• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะน้ำตาล (ในเลือด) ต่ำ

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๗๓

ศูนย์รับแจ้งเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน (โทร.๑๖๖๙) ได้รับแจ้งว่ามีหญิงชราอายุ ๖๗ ปีนอนหมดสติอยู่ที่บ้านโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังหายใจอยู่ จึงส่งรถพยาบาลฉุกเฉินไปยังบ้านที่เกิดเหตุ

เมื่อไปถึง พยาบาลและเวชกรฉุกเฉิน (เวชกรฉุกเฉิน คือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมในการกู้ชีพและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อช่วยแพทย์และ/หรือพยาบาลในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน) ได้ตรวจพบว่า

หญิงชราคนนั้นไม่รู้สึกตัวเลย หยิกที่แขน แขนก็ไม่ขยับหนี และไม่มีปฏิกิริยาแสดงอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ตัวเย็นและเหงื่อแตก (เหงื่อชุ่ม) ทั้งตัว ชีพจร ๙๐ ครั้ง/นาที หายใจ ๒๐ ครั้ง/นาที ความดันเลือด ๑๗๐/๘๐

จึงรีบเจาะเลือดปลายนิ้ว เพื่อตรวจดูน้ำตาลในเลือด พบว่าน้ำตาลในเลือดประมาณ ๓๐ (ค่าปกติอยู่ระหว่าง ๘๐-๑๑๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ mg/dl) แสดงว่าผู้ป่วยน่าจะหมดสติจากภาวะน้ำตาลต่ำ (ในเลือด)

จึงรีบฉีดกลูโคส ๕๐% ปริมาณ ๕๐ ซีซี (มิลลิลิตร) เข้าเส้น (เข้าไปในกระแสเลือดทางหลอดเลือดดำ) หลังจากนั้นไม่กี่นาทีผู้ป่วยก็ฟื้นคืนสติ และจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

เมื่อซักประวัติจากญาติ จึงทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมาประมาณ ๒๐ ปี กินยารักษาเบาหวานมาโดยตลอด ผู้ป่วยควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวได้ดี น้ำตาลในเลือดก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด และไม่เคยหมดสติมาก่อนเลย

วันก่อนเกิดอาการ ผู้ป่วยยังคงกินยาและอาหารได้ตามปกติ แต่ลูกหลานพาไปกินอาหารนอกบ้านเพื่อฉลองวันเกิดลูกคนหนึ่ง วันนี้ (วันที่เกิดเหตุ) ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้และท้องเดินตั้งแต่เช้า แต่ยังคงกินยาเบาหวานตามปกติ (ตามที่หมอสั่งไว้ตั้งแต่เดือนก่อน) ตอนเย็นผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย จึงนอนพักและหลับไป

ประมาณ ๑ ทุ่ม ลูกๆ เห็นว่าผู้ป่วยยังไม่ลงมากินข้าวเย็น จึงขึ้นไปเรียก เห็นว่าผู้ป่วยกำลังหลับอยู่ก็เลยไม่อยากปลุก เพราะคิดว่าผู้ป่วยคงอ่อนเพลียจากท้องเสีย จึงปล่อยให้หลับต่อ
ประมาณ ๒-๓ ทุ่ม ผู้ป่วยก็ยังไม่ตื่น ลูกจึงเข้าไปปลุกให้ลุกขึ้นมากินข้าว แต่ปรากฏว่าปลุกไม่ตื่น จึงรีบโทร.เรียก ๑๖๖๙ และได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้น

"ภาวะน้ำตาลต่ำ (ในเลือด) (hypoglycemia) เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อย และไม่น่าจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะเป็นภาวะที่ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้
เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วไป น้ำตาลในเลือดจะสูงกว่าปกติ ดังนั้นการที่น้ำตาลในเลือดต่ำ แสดงว่าเกิดจากฤทธิ์ของยาเบาหวานไม่ว่าจะแบบกินหรือแบบฉีด (แบบฉีด คืออินซูลิน แบบกินมีหลายชนิด)

ผู้ป่วยรายนี้เกิด "ภาวะน้ำตาลต่ำ" จากฤทธิ์ของยาเบาหวานที่ผู้ป่วยกินอยู่ตามปกติ ซึ่งถ้าผู้ป่วยกินอาหารตามปกติก็จะไม่เกิด "ภาวะน้ำตาลต่ำ" แต่บังเอิญผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้และท้องเดินจาก "ภาวะอาหารเป็นพิษ" (food poisoning) ที่ผู้ป่วยไปกินอาหารนอกบ้านเมื่อวันก่อนวันเกิดเหตุ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กินอาหารตามปกติในวันเกิดเหตุ  ยาเบาหวานที่แพทย์สั่งไว้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในภาวะที่กินอาหารตามปกติ จึงมากเกินไปสำหรับกรณีที่กินอาหารน้อยลงหรือไม่ได้กินอาหาร จึงเกิด "ภาวะน้ำตาลต่ำ"

โดยทั่วไป เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำลง จะทำให้เราเกิดอาการหิว ซึ่งจะทำให้เราหาอะไรกินเพื่อให้หายหิว และทำให้น้ำตาลในเลือดกลับเป็นปกติ แต่ในผู้ป่วยรายนี้ "ภาวะอาหารเป็นพิษ" ทำให้ผู้ป่วยไม่หิว แถมยังรู้สึกเบื่ออาหารและคลื่นไส้ จึงไม่ได้กินอะไรเข้าไปเพื่อให้หายหิว
ดังนั้น น้ำตาลในเลือดก็จะต่ำลงไปเรื่อยๆ จากการที่ไม่ได้กินอาหาร (น้ำตาล) เข้าไปแก้ไข ผู้ป่วยจึงอ่อนเพลีย ซึมลง และหมดสติ อาจจะมีอาการชักร่วมด้วยก็ได้ และในที่สุดจะเสียชีวิต
โชคดีที่พยาบาลและเวชกรฉุกเฉินไปพบผู้ป่วยรายนี้ และสงสัยทันทีว่าน่าจะมี "ภาวะน้ำตาลต่ำ" เพราะตรวจพบอาการตัวเย็นและเหงื่อชุ่มตัว จึงรีบตรวจเลือด และฉีดกลูโคส ๕๐% เข้าหลอดเลือดให้

อันที่จริง ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้ยาเบาหวานอยู่ แล้วเกิดอาการอ่อนเพลียหรือซึมลง ถ้าไม่มีเครื่องมือตรวจน้ำตาลในเลือด ก็ควรจะลองให้กินน้ำหวาน/น้ำผึ้งดู ถ้าอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจน อาการอ่อนเพลียและซึมลง (ดังที่ผู้ป่วยรายนี้เป็นก่อนอาหารเย็น) ก็น่าจะเกิดจาก "ภาวะน้ำตาลต่ำ"  (ไม่ได้เกิดจากอาการท้องเสีย ดังที่ลูกๆ ของผู้ป่วยรายนี้เข้าใจในตอนแรก จึงไม่ได้ปลุกผู้ป่วยขึ้นมากินอาหาร)

เมื่อผู้ป่วยเบาหวานที่ได้ยาเบาหวานอยู่ เกิดอาการหมดสติ และไม่มีเครื่องมือตรวจ หรือเครื่องมือบังเอิญเสีย แพทย์/พยาบาลก็ควรจะลองฉีดกลูโคส ๕๐% ปริมาณ ๕๐ ซีซีเข้าเส้น ถ้าผู้ป่วยฟื้นคืนสติอย่างรวดเร็ว ก็จะวินิจฉัยได้ว่าอาการหมดสตินั้นเกิดจาก "ภาวะน้ำตาลต่ำ" ไม่ได้เกิดจากโรคลมปัจจุบัน (หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน) หรือโรคอื่นๆ

"ภาวะน้ำตาลต่ำ" จึงเป็นภาวะที่วินิจฉัยได้ง่ายโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้ยาเบาหวานอยู่ แต่ในโรคอื่นๆ ที่ผู้ป่วยไม่ได้กินหรือฉีดยาเบาหวาน เช่น ผู้ป่วยโรคตับ/ขาดอาหาร/มะเร็ง หรืออื่นๆ อาจจะวินิจฉัยได้ยาก เพราะแพทย์/พยาบาลอาจไม่ได้นึกถึง "ภาวะน้ำตาลต่ำ"

ดังนั้น โดยทั่วไป ในผู้ป่วยที่หมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติที่จะทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้ จะต้องนึกถึง "ภาวะน้ำตาลต่ำ" ไว้ก่อนเสมอ เพราะรักษาได้ง่ายและการรักษาก็ไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร (คือการให้กลูโคส) และจะทำให้วินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการตอบสนองต่อการรักษาอย่างรวดเร็ว (therapeutic diagnosis) ด้วย

แม้ว่า "ภาวะน้ำตาลต่ำ" จะวินิจฉัยได้ไม่ยาก และรักษาได้ง่ายมาก แต่ที่สำคัญคือ จะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิด "ภาวะน้ำตาลต่ำ" โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่พบภาวะนี้บ่อยที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยาเบาหวานอยู่

เพราะ "ภาวะน้ำตาลต่ำ" เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อย และคงจะมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปโดยไม่ได้ไปหรือไปไม่ถึงแพทย์/พยาบาล และถูกลงความเห็นไปว่า ตายเพราะหัวใจวาย/หนาวตาย (ในช่วงที่อากาศหนาว) หรืออื่นๆ

การป้องกันไม่ให้เกิด "ภาวะน้ำตาลต่ำ" ในผู้ป่วยเบาหวานไม่ใช่เรื่องยาก เพราะต้องการเพียงคำแนะนำ (คำสั่งสอน) จากแพทย์/พยาบาลที่ให้/สั่งยาเบาหวานแก่ผู้ป่วย เช่น แนะนำผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยว่า เมื่อใช้ยาเบาหวานแล้ว ผู้ป่วยต้องกินอาหารให้คงที่ทั้งในด้านจำนวนมื้อและปริมาณอาหารในแต่ละมื้อทุกๆ วัน ยาเบาหวานที่แพทย์สั่งให้จึงจะสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

ถ้าวันไหนรู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเดิน ก็ควรงดยาเบาหวานไว้ก่อน (ยกเว้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดรุนแรงที่ต้องฉีดยาอินซูลินวันละหลายครั้ง ก็ควรจะปรับขนาดอินซูลินตามระดับน้ำตาลในเลือดเป็นครั้งๆ ไป) จะปลอดภัยกว่า เพราะน้ำตาลในเลือดสูง มีอันตรายน้อยกว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงวัยที่ "เลือกกิน"  (ถ้าอาหารไม่ถูกปากก็ไม่กิน)  แพทย์/พยาบาลอาจต้องสั่งให้กินหรือฉีดยาเบาหวานหลังอาหาร (ตามทฤษฎี ยาเบาหวานส่วนใหญ่จะให้กินหรือฉีดก่อนอาหาร เพื่อจะให้เวลายาได้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาจะได้ไปควบคุมระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นได้พอดี)

ถ้าผู้ป่วยไม่กินอาหารหรือกินได้น้อยมาก ให้งดหรือลดยาลง (ถ้าผู้ป่วยหรือญาติสามารถตรวจน้ำตาลในเลือดเองได้ที่บ้าน ก็จะคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น)

เมื่อใดที่ผู้ป่วยมีอาการหิว จนใจสั่น มือเท้าเย็น เหงื่อแตก อ่อนเพลีย และ/หรือซึมลงโดยไม่รู้สาเหตุ ต้องรีบให้กินน้ำหวาน/น้ำผึ้งทันที ถ้าอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้สงสัยว่าเกิดจาก "ภาวะน้ำตาลต่ำ" ควรจะลดยาเบาหวานลง หรือไปพบแพทย์เพื่อปรับขนาดยาให้พอดี
อย่ากินยาเท่าเดิม (ในขนาดเดิม) ต่อไป เพราะถ้าเกิด "ภาวะน้ำตาลต่ำ" ก็จะหลับไปเลยโดยไม่ตื่นขึ้นมาอีกได้ง่ายมาก เพราะลูกหลานหรือผู้ดูแลต่างก็นอนหลับเช่นเดียวกัน หรือคิดว่าผู้ป่วยหลับอย่างสบาย  ก็ไม่กล้าไปเรียกหรือไปปลุก พอตื่นเช้าขึ้นมา ไปดูอีกทีผู้ป่วยก็จากไปแล้ว

แม้การป้องกัน "ภาวะน้ำตาลต่ำ" จะทำได้ไม่ยาก แต่แพทย์และพยาบาลต้องไม่ลืมแนะนำ (สอน) ผู้ป่วยและญาติจนผู้ป่วยและญาติเข้าใจและซึมซับในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ซึ่งบางทีหรือหลายๆ ทีต้องพูดแนะนำครั้งแล้วครั้งเล่า (ซ้ำๆ ซากๆ) มิฉะนั้นผู้ป่วยและญาติอาจจะลืมเลือนไปได้

แม้การรักษา "ภาวะน้ำตาลต่ำ" จะรักษาได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดจากการใช้ยาเบาหวาน แต่แพทย์และพยาบาลเมื่อให้กลูโคสจนผู้ป่วยดีขึ้นและหายจาก "ภาวะน้ำตาลต่ำ" ก็มักจะลืมแนะนำผู้ป่วยและญาติในเรื่องการป้องกัน ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิด "ภาวะน้ำตาลต่ำ" ซ้ำซาก เพราะกินยาเบาหวานก่อนอาหารตามแพทย์สั่ง แล้วลืมหรือไม่อยากกินอาหารตามปกตินั่นเอง
"หมอฉุกเฉิน" และ "พยาบาลฉุกเฉิน" ที่รักษาผู้ป่วยจนหายภาวะฉุกเฉินซ้ำซาก และ "หมอเจ้าของไข้" ก็ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกัน

ข้อมูลสื่อ

371-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์