• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปรับสภาพกลไกกาย-จิตสัมพันธ์ความสำคัญของปราณายามะ

กวี คงภักดีพงษ์  สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

บทที่ 3  การปรับสภาพกลไกกาย- จิตสัมพันธ์ความสำคัญของ ปราณายามะ

ปราณายามะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในโยคะ สำคัญขนาดตำราโบราณหลายๆ เล่ม ระบุว่า ไม่มีการฝึกใดจะสำคัญไปกว่าปราณายามะ โดยเฉพาะในแง่ของการชำระล้างกาย-ใจให้บริสุทธิ์ ยกตัวอย่างจากตำราหฐประทีปิกะบทที่ 3 ประโยคที่ 37 "ปราณายามะโดยตัวมันเอง เพียงพอต่อการชำระ มาละ หรือสิ่งสกปรกทั้งหลาย"  อันเป็นประโยคที่ตำราเล่มหลังๆ ใช้อ้างอิงเวลากล่าวถึงเทคนิคโยคะอื่นๆ ว่าไม่มีความจำเป็น

หากเราพิจารณาถึงประโยชน์ของโยคะในแง่มุม การตอบสนองของตัวรับรู้ภายใน interoceptive-tonic    reaction ซึ่งได้กล่าวมาตั้งแต่บทก่อนๆ จะเห็นได้ว่า ระบบหายใจ โดยเฉพาะผนังของถุงลมครอบคลุมพื้นที่ "ตัวรับรู้ภายใน" ที่กว้างที่สุด เมื่อรวมกับหลอดลมเล็ก หลอดลมใหญ่ หลอดคอ และจมูก ก็ยิ่งเป็นพื้นที่จำนวนมาก อันเป็นที่อยู่ของ postural substrate สารเหลวที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลของกลไกโดยรวม homeostasis  และยิ่งเมื่อเราเข้าใจว่าในกลไกของระบบหายใจนั้น การตอบสนองของตัวรับรู้ภายในจะสัมพันธ์กับการรักษาระดับของสารเหลวที่ทำหน้าที่รักษาสมดุล เราก็ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกลมหายใจต่อการรักษาสมดุลของมนุษย์ 

สัญญาณประสาทของระบบหายใจเชื่อมโยงกับการทำงานของระบบประสาทขั้นสูงด้วย เป็นที่รับรู้และยอมรับว่า ศูนย์ควบคุมการหายใจไม่ได้อยู่ที่เมดูลา   medulla และพอนส์ (pons) เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ส่วนบนด้วย สูงกว่าระดับของไฮโพทาลามัส บริเวณ medial, basal cortical และ sub cortical  ดังนั้น แม้พิจารณาทางด้านประสาทวิทยา เราก็สามารถคาดหวังความเป็นไปได้ที่ ปราณายามะจะช่วยผสานการทำงานของประสาทส่วนล่าง (ประสาทอัตโนมัติ) กับประสาทส่วนบน cerebro-spinal impulses หรือที่เรียกว่า กลไกประสาทสั่งการกับกลไกประสาทอัตโนมัติ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในโลกของสัตว์ พฤติกรรมที่แตกต่างกันของสัตว์แต่ละกลุ่ม พอจะแยกแยะได้คร่าวๆ ตามรูปแบบการหายใจของสัตว์ในกลุ่มนั้นๆ  ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการหายใจกับพฤติกรรม กำลังได้รับการศึกษามากขึ้นๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งการหายใจกับการทำงานของสมอง การหายใจกับอารมณ์ การหายใจกับพฤติกรรมการแสดงออกที่เฉพาะเจาะจงบางชนิด ความเชื่อมโยงนี้ พอจะอธิบายถึงสภาวะทางกายภาพ เช่น อาการหืดหอบ วัณโรคในปอด ที่สัมพันธ์กับความขัดแย้งทางบุคลิก ซึ่งเริ่มเป็นที่ยอมรับว่าความขัดแย้งเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรค (Brown Lawson, The Mental Aspect in the Etiology and Treatment of Pulmonary    Tuberculosis)

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่งานวิจัยเหล่านี้ แม้ศึกษาทดลองสภาพจิตใจที่มีผลต่อระบบหายใจ แต่ไม่ได้ ศึกษาในทางกลับกัน คือสภาวะของปราณายามะ ที่ไปมีผลต่อการจัดปรับทางด้านจิตใจ งานศึกษาของโลกตะวันตกทางด้านการหายใจที่มีผลต่อจิตใจนั้นทำเพียงเล็กน้อย และทำเฉพาะกับ "การหายใจอย่างลึก" เท่านั้น ทั้งการศึกษาก็ไม่ได้เจาะลงไปยังกลไกการตอบสนองของตัวรับรู้ภายใน ยกเว้นงานของดอกเตอร์บาราคที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าแล้ว

ปราณายามะนั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากการฝึกหายใจอย่างลึก ทั้งให้ผลอย่างลึกซึ้ง แต่มิได้เป็นที่ตระหนัก และสนใจจะศึกษาในโลกตะวันตก มีเพียงสถาบันไกวัลยธรรม เมืองโลนาฟลา ประเทศอินเดีย ที่พยายามศึกษาปราณายามะอย่างจริงจัง  อย่างไรก็ตาม ไกวัลยธรรมได้แต่ศึกษาทางด้านชีวเคมี และพิสูจน์ให้เห็นว่า ปราณายามะนั้นแตกต่างจากการหายใจอย่างลึก ให้ผลที่ลึกซึ้งกว่ามาก แต่คุณประโยชน์ของปราณายามะ ทางด้านพฤติกรรมมนุษย์ ทั้งพฤติกรรมภายในและภายนอกยังคงต้องได้รับการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ต่อไป

โยคีโบราณได้ระบุสรรพคุณของปราณายามะไว้ลึกซึ้งยิ่ง ปราณายามะไม่เพียงทำความสะอาดช่องนาดี (ช่องทางจำนวนมากในร่างกายที่คนอินเดียโบราณเชื่อว่าเป็นทางเดินของพลังปราณภายใน) หรือที่เรียกว่า   "นาดีสุทธิ" เท่านั้น ปราณายามะยังเอื้อต่อการรับ-ส่งสัญญาณประสาทต่างๆ ระหว่างส่วนต่างๆ ของร่างกายไปยังสมอง ผลก็คือ จิตที่สงบ มั่นคง ด้วยการฝึกปราณายามะอย่างเหมาะสม ถูกหลัก ช่องทางเดินต่างๆ สะอาดบริสุทธิ์ รวมทั้งช่องทางหลัก "สุชุมนา" ผลก็คือ กลไกประสาทจะทำงานผสานอย่างเป็นองค์รวม สัญญาณทั้งหลายวิ่งผ่านช่องทางหลักได้อย่างคล่องตัว นำมาซึ่งความตื่นรู้ สมดุลของจิตใจ (HYP 2.41-2.42 หฐประทีปิกะบทที่ 2 ประโยคที่ 41-42)

โยคีโบราณกล่าวว่า โดยปกติสัญญาณจะเดินทาง ไปตามช่องทางด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นสาเหตุให้จิตกระเพื่อมไหวตลอดเวลา ปราณายามะ โดยเฉพาะอย่าง ยิ่ง บาสตริกะซึ่งประกอบด้วยปราณายามะหลายๆ ชนิดรวมกัน ช่วยชำระช่องทางหลักตรงกลาง (บริเวณแนวกระดูกสันหลัง) ให้บริสุทธิ์ โดยการล้างสิ่งอุดตัน (กาฝะ) ออกเสีย นอกจากนั้น ปราณายามะช่วยกำกับให้สัญญาณ ต่างๆ ไหลผ่านโดยตรงที่ช่องกลาง นำมาซึ่งความสงบของจิต ทำให้เราควบคุมพลังของจิตได้ง่ายขึ้น ยกระดับ จิตขึ้นสู่สภาวะที่สูงขึ้น (HYP 2.65-2.66)

ดอกเตอร์เฮลท์และทีม คณะจิตและประสาทวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยตูเลนได้ศึกษาปัญหาโรคเก็บตัว schizophrenia โดยตั้งสมมุติฐานว่า สมองมีอยู่ 2 วงจร 1) วงจรที่เชื่อมผ่านระหว่างพื้นที่ทั้ง 2 ด้าน และ 2 วงจร) วงจรทางด้านข้าง ซึ่งตีพิมพ์ในงาน "Studies in Schizophrenia: a Multi-disciplinary Approach to Mind Brain relationship" เป็นการทดลองกับมนุษย์ด้วยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปทางวงจรด้านข้าง ทำให้คนไข้โรคเก็บตัว พูดความในใจออกมาได้ การทดลองนี้ค่อนข้างหยาบ และไม่เป็นที่พอใจของผู้ทำการทดลองนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นการยืนยันเรื่องที่สมองมี 2 วงจร

โยคีโบราณกล่าวถึงวงจรสมองไว้ 2 ส่วนคือ วงจรส่วนกลาง (Madhya patha) และวงจรส่วนบน (urdhva patha) โดยอธิบายว่าสภาวะแห่งสมาธินั้น เกิดขึ้นเมื่อ วงจรส่วนบนทำงาน ซึ่งเป็นการยากที่จะเปรียบเทียบคำอธิบายของโยคีโบราณกับความรู้ความเข้าใจทางด้าน ประสาทวิทยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งโยคีโบราณยังกล่าวว่า การทำงานของวงจรสมองนี้ ทำให้ผู้ฝึกหยุดหายใจ

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ การกล่าวว่าปราณายามะช่วยกระตุ้นการทำงานของวงจรสมองส่วนบน นำพาผู้ฝึกเข้า สู่สมาธิจึงพอฟังได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทำการศึกษาทางด้านประสาทวิทยาอีกมาก เพื่อทำความเข้าใจ คำอธิบายของโยคีโบราณ

ปตัญชลีกล่าวว่าคุณประโยชน์ของปราณายามะสามารถทำลายอวิชชาที่เคลือบจิต นำเราออกจากความมืดมิด ไปสู่การหยั่งรู้ตนเอง เมื่อพิจารณาจากประสาทวิทยา ส่วนที่ทำหน้าที่หยุดลมหายใจตั้งอยู่ใกล้กับยอดของ temporal lobe ศูนย์นี้รับผิดชอบต่อสภาวะทางประสาทหลายอย่าง หากพิจารณาในแง่มุมของโยคะ สภาวะแห่งการหยุดลมหายใจหรือเควาลากุมภกะอาจขึ้นกับสมองส่วนนี้  และบริเวณนี้เช่นกัน ที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ "อัตตา" บางทีเพราะความใกล้กันมากของศูนย์ที่ควบคุมการหยุดหายใจกับศูนย์ที่ทำให้เรารับรู้อัตตาตนเอง ทำให้ปราณายามะเป็นเทคนิคสำคัญยิ่งสำหรับโยคี เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมลมหายใจจนหยุดก็คือการควบคุมอัตตาของตน  อัตตาที่ถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ของความแบ่งแยกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความคิดและพฤติกรรมของเรา 

ข้อมูลสื่อ

341-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 341
สิงหาคม 2550
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์