• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รางวัลการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (๑)

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ได้มอบรางวัลการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Healthcare Award) ในระดับโรงพยาบาล ๖ แห่ง และระดับหน่วยงานในโรงพยาบาล ๒ แห่ง เพื่อเชิดชูเกียรติและประกาศคุณงามความดี ที่ดูแลคนไข้และประชาชนด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ในงานประชุม HA National Forum ครั้งที่ ๑๑ ระหว่างวันที่ ๙-๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ณ ศูนย์การประชุม Impact เมืองทองธานี นนทบุรี

บทความนี้ขอนำเสนอบางส่วนของผลงานจากคนดี เพื่อเผยแพร่สิ่งที่งดงามในวงการสาธารณสุขไทย 
 

โรงพยาบาลคนจน
ประชาชนในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งมีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานในสวนยางเป็นประชาชนแอบแฝง ถึงจะยากดีมีจน ถึงจะมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิใดๆ เมื่อเกิดบาดเจ็บเป็นไข้ โรงพยาบาลก็ให้การรักษาพยาบาลอย่างเสมอภาค

ด้วยวิสัยทัศน์และกลยุทธ์การนำองค์กรโดยให้ความสำคัญบุคลากร ด้วยหัวใจที่เปิดกว้างของบุคลากรทุกๆ คน ทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานร่วมกันที่ดี ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา  ระหว่างผู้ร่วมงานในหน่วยงานกับต่างหน่วยงาน และระหว่างโรงพยาบาลกับเครือข่าย

การเสริมสร้างพลังจิตวิญญาณ ใช้วิธีการที่เรียบง่ายเป็นธรรมชาติ โดยเน้นการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างเข้าถึงหัวอกหัวใจของคนพูด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากการทำงานในชีวิตจริง

ด้วยความยากจนของประชาชนในพื้นที่  บุคลากรจึงร่วมกันบริจาคเงินวันละ ๑ บาท เพื่อจัดเป็นกองทุนช่วยเหลือคนไข้ แม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน แต่การให้ทานทุกวัน สามารถโน้มน้าวให้เกิดกุศลจิต เป็นสิ่งเตือนสติให้ระลึกรู้ ให้ทำความดีทุกวัน

เมื่อจิตเป็นกุศล เกิดความเมตตาอยากช่วยเหลือคน วิธีคิดในการทำงานของคนเปลี่ยนไป จากภาระหน้าที่ที่แสนหนักและน่าเบื่อหน่าย เป็นการทำงานอย่างมีความหมายและทรงคุณค่า เป็นการทำงานที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ให้ปลอดภัยและมีความสุข
ที่แห่งนี้อยู่ในใจและเป็นที่พึ่งของคนจนเสมอ
 

บ้านนี้มีความรัก
โรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งอยู่ "ปลายด้ามขวาน" ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขตเสี่ยงภัยที่หลายคนไม่อยากไปเยี่ยม แม้การทำงานจะยากลำบาก เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเกิดกับใครเมื่อไร  แม้การดำเนินชีวิตจะอยู่ในกรอบจำกัดเพื่อความปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากงานที่ทุกคนรักและภาคภูมิใจ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นคนหนุ่มไฟแรงมีความคิดว่างานจะสำเร็จได้ เจ้าหน้าที่ต้องมีขวัญและกำลังใจ เจ้าหน้าที่จะมีใจรักงานเมื่อได้รับการดูแลที่ดี
การวางรากฐานการพัฒนาองค์กรจึงเน้นที่การพัฒนาคน การ

ฒนาเริ่มต้นด้วยการให้ความรัก ให้ทำงานอย่างมีความสุข ให้ครอบครัวมีความสุข ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

เมื่อจิตพร้อม การทำงานกับคนไข้และประชาชนจึงเสมือนโปรยด้วยกลีบกุหลาบ ที่ดูแลกันด้วยความรักและเอื้ออาทร เกิดบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข

มีการนำแนวคิดทางมิติจิตใจ ศาสนา วัฒนธรรม ความศรัทธาเชื่อถือ มาเชื่อมโยงกับระบบการทำงานประจำในโรงพยาบาล ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  สร้างระบบการเยียวยากันเองเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น โดยมีชาวบ้านเป็นอาสาสมัครดูแลซึ่งกันและกัน เป็นกระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน

โรงพยาบาลเสมือนบ้านที่พ่อบ้านดูแลลูกบ้านด้วยความรัก  ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ดูแลคนไข้ด้วยความรักต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

 

ศูนย์กลางของชุมชน
ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เป็นวัฒนธรรมของคนในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เป็นเสมือนสายธารที่ใสสะอาดที่หล่อเลี้ยงให้ทุกคนมีความสุข

ในการตรวจรักษาคนไข้ คุณหมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะพูดคุยกับคนไข้ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาด้วยความอ่อนน้อม ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับได้เรียนรู้แบบอย่างความละมุนละไมจากหัวใจ และยึดถือปฏิบัติตามในการทำงานบริการคนไข้ ขยายผลการปฏิบัติต่อผู้ร่วมงาน คนในครอบครัว และการดำเนินชีวิตประจำวัน

ความรักความดีที่มีต่อกัน สร้างพลังให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันทำงาน ร่วมกับพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการปรับสถานที่ทำงาน และปรับเปลี่ยนระบบงานเพื่อให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น

โรงพยาบาลกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการจัดกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากการให้บริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล เช่น การจัดกิจกรรมในวันเกิด เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ปลูกปัญญาและสนุกสนาน

พลังศรัทธาจากชุมชน เป็นพลังขับเคลื่อนให้โรงพยาบาลพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

เหนือกว่าโรงพยาบาล
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแห่งหนึ่ง เป็นสถานที่เยียวยาผู้คนทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งคนที่เจ็บไข้และคนที่มีสุขภาพดี นอกจากนั้นยังเป็นที่เยียวยาสังคม ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการทุพพลภาพ

ผู้บริหารและทีมงานของโรงพยาบาลตั้งปณิธานการทำหน้าที่ในการรับใช้ประชาชนให้มีสุขภาวะที่ดี ส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสานวัฒนธรรมที่ดีงาม เน้นมิติจิตใจในการดูแลคนไข้
มีการจัดโครงสร้างกายภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้การบริการคนไข้ปลอดภัย จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาและการเรียนรู้ ส่งผลให้ผู้รับบริการสัมผัสได้ถึงความห่วงใยของผู้ให้บริการและภูมิใจในความมีคุณค่าของตนเอง
โครงการเพาะพันธุ์ต้นกล้าเป็นแนวคิดเพื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ในโรงพยาบาล ขยายผลไปสู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศิลปะด้านต่างๆ

การเสริมสร้างพลังให้เจ้าหน้าที่ใหม่โดยมอบหมายให้เข้าชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับประชาชน ให้สามารถสร้างทีมสหวิชาชีพ ที่สามารถสืบทอดความต้องการของชุมชนได้ สามารถทำให้การทำงานมีความสุข

ภาพคุณหมอ พยาบาล ที่ขี่จักรยานหยุดเยี่ยมเยียนคนไข้สองข้างทาง ปฏิบัติต่อกันเหมือนเครือญาติ เป็นการเยี่ยมเยียนด้วยหัวใจที่มีคุณค่า สะท้อนถึงความรักผูกพันและห่วงใย
ชาวบ้านอำเภอนี้ที่ออกไปประกอบอาชีพในพื้นที่ห่างไกล เมื่อประสบกับปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ทีมงานของโรงพยาบาลมีข้อมูลเพียงพอที่จะรับทราบปัญหาและจัดทีมเพื่อให้การช่วยเหลือทันท่วงที
คนอำเภอนี้จึงรู้สึกอบอุ่น มีที่พึ่ง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ที่แห่งใดก็ตาม

 

 

ข้อมูลสื่อ

373-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์