• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลดความอ้วน ลดอาหาร เพิ่มออกกำลังกาย

 

สืบเนื่องจากข่าวพาดหัวต่างๆ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายนที่ผ่านมา กรณีที่คาดว่านักเรียนชั้น ม. ๖ เสียชีวิตโดยเกิดภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากการกินยาลดความอ้วน เนื่องจากพบขวดยาลดความอ้วน ๒ ชนิดที่ซื้อทางอินเทอร์เน็ตอยู่ในห้องของผู้ตาย โดยบนฉลากยาแจ้งว่ายามีส่วนประกอบได้แก่ แอล-คาร์นิทีน (l-carnitine) ถั่วขาว และส้มแขก

นอกจากนี้ จากการนำยาไปวิเคราะห์พบว่ายายังมีส่วนประกอบของยาไซบูทรามีน (sibutramine) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
 


แนวทางการรักษาภาวะอ้วน

วิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการประเมินภาวะอ้วนคือการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (body mass index) ซึ่งสามารถคำนวณได้จาก ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กก.) หาร ส่วนสูง (เมตร๒) 
จากค่าดัชนีมวลกายที่คำนวณได้สามารถจำแนกได้ดังนี้
น้อยกว่า ๑๘.๕ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน
ดัชนีมวลกายมีค่า ๑๘.๕-๒๒.๙ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าน้ำหนักตัวปกติ
ดัชนีมวลกายมีค่า ๒๓.๐-๒๔.๙ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าน้ำหนักเกิน
ดัชนีมวลกายมีค่า ๒๕.๐-๒๙.๙ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าอ้วนระดับ ๑
ดัชนีมวลกายมีค่า มากกว่า ๓๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าอ้วนระดับ ๒
การรักษาภาวะอ้วนนั้นโดยทั่วไปจะใช้วิธีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นหลัก สำหรับการใช้ยานั้นจะมีข้อบ่งใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมีค่า ๒๕.๐-๒๙.๙) หรือผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนมากๆ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด

 

 

ยาไซบูทรามีน
การกินยาไซบูทรามีนจะมีผลทำให้มีสารสื่อประสาทไปกระตุ้นสมองมากขึ้น ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่ายาไซบูทรามีนยังมีผลกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายได้ และมีข้อดีเมื่อเทียบกับยาลดความอ้วนตัวอื่นๆ คือมีการเกิดภาวะน้ำหนักเพิ่มหลังหยุดกินยา (yoyo effect) น้อยกว่า

ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๖ ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาไซบูทรามีน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งห้ามใช้ยาไซบูทรามีนในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากการใช้ยาไซบูทรามีนในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก


ผลข้างเคียงที่พบได้ในผู้ที่กินยาไซบูทรามีน ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ การรับรสผิดปกติ ไม่สบายในท้อง ปัสสาวะขัด ปวดศีรษะ ตาพร่า แรงดันในลูกตาสูงขึ้น นอนไม่หลับ สับสน มึนงง และเบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง และยังไม่มีการศึกษาในระยะยาว ถึงผลกระทบต่อระบบประสาทที่อาจเปลี่ยนแปลงเมื่อใช้ยานี้เป็นเวลานาน

ในระหว่างที่ใช้ยาไซบูทรามีนผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นควรมีการตรวจระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจอยู่เสมอ และหากมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้สึกแขนขาชา หรืออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง อารมณ์หรือสติสัมปชัญญะเปลี่ยนแปลง ต้องรีบไปโรงพยาบาลเนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายร้ายแรงจากการใช้ยา รวมทั้งยาไซบูทรามีนยังสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดการชักได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก

 

 

แอล-คาร์นิทีน
เป็นสารที่มีบทบาทในการขนส่งกรดไขมันในร่างกาย ไปเผาผลาญเพื่อให้เกิดเป็นพลังงาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในร่างกายต่อไป รวมทั้งอาจมีผลเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้ จึงมีการนำมาผสมหรือทำเป็นอาหารเสริมเพื่อช่วยในการลดน้ำหนัก นอกจากนี้สารแอล-คาร์นิทีนยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และอาจจะเพิ่มมวลกระดูกได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดที่แสดงให้เห็นว่าการใช้แอล-คาร์นิทีนจะสามารถลดน้ำหนักตัวได้ แต่ยังไม่เคยมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจจากการใช้สารแอล-คาร์นิทีนมาก่อน
 

 

สารสกัดจากถั่วขาว
มีฤทธิ์ในการยับยั้งการย่อยแป้งในทางเดินอาหาร จึงช่วยลดการดูดซึมแป้งเข้าสู่ร่างกายได้ แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน สำหรับอาการข้างเคียงที่มักพบ ได้แก่ ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เป็นต้น แต่ยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน


 

สารสกัดส้มแขก
มีฤทธิ์ในการช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงไขมันในร่างกายไปเป็นพลังงาน และมีฤทธิ์เป็นยาระบาย รวมทั้งการอาจจะมีผลช่วยลดความอยากอาหารได้ แต่ยังคงมีข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และรายงานการเกิดอาการข้างเคียงจำกัดเช่นกัน

จากข้อมูลของยาไซบูทรามีน แอล-คาร์นิทีน สารสกัดถั่วขาว และสารสกัดส้มแขก จะเห็นว่าข้อมูลประสิทธิภาพยังมีอยู่ไม่มากนัก และแม้ว่ายาไซบูทรามีนจะมีข้อมูลและข้อบ่งใช้ในการลดน้ำหนัก รักษาภาวะอ้วน แต่ยาก็อาจมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ และระบบประสาท จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการใช้ยา ดังนั้นในผู้ที่อยากจะลดน้ำหนักตัว หรือผู้ที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในช่วงน้ำหนักเกิน จึงควรใช้วิธีการปรับการดำเนินชีวิตเป็นแนวทางแรกได้แก่

กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่ควรลดปริมาณลง หรือกินอาหารจำพวกต้ม หรือนึ่ง และไม่เติมน้ำตาลหรือซอสต่างๆ เพื่อลดปริมาณพลังงานที่จะได้รับ

เคี้ยวอาหารช้าๆ และให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ระหว่างมื้ออาหาร

► หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ติดมัน หรือหนังสัตว์

► หลีกเลี่ยงการกินอาหารมันๆ ใส่น้ำมันให้น้อยในขณะปรุงอาหาร

► หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวานจัด เนื่องจากจะให้พลังงานสูง

► ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเผาผลาญไขมันที่สะสมในร่างกาย

การควบคุมการกินอาหาร และการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่เหมาะสมในผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือเพื่อลดน้ำหนัก แต่ควรทำความเข้าใจ และหลีกเลี่ยงค่านิยมที่คิดว่าต้องมีน้ำหนักตัวน้อย หรือผอมเท่านั้น จึงจะถือว่าสวย เพราะว่าการที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าที่เราต้องการ ไม่ได้หมายถึงการมีภาวะอ้วนเสมอไป และยังมีปัจจัยอื่นที่ช่วยในการทำให้เราดูดีแทนได้

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

375-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553
ภก.คทา บัณฑิตานุกูล