• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลูกไม่สบายใช้ยาอย่างไร

 ภก.วิรัตน์ ทองรอด
ลูกน้อยไม่สบายเลือกใช้ยาอย่างไร

คำถาม
เวลาลูกน้อยไม่สบาย ควร เลือกใช้ยาอย่างไร?...จึงจะได้ผลดีและปลอดภัย

การใช้ยาอย่างพอเพียง..เพื่อให้ได้ผลดีและปลอดภัย
ขอนำคำขวัญยอดฮิตของการใช้ยา "ยามีคุณอนันต์ และโทษมหันต์" มาย้ำเตือนทุกท่านอีกครั้งหนึ่งว่า ยาเป็นสารเคมีที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ เป็นประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ถ้ามีการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมหรือเมื่อเกิดการแพ้ยา ซึ่งผลเสียเหล่านี้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถึงแม้จะไม่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนั้นเลยก็ได้ ดังนั้น ใช้ยาอย่างพอเพียง ใช้เมื่อจำเป็น เมื่อมีปัญหาสุขภาพเท่านั้น ไม่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ โดยไม่มีประโยชน์ เพราะอาจจะเกิดอันตรายโดยไม่คาดฝันได้
      
เด็กไม่ใช่  ผู้ใหญ่...ตัวเล็ก
การใช้ยาสำหรับเด็กจะมีความแตกต่างไม่เหมือน กับผู้ใหญ่ เริ่มตั้งแต่ร่างกายของเด็กจะมีอวัยวะหลายส่วนแตกต่างจากผู้ใหญ่ จึงขอยืมคำกล่าวที่ว่า เด็กไม่ใช่ ผู้ใหญ่..ตัวเล็กž มาประยุกต์ใช้เรื่องการใช้ยา เพื่อให้เพิ่มความระมัดระวังการใช้ยาสำหรับเด็กที่แตกต่างจาก ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ดีเท่ากับเด็กโต

ลักษณะพัฒนาการของร่างกายเด็กจะยังไม่เต็มที่หรือสมบูรณ์เท่ากับผู้ใหญ่ การทำงานของเนื้อเยื่อหรือ อวัยวะต่างๆ จึงแตกต่างจากผู้ใหญ่ทั่วไป
ตัวอย่างเช่น ร่างกายเด็กจะมีสัดส่วนของปริมาณ น้ำมากกว่าผู้ใหญ่ หรือที่นิยมพูดว่า เด็กมีปริมาณน้ำมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น การกระจายยาหลายชนิดของร่างกายเด็กจึงแตกต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลถึงความเข้มข้นของยา และส่งผลต่อการรักษาและผลเสียของยาที่แตกต่างกันด้วย ตรงกันข้าม ผู้ใหญ่มีปริมาณไขมันมากกว่าเด็ก   ยาบางชนิดละลายได้ดีในไขมันก็จะกระจายตัวไปส่วนต่างๆ ของร่างกายเด็กได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ยาที่ละลายได้ดีในไขมันจะมีความเข้มข้นสูงเมื่อเปรียบเทียบ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ซึ่งอาจสูงจนทำให้เกิดอันตรายได้

การดูดซึมของยา กระเพาะอาหารเด็กมีการสร้างและหลั่งกรดออกมาย่อยอาหารมีปริมาณน้อยกว่าผู้ใหญ่ และระยะเวลาที่ยาและอาหารตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าผู้ใหญ่  สำหรับเด็กยาสามารถเดินทางจากกระแสเลือดเข้าสู่สมองได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ การทำงานของ เอนไซม์ที่ตับเด็กยังไม่เต็มที่เท่ากับผู้ใหญ่อีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อยาหลายชนิดที่ตอบสนองผู้ใหญ่แตกต่างจากในเด็กได้ ในเรื่องการใช้ยา เด็กจึงไม่ใช่...ผู้ใหญ่ตัวเล็ก แต่เด็กก็เป็นเด็กที่มีร่างกายและการตอบสนองต่อยาเฉพาะของเด็กแตกต่าง จากในผู้ใหญ่ การเลือกใช้ยาจะต้องเหมาะสมสำหรับเด็ก
      
ยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็ก
ครอบครัวที่มีสมาชิกตัวน้อยๆ ขอแนะนำให้จัดเตรียมยาสามัญประจำบ้านสำหรับโรคที่พบบ่อยๆ เผื่อฉุกเฉิน ยามค่ำคืน หรือเมื่อเริ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็จะได้ใช้ยาสามัญประจำบ้านที่เตรียมไว้นี้เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นได้

ตัวอย่างยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาลดไข้แก้ตัวร้อน ยาแก้ไข้หวัด ไอ ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นต้น
ยาลดไข้แก้ตัวร้อนที่นิยมคือ ยาพาราเซตามอล มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ตัวร้อน และบรรเทาอาการปวดได้อย่างดี มีทั้งชนิดน้ำเชื่อมและเม็ด ซึ่งมีปริมาณยาต่อช้อนชาหรือต่อเม็ดที่แตกต่างกัน จึงควรอ่านรายละเอียดและขนาดการใช้ตามกล่องหรือคำอธิบายที่แนบมากับยา   ให้เข้าใจก่อนใช้ยา และกรณีที่มีไข้สูงก็อาจดูแลด้วยการเช็ดตัวให้แก่ลูกน้อยตามบริเวณข้อพับต่างๆ พร้อมๆ กับให้ดื่มน้ำบ่อยๆ และมากๆ ด้วย

ยาแก้หวัดคัดจมูก เรื่องคัดจมูกเป็นปัญหาต่อการดูดนมของเด็กเล็กอย่างมาก ถ้าเด็กคัดจมูก มักจะโยเย งอแง และไม่ยอมดูดนม ดังนั้น เด็กเล็กควรบรรเทาอาการอุดตันของรูจมูกก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้เด็กดื่มนมได้ตามปกติ
วิธีที่นิยมใช้แก้ปัญหาคัดจมูกของเด็กเล็กคือ การใช้ไม้พันสำลีเช็ดน้ำมูกออก ซึ่งถ้าเป็นน้ำมูกเหลวจะสามารถเช็ดออกได้ง่าย ด้วยไม้พันสำลีขนาดเล็กสำหรับ
เด็ก แต่บางกรณีน้ำมูกแห้งกรังอุดตันรูจมูก จะแนะนำให้ใช้น้ำสะอาดหรือน้ำเกลือหยดที่ขี้มูกที่แห้งกรังอยู่นั้นให้นิ่มลงก่อนที่จะใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำหมาดๆ เช็ดขี้มูกออกได้ง่ายขึ้น อีกวิธีที่นิยมใช้คือ การใช้ไม้พันสำลีชุบยาแก้คัดจมูกพอหมาดๆ เช็ดที่จมูก วันละ ๓-๔ ครั้ง เพื่อเปิดช่องรูจมูกให้เด็กหายใจได้ และดูดนมได้เป็นปกติ

ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่นิยม มีไว้ประจำบ้าน โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ยังดื่มนมเป็นอาหารหลัก ซึ่งมักจะเกิดปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อได้หลังจากดื่มนม ตัวอย่างยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เช่น มหาหิงคุ์ เป็นต้น มักนิยมใช้ทาที่ท้องเพื่อช่วยไล่ลม (ขับลม) และใช้ร่วมกับการอุ้มเด็กขึ้นพาดบ่าพร้อมทั้งลูบหลังเบาๆ หลังดื่มนม ทั้งนี้เพราะระหว่างการดูดนมเด็กจะดูดลมเข้าไปในกระเพาะอาหารด้วย ดังนั้น การอุ้มเด็กเล็กพาดบ่าพร้อมกับการลูบหลังก็จะเป็นการจัดท่าทางร่างกายของเด็กให้เกิดการเรอได้ง่ายขึ้น ช่วยลดแก๊สหรือลมในท้อง ช่วยแก้ท้องอืดได้เป็นอย่างดี

การเลือกยาสามัญประจำบ้านของเด็กอาจปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมยาบางรายการได้ตามความนิยม และโรคประจำตัวของเด็กๆ หากมีข้อสงสัยเหล่านี้ ก็ขอคำแนะนำและปรึกษาเรื่องยาสามัญประจำบ้านของเด็กได้จากแพทย์หรือเภสัชกรได้
      
การใช้ยา...กรณีที่ไปพบแพทย์
บางกรณีอาจต้องไปพบแพทย์ และอาจได้รับยาจากแพทย์ทั้งจากที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ดังนั้นเพื่อให้ การใช้ยาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่กับความปลอดภัย ก่อนพาบุตรหลานไปพบแพทย์ จะมีขั้นตอนง่ายๆ คล้ายกับขั้นตอนของผู้ใหญ่ดังที่ได้กล่าวอย่างละเอียดในฉบับที่แล้วดังนี้
๑. ขั้นตอนก่อนไปพบแพทย์
ขั้นนี้ควรเตรียมข้อมูลการเจ็บป่วย ยาที่ใช้อยู่ โรคประจำตัวและการแพ้ยา (ถ้ามี) ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัวและการเจ็บป่วยของเด็กที่ผ่านมา เพื่อให้แพทย์ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเหมาะสม
๒. ขั้นตอนการตรวจรักษาจากแพทย์
เมื่อไปพบแพทย์ควรให้ข้อมูลความเจ็บป่วยที่เตรียมไว้อย่างครบถ้วน เช่น อาการสำคัญ ยาที่ใช้อยู่ โรคประจำตัวและการแพ้ยา (ถ้ามี) ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัวและการเจ็บป่วยของเด็ก เป็นต้น และควรให้แพทย์อธิบายถึงผลการวินิจฉัยว่า เด็กน้อยเป็นโรคอะไร การรักษาจะต้องใช้ยาอะไรบ้าง และมีขั้นตอน การดูแลเด็กระหว่างการเจ็บป่วยอย่างไร
๓. ขั้นตอนการรับยาที่ห้องยา
เมื่อรับยาควรตรวจเช็กความถูกต้องของชื่อและนามสกุล ชนิดและจำนวนยา ข้อควรระวัง ตลอดจนวิธีการใช้ยา เช่น การสูดยา การผสมและเก็บยาปฏิชีวนะชนิดผง การเหน็บยาทวารหนัก เป็นต้น หากมีข้อสงสัยควรสอบถามจากเภสัชกรและแพทย์ก่อนกลับบ้าน
๔. ขั้นตอนการใช้ยา
ทุกครั้งที่ใช้ยา ควรอ่านฉลากและวิธีใช้ทุกครั้งว่า จะต้องใช้ครั้งละเท่าใด วันละกี่ครั้ง เวลาใด และใช้ให้ถูกต้อง ตรงตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกร และสังเกตลักษณะของยาว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ ก่อนการใช้ยา
๕. ขั้นตอนหลังจากใช้ยา
หลังใช้ยาควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยระหว่างการใช้ยา ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ขอให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายยาทันที เพื่อแจ้งให้ผู้สั่งจ่ายทราบ และให้คำปรึกษาดูแลอาการผิดปกตินั้น

