฑ์การพิจารณาคือ สีเขียว แปลว่าปลอดภัย เล่นได้ สีเหลือง แปลว่าระวัง อาจมีอันตราย สีแดง แปลว่าหยุด มีอันตราย

2. แบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่มอายุคือ 3-7 ขวบ 8-12 ขวบ และ 13-17 ปี และจะถูกพิจารณาว่าเกมนั้นจะเหมาะสมกับเด็กกลุ่มอายุใดบ้าง โดยจะใช้สี 3 สีในข้อ 1. เป็นตัวบอก

3. พิจารณาความรุนแรงที่จะเกิดกับเด็ก 6 ด้าน คือ (1) พฤติกรรมความรุนแรงในการทำร้ายร่างกายไม่ว่าจะเป็นการชกต่อย ฟัน ยิง (2) ความกลัวที่จะเกิดกับเด็กในการเล่น (3) การกระทำผิดกฎหมายทั้งหลาย เช่น การขโมยของ การทำลายข้าวของ (4) การใช้ภาษาหยาบคายหรือภาษาสแลง (5) การแต่งตัวยั่วยวน แต่งตัวโป๊ และ (6) การแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม โดยในแต่ละด้าน จะใช้สี 3 สีตามข้อ 1. เป็นตัวบ่งบอกความรุนแรงในแต่ละด้าน

ยกตัวอย่าง เกม XYZ ถูกจัดเรตติ้งไว้ดังนี้

    

หมายถึง เกมนี้มีภาพที่แสดงออกหรือการเล่นที่กระตุ้นเด็กในด้านความรุนแรง ทั้งจำนวนภาพหรือการกระตุ้นที่มากเกินไปและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีภาพเหล่านั้น นอกจากนี้เกมยังอาจจะทำให้เกิดความกลัว การใช้ภาษา และการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นเกมนี้จึงไม่เหมาะกับเด็กทุกวัย

 

    

ตัวอย่างเกม empire earth เป็นเกมที่มีการต่อสู้ ใช้อาวุธหลากชนิด ความรุนแรงจัดอยู่ในขั้นต้องระวัง แต่เป็นเกมที่มีประโยชน์ด้วยคือ ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์โดยมีการใช้เงินซื้ออาวุธ และการวางแผนการรบ สรุปแล้วเกมนี้เหมาะกับเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบขึ้นไป

 

    

ตัวอย่างเกมยอดฮิตอีกเกมคือฮาเวสมูน เป็นเกมที่ทำให้เด็กเรียนรู้รอบด้าน ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน ชีวิตเกษตรกร รวมทั้งการใช้เงิน เกมนี้ตามเรตติ้งก็เหมาะสำหรับเด็กอายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป  
บ้านเราหลายหน่วยงานก็กำลังเร่งมือเรื่องนี้อยู่ คงต้องช่วยกันเรียกร้อง เร่งรัดให้เป็นจริงกันหน่อย เพราะลำพังพ่อแม่อย่างเราคงไม่มีปัญญาสกัดกั้นอันตรายเหล่านี้ได้เองทั้งหมดเป็นแน่

เด็กติดเกม (game addiction)

ข่าวเกี่ยวกับเกม เมื่อโผล่บนหน้าหนังสือพิมพ์ครั้งใด มักจะกลายเป็นข่าวช็อกสังคมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้องกอล์ฟ (12 ขวบ) ที่ติดเกมจนไม่ยอมกลับมานอนบ้าน หรือล่าสุดตระเวนเล่นเกมไปทั่ว (คงกลัวคุณแม่หาเจอ) กระทั่งหายแล้วหายลับไปเลย

กรณีของน้องณัน (10 ขวบ) ที่ติดเกมจนงอมแงม จนอยู่ไม่ติดบ้านและคุณแม่ก็หมดกำลังจะแก้ไข สุดท้ายจึงต้องงัดมาตรการโหด โดยจับลูกชายล่ามโซ่ (ยังดีที่เป็นแค่โซ่เส้นเล็กๆ) เพื่อกันไม่ให้ก้าวออกนอกบ้านไปเล่นเกม!...

ลักษณะอย่างไรจึงเข้าข่ายเป็น "เด็กติด (คลั่ง) เกม"? เล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมง ในแต่ละครั้ง  เล่นเกมจนไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ไม่ยอมเรียน (มักชอบโดดเรียน) เล่นเกมจนผลการเรียนตกต่ำ เล่นเกมจนไม่มีเงิน หรือเล่นจนต้องขโมยเงินขโมยของ โกหกเพื่อที่จะได้เล่นเกม กระสับกระส่าย หงุดหงิดงุ่นง่าน หรือถึงขั้นอาละวาดหากไม่ได้เล่นเกม ดังนั้น...ก่อนจะสายเกินไป เราจึงควรแสวงหาวิธี "ป้องกันไว้ก่อน" ดังเช่นข้อแนะนำต่อไปนี้..

1. ชวนลูกคุยเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องเกม โดยอาจจะยกข่าวเกี่ยวกับภัยของเกม หรือให้ข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วให้ลูกแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ (โดยเราอย่าจ้องแต่จะขัดคอ หรือตำหนิ) จากนั้นก็ร่วมกันหาข้อตกลง เช่น ควรเล่นเกมได้สัปดาห์ละกี่วัน? วันละกี่ชั่วโมง? รวมทั้งช่วยกันเลือกเกมที่สร้างสรรค์ และเหมาะสมกับวัยของลูก

2. ควรวางเครื่องคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในที่ๆ พ่อแม่สอดส่องถึง เช่น ห้องรับแขก หรือห้องโถง และไม่ควรไว้ในห้องนอนหรือห้องส่วนตัวของลูก

3. ในหลายๆ กรณีของเด็กติดเกมนั้น เริ่มต้นจากการที่พ่อแม่ไม่เอาใจใส่มาตั้งแต่ต้น ด้วยอาจเห็นว่าเกมทำให้ลูกอยู่ติดบ้าน หรือลูกนั่งแต่หน้าคอมฯ ก็ดีจะได้ไม่ทำตัววุ่นวายรบกวนพ่อแม่  แต่ครั้นปล่อยไประยะหนึ่งจึงได้รู้ว่าลูกรักโดน "ภัย" จากเกมเล่นงานจนงอมแงมซะแล้ว!  

ดังนั้น จึงควรหากิจกรรมสร้างสรรค์ดีๆ มาทดแทน หรือลดเวลาในการเล่นเกมของลูก ยิ่งลูกอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น และมีพลังเหลือเฟือ ยิ่งควรคิดถึงในเรื่องนี้ให้มาก

วิดีโอเกม เกมคอมฯ เกมบอย เกมทั้งหลายไม่ได้มีแต่โทษ เลือกเกมดีก็มีประโยชน์
ทางการแพทย์ได้ทดลองเอาเกมมาลดอาการเจ็บปวดของเด็ก ปรากฏว่าได้ผลดีทีเดียว ได้มีการทดลองใช้ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งก็สามารถลดอาการอาเจียน ลดความกลัวลงได้เช่นเดียวกัน

ในทางตรงข้ามกับการเกิดอาร์เอสไอ เกมสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยหลังการบาดเจ็บที่มือและอยู่ระหว่างการฟื้นสภาพ ต้องการการออกกำลังกายนิ้ว มือและแขน ก็สามารถนำเอาการเล่นเกมต่างๆ มาใช้ในการออกกกำลังกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือถูกไฟไหม้ที่มือซึ่งจะเกิดการยึดติดของนิ้วได้ง่าย เช่นเดียวกับในเด็กที่มีความพิการของมือ อาจนำมาใช้ในการออกกำลังกายได้เช่นกัน

ของทุกอย่างก็แบบนี้  มีทั้งดีและโทษ ต้องเลือกใช้อย่างฉลาด อย่าตกเป็นเหยื่อวัตถุนิยม 

ข้อมูลสื่อ

372-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553
ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์