• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อ่อนเพลียอย่างนี้ไม่มีโรค

มีผู้ป่วยหลายคนมาพบแพทย์ด้วยเรื่องอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงทำงาน บางคนบอกว่ารู้สึกเหนื่อยง่าย บ้างก็ว่าร่างกายอ่อนล้าผิดปกติ ที่สำคัญคือกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง

โดยมากเมื่อคนเราเจ็บป่วย มักจะมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วยเสมอ ดังนั้น ถ้ามีอาการอ่อนเพลียจึงมักจะนึกถึงโรคต่างๆ แต่สำหรับคนที่รู้สึกอ่อนเพลียแต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ ที่เห็นได้ชัด จะเกิดความวิตกกังวล ครั้นไปพบแพทย์ก็อาจตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ แพทย์เองก็วินิจฉัยไม่ถูก

บางคนก็บอกว่าเกิดจากความเครียด หรือวิตกกังวล และแพทย์เองก็ไม่รู้จะให้ยาอะไร นอกจากยาคลายเครียด วิตามิน หรือน้ำเกลือ ก็แล้วแต่วิธีการรักษาของแต่ละคน และกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาคลายเครียดด้วยก็จะยิ่งทำให้ง่วงซึมและอ่อนเพลียมากขึ้นไปอีก

อาการอ่อนเพลียเป็นอาการทางร่างกายและจิตใจที่พบได้บ่อยๆ
ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากโรคและที่ไม่ใช่โรค เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำทำงานหนัก อากาศที่ร้อนจัด วิตกกังวล เครียด ขาดสารอาหาร  หรืออาจเกิดจากโรค เช่น โรคติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยอื่นๆ

สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้นมักจะพยายามบอกให้ผู้ป่วยรู้จักพึ่งพาตัวเองในระดับหนึ่ง โดยใช้ดุลยพินิจวิเคราะห์อาการต่างๆ เมื่อรู้สึกไม่สบาย ว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ มีสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องพึ่งยาหรือไม่

กรณีอ่อนเพลียที่ไม่พบอาการผิดปกติอื่นใดและพอจะหาสาเหตุได้ เช่น นอนน้อยเกินไป มีภาวะเครียด การจำกัดอาหาร อย่างนี้ก็ให้แก้ไขที่สาเหตุ ปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตใหม่ พยายามผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยที่ยังไม่ต้องไปพึ่งน้ำเกลือหรือยาบำรุงใดๆ เพราะ "อาการบางอย่างไม่ใช่โรค" และ "โรคบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา"

อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับอาหารที่กินด้วย เมื่อร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างก็ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เซื่องซึม หรือเหนื่อยล้าได้ เช่น ขาดพลังงาน ขาดโปรตีน ขาดวิตามินบี หรือธาตุเหล็ก เป็นต้น

ดังนั้น คนที่จำกัดการกินอาหารหรือพยายามลดน้ำหนัก จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ร่างกายจะเกิดสมดุล กล้ามเนื้อแข็งแรง ภูมิคุ้มกันดีขึ้น นอกจากนี้ควรกินปริมาณพอดี ไม่มากไปหรือน้อยไป งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอาหารพวกไขมันแปรรูป ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ ๘ แก้ว เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อ่อนเพลียได้เช่นกัน

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบาย หลีกเลี่ยงความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้กล้ามเนื้อและระบบเผาผลาญทำงานดี

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง แพทย์จะต้องซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยส่วนใหญ่ถ้าเจ็บป่วยเป็นโรคมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย และจะสังเกตได้ไม่ยาก แต่ที่แพทย์มักจะถามอยู่เสมอคือ มีไข้ไหม น้ำหนักลดหรือผอมลงหรือไม่ ปัสสาวะมากและกระหายน้ำบ่อยๆ หรือไม่ เป็นต้น เพื่อที่จะวินิจฉัยแยกโรคว่าเกิดจากความเจ็บป่วยหรือเกิดจากสาเหตุอื่นกันแน่

สำหรับอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าแบบเรื้อรัง ชนิดที่ว่าไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ พักผ่อนหรือปรับปรุงวิถีชีวิตแล้วก็ยังไม่หาย จัดเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง วินิจฉัยค่อนข้างยาก ตามตำราจะเรียกอาการแบบนี้ว่า โครนิกฟาทีกซินโดรม (chronic fatigue syndrome-CFS) ซึ่งมักจะอ่อนเพลียมานาน ส่วนใหญ่จะมากกว่า ๖ เดือน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ เจ็บคอ มีไข้ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นต้น
โรคนี้พบได้ไม่บ่อย สาเหตุนั้นยังไม่แน่ชัด โดยอาจเป็นผลมาจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง ขาดสารอาหาร ขาดฮอร์โมนบางอย่าง หรือเกิดจากภาวะเครียดเรื้อรัง เป็นต้น การรักษานั้นต้องใช้ทั้งยา โภชนบำบัด และปรับวิถีชีวิตให้สมดุล

แต่สำหรับอาการอ่อนเพลียที่พบอยู่บ่อยๆ นั้น มักจะไม่ใช่เกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วย ส่วนใหญ่เกิดจากการมีวิถีชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น พักผ่อนน้อย ตรากตรำทำงาน กินอาหารไม่เพียงพอ ความเครียด เป็นต้น ดังนั้นวิธีการรักษาจึงอยู่ที่การแก้ไขสาเหตุมากกว่าการพึ่งพายาหรือน้ำเกลือเพื่อบำรุงกำลัง
 

ข้อมูลสื่อ

376-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์