• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปรียบเทียบการรักษาทางคลินิกแพทย์แผนจีน-แผนตะวันตก ตอนที่ ๒๐โรคอัมพาตใบหน้าทัศนะแผนปัจจุบัน (๑)

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายการโทรทัศน์สัมภาษณ์ดารานักแสดงที่เป็นอัมพาตบริเวณใบหน้า มีอาการปิดตาไม่สนิทและปากเบี้ยว เวลากินอาหารแล้วมีน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างเดียวกับตาที่ปิดไม่สนิท

โรคนี้รู้จักกันมากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว โดย นายแพทย์ชาร์ล เบลล์ (Charles Bell) นักกายวิภาคศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้รวบรวมผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้น ในปี
พ.ศ.๒๓๖๔ จึงให้เกียรติเรียก อัมพาตใบหน้าประเภทนี้ว่า อัมพาตของเบลล์ หรือ Bell's palsy
 

โรคอัมพาตใบหน้าในทัศนะแผนปัจจุบัน
♦ สาเหตุของการเกิดโรค
เกิดจากเส้นประสาทคู่ที่ ๗ (Facial nerve) ที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้าไม่ทำงานชั่วคราว ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าครึ่งซีกขยับเขยื้อนไม่ได้ เป็นอัมพาต

การอักเสบเกิดจากการบวมของเส้นประสาททำให้เบียดกับรูที่ประสาทออกมาเลี้ยงบริเวณใบหน้าหรือเกิดจากอาหารมาหล่อเลี้ยงประสาทคู่นี้ลดลงเกิดการเกร็งตัวของหลอดเลือด การขาดเลือดและอาหารจะทำให้เกิดการอักเสบบวมของเส้นประสาท
เป็นโรคที่เกิดกับเส้นประสาทคู่ที่ ๗ ล้วนๆ และมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าอย่างเฉียบพลัน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทคู่ที่ ๗ ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะเชื้อเริม งูสวัด หรืออีสุกอีใส

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นหรือปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น บางคนมีอาการเกิดขึ้นหลังตากลมและกระทบความเย็น

บางรายเคยได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดบริเวณใบหน้ามาก่อน การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดทางอารมณ์ ผู้ป่วยเบาหวานหรือมีความดันโลหิตสูง มีการอักเสบบริเวณใบหู มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ง่าย

 

♦ การรักษาแบบแผนปัจจุบัน
เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน บางคนพอตื่นนอนมาก็รู้สึก หรือสังเกตเห็นปากเบี้ยวไปข้างหน้า เวลากลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำไหลที่มุมปาก เวลายิงฟันหรือยิ้ม จะเห็นมุมปากข้างนั้นตก ตาข้างเดียวกันจะปิดไม่สนิท ยักคิ้วไม่ขึ้น ลิ้นข้างเดียวกันจะชาและรับรสไม่ได้ บางรายอาจมีอาการปวดหูและหูอื้อ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดี แขนขามีแรงดี ทำงานได้ปกติ

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดใบหน้าหรือปวดหลังหูข้างที่เป็นอัมพาตนำมาก่อนประมาณ ๒-๓ วัน

เมื่อไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน ยาหลักที่ใช้รักษาและต้องให้ในเวลาอันรวดเร็วคือ ยาสตีรอยด์ ยาเม็ดชื่อเพร็ดนิโซโลนในขนาดที่สูง การให้ยานี้ในช่วงระยะเวลา ๔ วันแรก เชื่อว่าจะทำให้อาการอัมพาตหายได้เร็วขึ้น (ช่วง ๓ วันแรกการดำเนินการของโรคจะรวดเร็วมาก) การให้ยาในระยะท้ายๆ หลัง ๔-๗ วันแล้ว อาจได้ผลไม่แน่นอน
 การใช้ยาต้านไวรัสร่วมด้วยยังเป็นความเชื่อทางทฤษฎี เพราะถ้าใช้เพียงตัวเดียวยังไม่ได้ผลชัดเจน เมื่อเทียบกับการใช้ยาสตีรอยด์

 

♦ การดำเนินของโรค
โรคอัมพาตใบหน้า ร้อยละ ๘๐-๘๕ อาการดีขึ้นใน ๑-๓ สัปดาห์ และหายสนิทใน ๓-๖ เดือน โรคนี้แม้ว่าจะไม่รักษาก็สามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ

มีเพียงร้อยละ ๑๕ ที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว บางรายนาน ๒ เดือนถึง ๒ ปี อายุยิ่งมากยิ่งหายช้า

ส่วนใหญ่หายสนิท ส่วนน้อยยังคงร่องรอยปากเบี้ยวให้เห็นอยู่บ้าง บางรายอาจกำเริบซ้ำได้อีก

กล้ามเนื้อตามักฟื้นตัวได้เร็ว เร็วกว่ากล้ามเนื้อมุมปาก ถ้าพบว่า ยักคิ้วและปิดตาได้ดีขึ้น ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี

อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่มีพยากรณ์โรคที่ไม่ดี เช่น
- ผู้ที่มีกล้ามเนื้ออัมพาตรุนแรงไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อได้เลย
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง
- รายที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อใบหน้าร่วมด้วย (ยกเว้นอาการปวดบริเวณหู ซึ่งพบได้บ่อย)

 

♦ ความชุกของการเกิดโรค
 พบในผู้ชายและผู้หญิงพอๆ กัน ประมาณ ๒๕ คนต่อประชากรแสนคน ช่วงอายุที่เป็น ๒๐-๕๐ ปี คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป ๔ เท่า รวมทั้งหญิงระหว่างตั้งครรภ์ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์


อ่านต่อฉบับหน้า ว่าด้วย "โรคอัมพาตใบหน้า" ในทัศนะแพทย์แผนจีน
 

 

ข้อมูลสื่อ

378-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
แพทย์แผนจีน
นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล