• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปรียบเทียบการรักษาทางคลินิกแพทย์แผนจีน-แผนตะวันตก ตอนที่ ๒๑โรคอัมพาตใบหน้าทัศนะแผนปัจจุบัน (๒)

โรคอัมพาตใบหน้า (面瘫)
ทัศนะแพทย์แผนจีน (๒)

ได้กล่าวถึงสาเหตุ การรักษา การดำเนินโรค และความชุกของการเกิดโรคอัมพาตใบหน้าทัศนะแผนปัจจุบันไปแล้ว ฉบับนี้ว่าด้วยทัศนะแพทย์แผนจีน

โรคอัมพาตใบหน้าทัศนะแพทย์แผนจีน
แพทย์จีนเรียกอาการปาก ตา บิดเบี้ยว (口眼歪斜症) หรืออัมพาตใบหน้า (面瘫)

สาเหตุของการเกิดโรค
๑.    ส่วนใหญ่เกิดจากบริเวณใบหน้ากระทบกับลมและความเย็น (风寒) เป็นการกระทบของลมต่อเส้นลมปราณจิงลั่ว (风中经络) ทำให้พลังไม่สามารถไปเลี้ยงใบหน้าได้ มีอาการอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก มีอาการปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท แบบเฉียบพลัน
๒.    เส้นลมปราณหยางหมิงของขาที่วิ่งผ่านบริเวณปาก มีภาวะพร่อง ขาดพลังหล่อเลี้ยง เมื่อโดนลมกระทบ เกิดการหดตัวไม่คล่อง ลมที่กระทบมีทั้งลมเย็น ลมร้อน ลมชื้น ลมเสมหะ รวมถึงภาวะเลือดอุดกั้น ภาวะพลังและเลือดติดขัด ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปาก ตา บิดเบี้ยวได้ทั้งสิ้น

การวินิจฉัยแบบเปี้ยนเจิ้ง
(辨症论治)
๑. ลมกระทบจากภายนอก ทำให้เกิดอัมพาตที่ใบหน้า (风邪外袭)
    ลมรวมกับปัจจัยก่อโรคอาจเป็นความเย็น ความร้อน ความชื้น เมื่อมากระทบบริเวณใบหน้า คือ เส้นพลังลมปราณของหยางหมิงที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนใหญ่ ทำให้เลือดและพลังไหลเวียนไม่คล่อง กล้ามเนื้อที่ตาและปากอ่อนแรง ทำให้บิดเบี้ยวเพราะไม่มีกำลัง การรับความรู้สึกบนใบหน้าผิดปกติ
กระทบ ลมเย็น-กล้ามเนื้อใบหน้าปวดเกร็ง เพราะความเย็นทำให้หดตัว
กระทบ ลมร้อน-กล้ามเนื้อใบหน้าหย่อน ผิวหนังร้อนแดง
กระทบ ลมชื้น-กล้ามเนื้อใบหน้า หน้าบวม บางครั้งมีอาการปวดร่วมด้วย
๒.    ลม ตับ เคลื่อนไหวภายใน (肝风内动)
    มีอาการอัมพาตใบหน้า ร่วมกับมีพื้นฐานร่างกายเป็นคนที่มีภาวะตับแกร่งหรือยินพร่อง-หยางแกร่ง มักมีอาการเวียนศีรษะ แขนขาชา ภาวะหยางที่มากเกินไปทะลวงผ่านเส้นลมปราณ
หยางหมิงบริเวณใบหน้า ทำให้ใบหน้าแดงก่ำ เวียนศีรษะมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีลิ้นแดงออกม่วง ชีพจรเร็วและตึงมีกำลัง ฝ้าบนลิ้นเหลือง หรือมีฝ้าบนลิ้นน้อย ตัวลิ้นแห้ง
๓.    ลมเสมหะอุดกั้นเส้นลมปราณ (风痰阻络)
    มีอาการอัมพาตบริเวณใบหน้า ร่วมกับพื้นฐานร่างกายที่บ่งบอกว่ามีเสมหะอุดกั้น กล่าวคือ ผู้ป่วยมักมีระบบม้ามอ่อนแอ ทำให้เกิดเสมหะ เสมหะที่สะสมตัวนานเข้า ทำให้พลังอุดกั้น เกิดลม-เสมหะ ปิดกั้นส่วนบนของร่างกาย คือ เส้นลมปราณหยางหมิงที่บริเวณใบหน้า ผู้ป่วยมักจะมีใบหน้าชา มีเสียงเสมหะในคอ ลิ้นแข็งทื่อ ฝ้าบนลิ้นขาวเหนียว ชีพจรตึงลื่น
๔.    เลือดและพลังพร่อง (气血双亏)
    มีอัมพาตของใบหน้า ร่วมกับพื้นฐานร่างกายเป็นคนอ่อนแอ เลือดและพลังพร่อง กล่าวคือ กล้ามเนื้อใบหน้าจะอ่อนแรง กล้ามเนื้อเหลว เสียงพูดไม่มีกำลัง (ไม่ค่อยอยากจะพูด) ชีพจรเล็ก เบา ขาดพลัง ลิ้นซีด นุ่ม ฝ้าบนลิ้นขาวบาง

แนวทางการรักษา
๑.  ลมภายนอกกระทบ (风邪外袭)
    หลักการรักษา
    ลมเย็น : ใช้หลักการ ขับลม สลายความเย็น (疏风散寒)
    ตำรับยาที่ใช้ เก๋อเกินทัง (葛根汤) ปรับลดตามสภาพ
    ลมร้อน : ใช้หลักการ ขับลม ขับความร้อน (疏风清热)
    ตำรับยาที่ใช้ เก๋อเกินเจี่ยจีหัว (葛根解肌汤) ปรับลดตามสภาพ
    ลมชื้น : ใช้หลัก ขับลม สลายความชื้น (疏风散湿) 
ตำรับยาที่ใช้ เชียงหัวเซิ้งสือทัง (羌治胜湿汤) ปรับลดตามสภาพ 
๒.  ลมตับเคลื่อนไหวภายใน (肝风内动)
    หลักการรักษา สงบตับ สงบลม
    ตำรับยาที่ใช้ เจิ้นกานสีเฟิงทัง (镇肝熄风汤) และเทียนหมาโกวเถิงหยิ่น (天麻钓藤饮)
๓.  ลมเสมหะปิดกั้นเส้นลมปราณลั่ว (风痰阻络)
    หลักการรักษา ขับลม สลายเสมหะ ทะลวงเส้นลมปราณ (祛风化痰,舒通经络)
    ตำรับยาที่ใช้ เชวียนเจิ้งส่าน (牵正散) ปรับลดตามสภาพ 
๔.  เลือดและพลังพร่อง (气血双亏)
    หลักการรักษา บำรุงเลือดและพลัง ทะลวงเส้นลมปราณ (补养气血,通经活络)
    ตำรับยาที่ใช้ อู่หยางหวนอู่ทั่งและเอ่อฉงส่าน (五阳还五汤,二虫散)

การเปรียบเทียบแผนปัจจุบันและแผนจีน
๑.    สาเหตุการเกิดโรคอัมพาตใบหน้า ที่ส่งผลให้เส้นประสาทคู่ที่ ๗ อักเสบหรือบวม แพทย์แผนปัจจุบัน ให้ความสนใจไปที่การติดเชื้อไวรัส และกล่าวถึงปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เกิดจากภาวะการกระทบความเย็นและตากลม ความเครียดทางอารมณ์ คนที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวานหรือบาดเจ็บบนใบหน้า
การเปี้ยนเจิ้งของแพทย์จีน เน้นไปที่ปัจจัยภายใน พื้นฐานร่างกาย บางคนเลือดพลังพร่อง บางคนยินพร่อง หยางแกร่ง (คล้ายกับความดันโลหิตสูง) บางคนเสมหะภายในมาก ระบบการย่อยไม่ดี หรือมีเสมหะสะสมภายในนานๆ (คล้ายกับภาวะไขมันในเลือดสูง) หรือคนที่บาดเจ็บบริเวณใบหน้า (ซึ่งทำให้เส้นลมปราณหยางหมิงถูกกระทบกระเทือนเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน)
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกที่มากระทบ แพทย์จีนโบราณ ไม่มีคำว่า ไวรัส รู้จักแค่การเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มากระทบต่อร่างกายบริเวณใบหน้า จำแนกตามอาการอัมพาตว่ามีลักษณะหน้า ปวด หย่อน ร้อน ว่าเป็นปัจจัยชนิดไหนมากระทบ แล้วทำการใช้ยาขับปัจจัยก่อโรคเหล่านั้นออกไป
๒.  การรักษา
แผนปัจจุบัน มุ่งไปที่รักษาเพื่อลดอาการบวมและการอักเสบของเส้นประสาทคู่ที่ ๗ โดยตรง ระยะเริ่มแรกให้ยาเพร็ดนิโซโลนขนาดสูง และลดขนาดลง ยาต้านไวรัสพิจารณาเป็นรายๆ ไป และปล่อยให้ร่างกายหายเอง
แผนจีน แบ่งแยกลักษณะอัมพาตตามสภาพพื้นฐานสมดุลของร่างกาย และปัจจัยที่ก่อโรค รักษาพื้นฐานร่างกายควบคู่กับการขับปัจจัยก่อโรค เน้นสร้างสมดุลให้ร่างกายฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง
การฝังเข็ม ด้านหนึ่งเน้นเลือกจุดบนเส้นลมปราณหยางหมิงที่หล่อเลี้ยงบริเวณใบหน้า อีกด้านหนึ่งเน้นการขับลมจากภายนอกและปรับลมภายใน เช่น จุดเหอกู่ (合谷) จุดเฟิงฉือ (风池) หรือดึงพลังหยางลงล่าง เช่น จุดไท่ชง (太冲)
๓.    เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการปวดบริเวณหลังหู ซึ่งเป็นทางเดินของเส้นลมปราณถุงน้ำดี ที่เกี่ยวข้องกับลมในร่างกายและความผิดปกติของเส้นลมปราณ แสดงว่าผู้ป่วยที่มีการติดขัดของพลังลมปราณมาก่อน มีโอกาสเกิดอัมพาตบนใบหน้าได้ง่าย ถ้ากระทบลมและความเย็น
    คนที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างมาก มีพยากรณ์โรคไม่ดี ตรงกับแพทย์จีนที่กล่าวถึงผู้ป่วยประเภทนี้ เป็นประเภทพื้นฐานเลือดและพลังพร่องซึ่งถ้าได้รับการรักษาสมดุลร่างกายควบคู่ไปด้วย จะทำให้พยากรณ์โรคดีขึ้น
    คนที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาต เป็นกลุ่มที่มีพยากรณ์โรคไม่ค่อยดีเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังหยาง หรือเลือดและพลังไหลเวียนมาได้น้อย จำเป็นต้องปรับสมดุลควบคู่กันไปด้วย
    เช่นเดียวกับคนที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งเทียบได้กับที่มีภาวะหยางของตับแกร่งและผู้ป่วยที่มีเสมหะ ความชื้นมาก ก็ต้องปรับระบบย่อย ระบบม้าม รวมทั้งจัดการกับเสมหะ (มีความหมายครอบคลุมถึงภาวะไขมันในเลือดด้วย)
๔.    ถ้ามองในทัศนะแพทย์จีน การปรับสมดุลของเส้นลมปราณบริเวณใบหน้า ให้เลือดและพลังไหลเวียนดี จะช่วยทำให้การฟื้นตัวของกล้ามเนื้ออัมพาตหายได้เร็วขึ้นได้อย่างแน่นอน การปรับสมดุลด้วยยา ทั้งบำรุง ปรับและขจัดปัจจัยก่อโรค จะยิ่งมีผลทำให้การหายเร็วขึ้น และพยากรณ์ของโรคจะดีขึ้นกว่าการรักษาที่เส้นประสาทคู่ที่ ๗ อย่างเดียวล้วนๆ
๕.    การรักษาแบบจีนใช้หลักเปี้ยนเจิ้ง คนที่เป็นโรคเหมือนกัน รักษาต่างกัน เพราะพื้นฐานร่างกายต่างกัน แต่การรักษาแบบแผนปัจจุบันค่อนข้างเป็นมาตรฐาน คือใช้เพร็ดนิโซโลน ทุกรายเป็นหลัก เพราะเป็นโรคเดียวกัน ต้องมาตรฐานการรักษาเดียวกัน
๖.    คนที่มีปัญหาพื้นฐานร่างกายผิดปกติ เสียสมดุลและมีปัญหาของเส้นลมปราณบริเวณใบหน้าติดขัดจากสาเหตุใดมาก่อนเป็นทุนเดิม ย่อมมีโอกาสเกิดอัมพาตบนใบหน้าของด้านที่เส้นลมปราณติดขัดหรือมีปัญหาได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีจุดอ่อน
    การปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลังหู ปวดต้นคอ ปวดใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ปวดไมเกรนเป็นประจำ บ่งบอกว่าการไหลเวียนของพลังลมปราณติดขัด ต้องระมัดระวังอย่าให้ไปกระทบลมและความเย็นนานๆ โดยเฉพาะเวลานอนต้องระวังพัดลมและแอร์ที่เป่าจ่อบริเวณใบหน้า
    ปัจจุบัน โรคจำนวนมาก แม้เราจะหาสาเหตุที่เป็นผลทำให้เกิดโรคได้ เช่น ไวรัสบางตัว หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่การรักษาที่มุ่งเน้นไปแก้ปัญหาเฉพาะส่วน (เช่น ฆ่าไวรัส หรือกดภูมิคุ้มกันก็ดี) ในโรคที่ต้องรักษากันยาวนาน แพทย์ก็เข้าใจดี และพยายามลดปริมาณลง เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเอง
    การปรับสมดุลแบบแพทย์จีน ถือเป็นวิธีการช่วยให้ร่างกายปรับตัวและมีศักยภาพในการรักษาตัวเอง อีกวิธีหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการปรับสมดุลทั้งระบบอวัยวะภายในและระบบเส้นลมปราณ (ซึ่งเชื่อมโยงไปอวัยวะภายในด้วย)
การสร้างปัจจัยที่เหมาะสมหรือการปรับสมดุลภาวะแวดล้อมของร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้างยาในร่างกายมารักษาตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งจากภายนอก หรือใช้จากภายนอกให้น้อยสุด ทำให้การรักษาหายเร็วขึ้น และลดภาวะทุกข์ทรมานของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น
    อัมพาตใบหน้า ในทัศนะเปรียบเทียบ ๒ แผน คงให้แง่คิดแก่ผู้สนใจช่วยกันศึกษาเพิ่มเติม ให้รอบด้านยิ่งๆ ขึ้นไป
 

ข้อมูลสื่อ

379-036
นิตยสารหมอชาวบ้าน 379
พฤศจิกายน 2553
แพทย์แผนจีน
นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล