• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จำเป็นต้องใช้ยาหลายขนานหรือไม่

จำเป็นต้องใช้ยาหลายขนานหรือไม่

ปัจจุบันนี้ สถานการณ์ด้านการบริการสุขภาพพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งคลินิกต่างๆ ทำให้อาจกล่าวได้ว่า “เมื่อรู้สึกไม่สบายอะไรก็ต้องไปพบแพทย์”
     เมื่อไปถึงสถานพยาบาลแล้วก็ย่อมต้องได้ยากลับบ้าน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่แพทย์จะจ่ายให้ เพราะเวลาไม่ได้ยา ผู้ป่วยมักจะสงสัยและรู้สึกว่าไม่ได้รับการรักษา ทั้งๆ ที่อาการบางอย่างไม่ใช่โรค สามารถหายเองได้ หรือโรคบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องรักษาหรือไม่ต้องใช้ยา
     การรักษาบางครั้งก็คือการหยุดใช้ยา (เมื่อยานั้นทำให้เกิดโรคหรืออาการข้างเคียง) แต่ส่วนใหญ่แล้วต่อให้แพทย์อธิบายจนเหนื่อยก็มักไม่เข้าใจ ด้วยอาจฝังใจว่าการรักษาโรคนั้นต้องใช้ยา ถ้าไม่ได้กินยาก็ไม่หาย
     แพทย์ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจประเด็นนี้ เลยตัดปัญหาด้วยการจ่ายยาให้ทุกครั้ง มากบ้างน้อยบ้าง เพราะคิดว่าถ้าพูดหรืออธิบายไปก็มักจะเหนื่อยเปล่า บางคนก็จ่ายยาให้มากเข้าไว้ บางคนก็หลายขนาน ผู้ป่วยเลยได้ยากลับบ้านมาเป็นถุงใหญ่จนกินไม่ถูก สุดท้ายอาจเกิดโทษจากยา บางคนได้ยามามากไป กินไม่หมดหรือต้องเปลี่ยนยาใหม่ ทำให้ต้องทิ้งยาเก่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณด้านสาธารณสุขโดยใช่เหตุ (โดยเฉพาะการสั่งจ่ายยาในระบบประกันสุขภาพของรัฐ)
     ผู้ป่วยบางคนโดยเฉพาะคนชรา มักเป็นกลุ่มที่ได้รับยาหลายขนานหลายประเภท เพราะ “คนแก่ก็เหมือนรถเก่า” ย่อมมีความเสื่อมไปตามวัย ตรวจเช็กตรงไหนก็มักจะพบความผิดปกติ (บางเรื่องที่เป็นความเสื่อมตามอายุ ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไปเสียทุกเรื่อง) แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ เมื่อไปพบแพทย์หรือตรวจสุขภาพ นอกจากจะได้ยารักษาตามอาการที่เป็นแล้ว ก็มักจะได้ยาจำพวก ลดความดัน ลดไขมันในเลือด ยาเสริมกระดูก ยานอนหลับ รวมถึงยาบำรุงต่างๆ
     บางคนกินยาหลายอย่างมากจนมีอาการมึนศีรษะและอ่อนเพลีย ต้องมาแยกแยะดูว่ายาตัวไหนที่จำเป็นต้องกินจริงๆ ซึ่งการรักษานั้นควรมุ่งเน้นที่สภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยมากกว่าเน้นให้ยาตามความผิดปกติจากผลการตรวจต่างๆ มากเกินไป เพราะผู้ป่วยอย่างคนชราหากพิจารณาดูแต่ความผิดปกติของตัวเลขการตรวจเลือดและตรวจร่างกายแล้ว คงจะพบความผิดปกติมากมายจนต้องกินยาแทนข้าวเป็นแน่
     สาเหตุของการใช้ยากันอย่างฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน โดยการจ่ายยาให้ผู้ป่วยจำนวนมากและให้หลายๆ ขนานนั้น จะขอกล่าวถึงแต่กรณีที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วย (ไม่รวมที่ซื้อเองจากร้านขายยา)
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นแพทย์คนหนึ่ง จึงอยากขอแยกแยะสาเหตุดังนี้
๑.  การที่ผู้ป่วยมีโรคหรืออาการไม่สบายหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อไปพบแพทย์หลายท่าน บางครั้งแพทย์อาจไม่ได้สนใจเท่าที่ควร ว่าผู้ป่วยได้ยาอะไรมาบ้างแล้ว พอบอกเล่าอาการก็ให้ยาเพิ่ม เลยทำให้ได้ยาหลายขนานซึ่งบางครั้งก็เกินจำเป็น แต่ก็มีบางกรณีที่แพทย์บางท่านใช้ยาหลายขนานเพียงเพื่อวัตถุประสงค์เดียว (เหมือนยิงนกตัวเดียวด้วยปืนกล) หรือบางท่านก็ขอให้ยาแบบครอบคลุมไว้ก่อน ทั้งยารักษาโรค ยาบรรเทาอาการ ยาบรรเทาผลข้างเคียง ยาป้องกันโรคหรือขจัดปัจจัยเสี่ยง รวมถึงยาบำรุงและเสริมความต้านทานโรค ซึ่งก็ชวนให้สงสัยว่าจำเป็นขนาดนั้นหรือไม่ หรือแม้กระทั่งประเด็นของการใช้ยามากๆ อาจเกิดขึ้นจากเจตนายัดเยียดเพราะผลประโยชน์ก็มีเช่นกัน
๒.   การที่ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะอาการสำคัญของตัวเองได้ บอกเล่าอาการทุกอย่างที่รู้สึกว่าผิดปกติ (แม้แต่อาการเล็กๆ น้อยๆ) จนทำให้แพทย์ต้องจ่ายยาตามอาการ ทำให้ได้ยาหลายขนาน
๓.   การที่แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ จึงต้องรักษาแบบครอบคลุม (แบบเหวี่ยงแห?)

     เหตุผลทั้ง ๓ ข้อนี้คงเป็นประเด็นหลักๆ ที่ทำให้มีการใช้ยามากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของยา ยาตีกัน รวมถึงความสิ้นเปลืองจากการใช้ยามากเกินความจำเป็น
     ดังนั้น นอกจากแพทย์ผู้รักษาควรตระหนักและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ตัวผู้ป่วยเองก็ควรให้ความร่วมมือโดยมีคำแนะนำดังนี้
๑.  พยายามแยกแยะและอธิบายถึงความเจ็บป่วยที่เป็นอาการสำคัญจริงๆ อย่าบอกเหมือนบ่น เป็นโน่นเป็นนี่ สะเปะสะปะไปหมด บางครั้งถ้าแพทย์ขี้เกียจอธิบายหรือไม่มีเวลาแยกแยะให้ ก็จะจ่ายยาไปตามอาการ เลยได้ยามาหลายขนานจนเกินจำเป็น
๒.  ถ้าเคยไปพบแพทย์ท่านใดมาก่อนหน้าแล้ว ต้องบอกให้แพทย์อีกท่านทราบด้วยว่าได้ยาอะไรมาบ้าง และควรนำยานั้นไปให้แพทย์อีกท่านดูด้วย
๓.   เมื่อได้ยาอะไรมา (โดยเฉพาะถ้าได้หลายๆ ขนาน) ให้ถามว่า เป็นยาอะไร ใช้เพื่ออะไร มีผลข้างเคียงที่สำคัญอย่างไร และถ้าใช้ยาหลายอย่างขนาดนั้นฤทธิ์ยาจะตีกันหรือไม่
๔.   หากคิดว่าตนเองได้ยามากไป ให้ลองถามแพทย์ว่า พอจะตัดยาตัวใดออกไปได้บ้างหรือไม่ ขอเท่าที่จำเป็น อาจสอบถามเพิ่มเติมว่าหากใช้ยากับไม่ใช้ยาจะมีผลดีผลเสียต่างกันอย่างไร

      การพยายามใช้ยาเท่าที่จำเป็น เป็นสิ่งที่ควรตระหนักทั้งแพทย์และผู้ป่วย อย่าคิดแต่เพียงว่าใช้ยามากหรือหลายขนานแล้วจะดีเสมอไป ให้เดินสายกลาง เลือกใช้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย
     ทุกวันนี้เราอาจได้พบเห็นอยู่บ่อยๆ ว่า เวลาไม่สบายบางครั้งมีแค่อาการหวัดแต่ได้ยามา ๕-๖  ขนาน แล้วอย่างนี้หากมีโรคอย่างอื่นร่วมด้วย คงต้องได้หอบยากลับบ้านกันเป็นถุงใหญ่เลยทีเดียว
ลองนึกกันดูเล่นๆ ว่า อนาคตเราจะต้องใช้ยากันอย่างฟุ่มเฟือยขนาดไหน

 

ข้อมูลสื่อ

382-044
นิตยสารหมอชาวบ้าน 382
กุมภาพันธ์ 2554
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์