ทั้ง ๕ ขั้นตอนนี้ผู้ปกครองผู้ดูแลเด็กไม่ว่าจะเป็นพ่อ หรือแม่จะมีส่วนสำคัญตลอดทุกขั้นตอน และถ้ามีผู้ดูแล เด็กหลายคนหรือมีการเปลี่ยนผู้ดูแลเด็ก ควรส่งต่อ หรือเล่ารายละเอียดของการดูแลและการใช้ยาให้กับผู้ดูแลคนอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วย เพื่อช่วยให้การใช้ยาของเด็ก ถูกคน ถูกชนิด ถูกขนาด ถูกเวลา และถูกต้อง เพื่อผลการ รักษาและความปลอดภัยในการใช้ยาแก่ลูกหลานท่าน
      
ข้อแนะนำการป้อนยาสำหรับเด็ก
อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นเรื่องปวดหัวสำหรับผู้ปกครอง คือ การป้อนยาให้บุตรหลาน ซึ่งเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจ สำหรับบางครอบครัว จะขอแนะนำขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
๑. อ่านรายละเอียดของยาและเตรียมตัวยาตามขนาดที่ถูกต้องด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสมไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป
๒. อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นสำหรับการใช้ยาด้วยความห่วงใยของผู้ปกครองให้เด็กรับรู้ เพื่อการยอมรับ และร่วมมือปฏิบัติตามการป้อนยา
๓. พยายามอย่าให้ยาสัมผัสกระพุ้งแก้ม และหลีกเลี่ยงให้ยาสัมผัสกับลิ้น โดยเฉพาะยาที่มีรสขม (เพราะต่อมรับรสอยู่ที่ลิ้น)
๔. หลังป้อนยาให้ดื่มน้ำตามเล็กน้อย
๕. ไม่ผสมยากับนม เพราะถ้ามีรสขมเด็กอาจไม่ดื่มนมที่มียารสขมผสมอยู่ หรือกรณีที่เด็กดื่มนมไม่หมดขวดก็จะได้ยาไม่ครบตามขนาดที่ต้องการ
๖. ขณะที่เด็กร้องไม่ควรป้อนยา เพราะอาจทำให้สำลักได้
๗. จำนวนครั้งของการให้ยาจะต้องน้อยที่สุด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องผสมยาหลายๆ ชนิดพร้อมกัน เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันได้

การป้อนยาให้เด็กจะต้องใช้หลักจิตวิทยา ตั้งสมาธิให้ดี และใจเย็นๆ พยายามอธิบายให้เด็กรับรู้และเข้าใจถึงความจำเป็นของการใช้ยา เพื่อรักษาโรค และอาจให้ของรางวัลได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ควรหลอกลวงหรือข่มขู่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังทัศนคติและการใช้ยาที่ดีแก่เด็ก พร้อมๆ กับสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลานเรื่องความห่วงใยที่ต้องการช่วยเหลือให้บุตรหลานของตนลดความทุกข์ทรมาน หายป่วยหายไข้อย่างเร็วที่สุด

การใช้ยาสำหรับเด็กจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ตลอดจนเป็นสื่อแสดงความรัก ความเอื้ออาทรและ ความห่วงใยที่มีต่อบุตรหลานทุกคน ความสำเร็จของ การใช้ยาจึงขึ้นกับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครอง ผู้ดูแล และบุตรหลานด้วย 

 


 

ข้อมูลสื่อ

343-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 343
พฤศจิกายน 2550
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด