• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปรียบเทียบการรักษาทางคลินิกแพทย์แผนจีน-แผนตะวันตก ตอนที่ ๑๗ โรคมะเร็ง (๒)แพทย์แผนจีนกับการรักษามะเร็ง

โรคมะเร็งในทัศนะแพทย์แผนจีน
การแพทย์แผนจีน มองร่างกายเป็นแบบองค์รวม หมายความว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างโรคที่เกิดเฉพาะส่วน กับร่างกายโดยองค์รวม หรือโรคที่เกิดจากภาวะร่างกายโดยรวมจะมีผลทำให้โรคเฉพาะส่วนรุนแรงขึ้น หรือลดลงได้เช่นเดียวกัน

กล่าวถึงโรคมะเร็งอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น มะเร็งปอด ถึงแม้จะเป็นมะเร็งเฉพาะที่ เป็นปัญหาโรคเฉพาะส่วน แต่ก็ส่งผลถึงสภาพร่างกายโดยองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ มีไข้ เจ็บปวด สภาพจิตใจหดหู่ ฯลฯ ในทางกลับกัน คนที่มีภาวะร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันตกต่ำ ก็เป็นเงื่อนไขให้มะเร็งก่อตัว หรือกระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว
การป้องกันการเกิดมะเร็ง หรือการรักษามะเร็งจึงต้องพิจารณาสภาพร่างกายโดยองค์รวม ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขของการเกิดมะเร็ง กับพิจารณาตัวโรคมะเร็งควบคู่กันไปด้วย
 

ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งของศาสตร์แพทย์จีน
เหตุแห่งโรค
แพทย์แผนจีน แบ่งเป็น ๒ ปัจจัย คือ
ปัจจัยจากภายใน และปัจจัยจากภายนอก
 
ปัจจัยภายใน
ยิน-หยางเสียสมดุล

อวัยวะภายในจั้งฝู่เสียสมดุล

เลือดและพลังเสียสมดุล

พลังเจิ้งชี่ของร่างกายอ่อนแอ

ภาวะของอารมณ์ทั้ง ๗ ไม่สมดุล


ปัจจัยภายนอก

พลังชี่ติดขัด

เลือดอุดกั้นตกค้าง

ความชื้นสะสม

เสมหะเกาะตัว

พิษร้อน

การเกิดโรคอาจเกิดจากปัจจัยเดียวก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน และส่งผลกระทบต่อกัน ทำให้เกิดความยุ่งยากสลับซับซ้อน


► ยิน-หยางเสียสมดุล
ภาวะยิน-หยางของร่างกาย คือ ภาวะร้อน-เย็น ของร่างกาย
ถ้าพื้นฐานร่างกายมีหยางน้อย หรือเรียกว่า หยางพร่อง  ร่างกายจะมีความเย็นภายในมาก ทำให้สูญเสียพลังความร้อน เลือดและพลังจะไหลเวียนไม่คล่อง มีการติดขัด เกิดเลือดอุดกั้นไม่กระจาย ก่อตัวเกิดเป็นก้อน

การกระทบความเย็นภายนอก เช่น อากาศเย็นหรือกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น (ยินมาก) จะทำให้สภาพหยางพร่องของร่างกายรุนแรงขึ้น

ถ้าพื้นฐานร่างกายมียินน้อยหรือเรียกว่า ยินพร่องเซลล์ของร่างกายจะแห้งและเกิดความร้อนภายใน การไหลเวียนหนืดช้า พลังติดขัด เกิดการเกาะตัวของเลือด เกิดการอุดกั้นไม่กระจาย ก็เกิดเป็นก้อนได้เช่นกัน

อารมณ์ทั้ง ๗ และปัจจัยก่อโรคจากอากาศแวดล้อม (ความร้อน เย็นแห้ง ชื้น ไฟ) มีผลกระทบต่อภาวะยิน-หยางของร่างกาย และมีผลต่อการเกาะตัวของเลือดและพลังเช่นกัน


► อวัยวะภายในจั้งฝู่เสียสมดุล
อวัยวะภายในจั้งฝู่  มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต อวัยวะจั้ง (อวัยวะตัน) มีความสัมพันธ์กับอวัยวะอื่นๆ และเชื่อมสัมพันธ์กับอวัยวะฝู่ (อวัยวะกลวง) ดังนั้น อวัยวะภายในต่างๆ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันและส่งผลกระทบต่อกันตามทฤษฎีหวู่สิง (ทฤษฎีปัญจธาตุ) ตัวอย่างเช่น

อารมณ์โกรธ ทำให้พลังของตับติดขัด พลังติดขัดทำให้เลือดไม่ไหลเวียน เกิดเลือดและพลังอุดกั้น นานๆ เข้าก็จะมีผลกระทบต่ออวัยวะม้าม

อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะ ปอด ม้าม ไต อ่อนแอ ปอดพร่อง ทำให้การขับเคลื่อน การไหลเวียนของน้ำติดขัด

ม้ามพร่อง ทำให้ความชื้นและน้ำไม่ดูดซึมลำไส้ เกิดการตกค้างของความชื้นและของเสีย
ไตพร่องทำให้การขับของเหลวไม่ดี ความชื้นของเหลวตกค้างเกิดเป็นของเหลวที่เรียกว่า หยิ่น  และหากหยิ่นสะสมจนเกิดการความร้อนจะให้ของเหลวมีความข้นมากขึ้น เรียกว่า เสมหะ  การที่เสมหะตกค้างตามเส้นลมปราณและอวัยวะต่างๆ ก็คือสาเหตุของการเกิดก้อน
 

► เลือดและพลังไม่สมดุล
พลังชี่มีหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานของชีวิต อาหารและน้ำที่กินเข้าไปแปลงสภาพเป็นสารเล็กๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเลือด เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งเลือดและพลังต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน พลังควบคุมเลือด เลือดเคลื่อนตามการเคลื่อนไหวของพลัง  ของเหลวในร่างกายก็ถูกขับเคลื่อนด้วยพลัง การไหลเวียนของเลือด และพลังทั่วร่างกายอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด ทำให้สมดุลร่างกายเป็นปกติสุข

พลังชี่มีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น พลังหยวนชี่ ที่มีมาแต่กำเนิด พลังชี่จากอาหารที่กินเข้าไป  รวมถึงพลังชี่จากอากาศที่หายใจ  โดยปอด

ถ้าพลังชี่จากส่วนใดส่วนหนึ่งขัดข้อง หรือเลือดมีปัญหาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ก็จะนำมาซึ่งพลังและเลือดไม่สมดุล เกิดภาวะพลังติดขัดเลือดอุดกั้นทำให้ไม่ไหลเวียน เกิดก้อนขึ้นในที่สุด

 

► พลังเจิ้งชี่อ่อนแอ
พลังเจิ้งชี่ มีความหมายรวมของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ
พลังเจิ้งชี่เกิดจาก หยวนชี่ที่ได้มาแต่กำเนิด และการสร้างขึ้นภายหลังกำเนิดจากอาหารและอากาศ รวมถึงปัจจัยต่างๆ
 คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง ได้กล่าวว่า "เจิ้งชี่ยังดำรงอยู่ เสียชี่ก็ทำอะไรไม่ได้"
หมายถึง การเกิดโรคจากเสียชี่ทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ เจิ้งชี่ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง 

 จ่างจิ่วเย่ กล่าวว่า "คนที่ม้าม ไต อ่อนแอ หรือพร่อง มักเกิดโรคเกี่ยวกับก้อน"
 ตำรา ว่ายเจิ้งอีเพียนเขียนไว้ว่า "พลังเจิ้งชี่พร่องทำให้เกิดก้อน" อย่างไรก็ตาม สาเหตุของพลังเจิ้งชี่พร่อง ยังเป็นผลจากภาวะเสียสมดุลหลายๆ ด้าน เช่น ยิน หยาง เลือด พลัง อวัยวะจั้งฝู่ การได้รับสิ่งก่อโรคเสียชี่จากภายนอก อารมณ์ทั้ง ๗ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ พลังติดขัด เลือดอุดกั้น ความชื้นสะสม เสมหะตกค้างมีพิษ ความร้อนสะสม

 

หลักการรักษามะเร็ง
แพทย์แผนจีนรักษามะเร็งจะต้องเข้าใจภาวะองค์รวมทั้งหมด แล้วดำเนินการรักษาอย่างวิภาษ หรือที่เรียกว่า เปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ คือ วางหลักและใช้วิธีในการรักษาที่สอดคล้องกับภาวะร่างกายและภาวะของปัจจัยก่อโรค

การจะวิเคราะห์ภาวะของร่างกายและภาวะของปัจจัยโรค ใช้วิธีการตรวจโรคแบบ ซื่อเจิน  เก็บรวบรวมข้อมูลจากอาหารต่างๆ และสิ่งตรวจพบ นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์มาสรุปลักษณะธาตุแท้ ปรากฏการณ์ที่เป็นจริง สู่การวางหลักการและวิธีการรักษาที่สอดคล้องอย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง

๑. ทัศนะองค์รวม
การรักษามะเร็งเฉพาะส่วนร่วมกับการรักษาร่างกายโดยองค์รวม การควบคุมมะเร็งได้ดี จะมีผลดีต่อสภาพร่างกายโดยรวมทั้งหมด ในทางกลับกัน สภาพร่างกายที่ดีจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่จะมีผลต่อการควบคุมมะเร็งด้วย
ทั้ง ๒ ด้าน คือ เฉพาะส่วนกับองค์รวมต่างส่งผลกระทบต่อกัน ควบคุมกันและส่งเสริมกัน

๒. การปรับสมดุลยิน-หยาง
หลักการของทฤษฎียิน-หยาง ชี้นำการดำรงอยู่ของด้าน ๒ ด้าน เช่น ร่างกายกับมะเร็ง ทั้ง ๒ ด้านมีรากฐานเดียวกัน การพัฒนาเพิ่มขึ้นของด้านหนึ่ง ส่งผลต่อการลดลงของอีกด้านหนึ่ง ในทางกลับกันการลดลงของอีกด้านหนึ่ง ก็ส่งผลต่อการพัฒนาเพิ่มขึ้นของอีกด้านหนึ่ง การปล่อยให้เงื่อนไขยิน-หยางเสียสมดุลอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพจากเซลล์ดีกลายเป็นเซลล์ไม่ดี ถ้าสร้างเงื่อนไขที่ดีได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถทำให้เซลล์ที่ไม่ดีกลับเป็นเซลล์ดีได้
 การปรับสมดุลยิน-หยาง คือ การสร้างเงื่อนไขที่ดีหรือภาวะที่เหมาะสมกับร่างกายในการเอาชนะโรคมะเร็ง ตัวอย่างการปรับสมดุล เช่น
 "โรคเย็นใช้ยาร้อน โรคร้อนใช้ยาเย็น"
 "โรคแกร่งใช้การระบาย โรคพร่องใช้การบำรุง
"
ร่างกายและการทำงานของร่างกายที่สามารถดำรงอยู่ได้เพราะสามารถปรับสภาพสมดุล (ยิน-หยาง) ได้ การก่อเกิดโรคและการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น คือ การสูญเสียสภาพสมดุลยิน-หยางนั่นเอง

๓. การรักษายืดหยุ่นพลิกแพลง
เนื่องจากโรคมะเร็งแต่ละระยะในผู้ป่วยแต่ละรายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การวางแผนการรักษาจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หลักการยืดหยุ่นของแพทย์แผนจีน คือ
 รักษาโรคต้องรักษาที่รากฐาน 
 รักษาพร้อมกันทั้งอาการที่แสดงออกและรากฐานของโรค
เร่งด่วนรักษาอาการ 
 เรื้อรังรักษารากฐาน 
 รักษาแบบตรง 
 รักษาแบบขัดแย้ง 
 เสริมพลังเจิ้งชี่ ขจัดเสียชี่
 โรคเหมือนกันรักษาต่างกัน 
 โรคต่างกันรักษาเหมือนกัน
 พร่องบำรุงแกร่งระบาย 
 รักษาสอดคล้องตามสภาพบุคคล เวลา สถานที่


ฉบับหน้าอ่าน การแบ่งประเภทมะเร็งตามหลักการเปี้ยนเจิ้งของแพทย์แผนจีน

ข้อมูลสื่อ

375-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553
แพทย์แผนจีน
นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล