• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หยุดเพื่อลดปวด

อาการปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากการใช้งานเกินกำลังหรือมีการกดเบียดทำให้กล้ามเนื้อมีอาการบาดเจ็บ

บางกรณีอาการบาดเจ็บมักจะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด จะเป็นการบาดเจ็บที่สะสมทีละน้อยจนมีอาการปวดมากขึ้นจนรบกวนชีวิตประจำวัน เนื่องจากกิจกรรมบางอย่างอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บสะสม ถ้าหยุดกิจกรรมนั้นอาจทำให้อาการปวดที่รบกวนชีวิตประจำวันลดลงได้

ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างผู้ป่วยที่มาพบนักกายภาพบำบัดและได้รับคำแนะนำให้หยุดกิจกรรมที่เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดอาการปวด ทำให้อาการปวดลดลงได้มาก
 

ผู้ป่วยชายอายุ ๓๐ ปี มาพบนักกายภาพบำบัดด้วยอาการปวดชาบริเวณนิ้วชี้และนิ้วโป้งมือซ้าย มักมีอาการตอนเช้า รู้สึกว่านิ้วชี้จะแข็ง งอได้ไม่คล่องในตอนเช้า เมื่อมีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมไปสักพักอาการจะค่อยๆ หายไป

ผู้ป่วยบอกไม่ได้ว่าเริ่มเป็นเมื่อใด รู้สึกว่าอาการมากขึ้น ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยมีความกังวลว่าจะเป็นอัมพาต เพราะพ่อผู้ป่วยเสียชีวิตหลังเป็นอัมพาตอยู่นาน

จากการซักถามเพิ่มเติมทราบว่าอาการชาที่นิ้วชี้มากกว่านิ้วโป้ง บางครั้งมีอาการในตอนกลางวันบ้างพอรำคาญแต่ไม่มากเท่าตอนเช้า บางทีรู้สึกร้าวบริเวณสะบัก แขนด้านนอก วันไหนที่งานมาก เช้าวันรุ่งขึ้นมักมีอาการชาที่นิ้วชี้มากขึ้น นักกายภาพบำบัดทำการตรวจร่างกาย ไม่พบความผิดปกติที่ข้อนิ้วและมือ และไม่พบอาการทางระบบประสาท (อาการชา) ที่มีสาเหตุมาจากการกดเบียดของเส้นประสาทบริเวณคอ

ผู้ป่วยมีอาชีพจัดการนำสินค้าออกจากท่าเรือให้ลูกค้า (ชิปปิ้ง) ตอนเช้าต้องไปติดต่อลูกค้า รวบรวมเอกสารใส่กระเป๋าขี่จักรยานยนต์ไปที่ท่าเรือ ในระหว่างวันผู้ป่วยต้องขี่จักรยานยนต์ไปมาในท่าเรือทั้งวันเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่และลูกค้า

ขณะขี่จักรยานยนต์ผู้ป่วยจะสะพายกระเป๋าเอกสารที่หนักประมาณ ๕-๖ กิโลกรัม ในลักษณะสะพายแล่ง หรือสะพายข้ามตัว (รูปที่ ๑) นักกายภาพบำบัดตรวจร่างกายเพิ่มเติมด้วยการกดไปที่กล้ามเนื้อบริเวณคอด้านหน้าพบว่าสามารถทำให้เกิดอาการชาที่นิ้วชี้ได้อย่างชัดเจน

ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำให้หยุดการสะพายกระเป๋าในลักษณะนี้ ให้นำกระเป๋าไปรัดไว้ที่ที่นั่งแทน และรับการรักษาเพื่อลดอาการปวด ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่คอ ผู้ป่วยมีอาการลดลงในเวลา ๑ สัปดาห์ ไม่มีอาการปวดชาในตอนเช้าอีก เหลือเพียงมีอาการร้าวที่แขนเล็กน้อย
ผู้ที่มีอาการปวดในลักษณะนี้เข้ากันได้กับอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บสะสม (cumulative trauma disorder) ที่เกิดจากการบาดเจ็บทีละเล็กละน้อย มักไม่ทราบว่าเริ่มมีอาการเมื่อไร การบาดเจ็บแบบนี้มักจะเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย (เช่น การทำงานซ้ำๆ) การอยู่ในท่าทางที่มีการยืดหรือหดของเนื้อเยื่อ เช่น การก้มคอหรือเงยคอมากเกินไป หรือการมีแรงกดที่เนื้อเยื่อนานจนเนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง ขาดความยืดหยุ่น นำมาซึ่งอาการบาดเจ็บสะสมได้

กรณีของผู้ป่วยรายนี้การสะพายกระเป๋าทำให้เกิดแรงกดไปที่กล้ามเนื้อคอ การขี่จักรยานยนต์จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงของน้ำหนักกระเป๋าที่สะพาย ทำให้แรงกดยิ่งมากขึ้น นอกจากนี้กล้ามเนื้อมัดที่ถูกกดต้องทำงานมากขึ้นเพื่อยกกระดูกซี่โครงขณะสะพายกระเป๋า

                                 



การที่กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไปร่วมกับมีการบาดเจ็บสะสม จะทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า myofascial pain syndrome อาการอักเสบของกล้ามเนื้อแบบนี้มีความแปลกพิสดาร เพราะนอกจากจะปวดที่กล้ามเนื้อแล้ว มักมีอาการร้าวหรือไปที่อื่น ซึ่งในบางครั้งอาการร้าวก็ไกลไปจากกล้ามเนื้อนั้นมาก เช่น กรณีผู้ป่วยรายนี้เป็นที่คอ แต่ร้าวไปที่นิ้ว ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดคอบ้างแต่อาการปวดร้าวหรืออาการที่นิ้วเป็นอาการที่ผู้ป่วยเป็นกังวลมากกว่า จึงเป็นอาการนำของผู้ป่วย

                                               

กล้ามเนื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุของอาการทั้งหมด คือกล้ามเนื้อสเคลีน (scalene muscles) (รูปที่ ๒) เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ที่คอ เมื่อมีอาการอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการร้าว (รูปที่ ๓)
กล้ามเนื้อสเคลีนมีหน้าที่ช่วยการเคลื่อนไหวของกระดูกคอ ทั้งการเอียง หมุน และงอ นอกจากนี้ยังช่วยในการหายใจเข้าลึก เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก สเคลีนจึงเป็นกล้ามเนื้อที่มักจะทำงานเกินกำลังและล้าได้ง่าย

                                         

กรณีสะพายกระเป๋าแบบนี้ ตัวกล้ามเนื้อจะถูกกดเบียด กล้ามเนื้อต้องออกแรงต้านการกด การสะพายกระเป๋าที่รัดลำตัวแบบนี้ อาจทำให้รูปแบบการหายใจผิดปกติ และอาจมีส่วนส่งเสริมให้กล้ามเนื้อทำงานหนักมากขึ้นจนเกิดอักเสบและมีอาการดังที่กล่าวมา

การรักษาอาการบาดเจ็บสะสมต้องรักษาที่สาเหตุคือ ผู้ป่วยต้องพยายามหากิจกรรมที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการให้ได้ แล้วหยุดกิจกรรมนั้น การรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัดจึงจะได้ผล

การหากิจกรรมที่เป็นสาเหตุบางครั้งก็ยากบางครั้งก็ง่าย ขอให้สังเกตกิจกรรมที่ทำแต่ละวัน เช่น เมื่อทำกิจกรรมนั้นมากๆ อาการจะชัดขึ้น ก็ลองหยุดกิจกรรมนั้น ว่าอาการดีขึ้นไหม? ถ้าทำหลายกิจกรรมในแต่ละวัน อาจลองงดกิจกรรมนั้นทีละอย่าง จนทราบสาเหตุที่แท้จริง
การหยุดเพื่อลดปวดนั้นเป็นการรักษาหลักของอาการประเภทนี้ ถ้าผู้ป่วยไม่หยุดหรือลดกิจกรรมนั้นลง อาการจะไม่หายและทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น ถ้าปล่อยให้มีความปวดอยู่นานๆ ระบบประสาทจะปรับตัว ให้อาการปวดนั้นคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าโรคนั้นจะหายไปแล้ว ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง

อย่าลืมว่าเมื่อมีอาการปวดกระดูก ข้อ หรือกล้ามเนื้อ จากการทำงาน ต้องหาสาเหตุหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการให้ได้ แล้วหยุดหรือลดกิจกรรมนั้น อาการของท่านจะดีขึ้นในเร็ววัน

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

375-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553
คนกับงาน