• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชมจันทร์ ไม้ประดับกินได้


 

ดอกชมจันทร์หรือดอกพระจันทร์ (Moonflower) เป็นดอกไม้ของไม้เลื้อยที่ถูกจัดไว้ในวงศ์ Convolvulaceae สกุล Ipomoea มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea alba L.
         ถิ่นกำเนิดของ “ชมจันทร์” อยู่ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ต่อมาถูกนำไปปลูกแพร่หลายทั้งพื้นที่เขตร้อนและเขตอบอุ่นของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย
         พืชสกุลนี้มีหลายร้อยชนิด บางชนิดปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น มอร์นิ่งกลอรี่ (Morning glory)
         บางชนิดปลูกเป็นทั้งไม้ประดับและใช้เป็นอาหาร เช่น ดอกตูมของต้นชมจันทร์
         ต้นชมจันทร์เป็นไม้เลื้อยที่มีอายุหลายปี (ปลูกเขตร้อน) แต่ถ้าปลูกเขตที่อากาศค่อนข้างหนาวมีการปลูกเป็นไม้ประดับปีต่อปี
         ความสูงของต้นชมจันทร์ขึ้นอยู่กับค้างที่ทำให้ยึดเกาะ ลักษณะต้นและใบคล้ายกันกับต้นมอร์นิ่งกลอรี คือมีใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวเข้ม
        ชมจันทร์ออกดอกบริเวณซอกก้านใบ ความยาวของดอกตูมประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของดอกบานประมาณ  ๑๑-๑๔ เซนติเมตร ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกทั้ง ๕ กลีบเชื่อมติดกัน ดอกจะบานตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงกลางคืน และจะหุบในตอนเช้า
         ผลของต้นชมจันทร์มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมขนาดเล็ก มีเมล็ดอยู่ภายใน ๒-๔ เมล็ด ใช้สำหรับการขยายพันธุ์
         ไม่เป็นที่ทราบอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยเริ่มมีการเพาะปลูกต้นชมจันทร์ตั้งแต่ครั้งใด โดยพบว่ามีปลูกบางพื้นที่ของภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการนำดอกตูมมากินเป็นอาหาร
         นอกจากนี้ มีการนำดอกตูมจำหน่ายในร้านผักปลอดสารพิษที่จังหวัดอุดรธานี โดยจำหน่ายร่วมกับผักปลอดสารพิษอื่นๆ เช่น ผักหวานบ้าน และเรียกดอกชมจันทร์ว่า ดอกไม้จีน ซึ่งโดยความจริงแล้วเป็นพืชคนละชนิดกันเลย  
         ปัจจุบัน ดอกชมจันทร์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สถานีวิจัยลำตะคอง (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้ทำการทดลองปลูกต้นชมจันทร์ โดยได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากแหล่งต่างๆ เพื่อพิจารณาถึงความแตกต่างหรือความแปรปรวนของสายพันธุ์ที่อาจจะมีอยู่บ้าง และจะทำการทดลองผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
         การกินดอกชมจันทร์ จะกินในลักษณะที่เหมือนการกินผัก เนื่องจากมีรสชาติหวานเล็กน้อย เช่น นำมาผัดกับน้ำมันหอย นำมาลวกสำหรับทำยำ หรือจิ้มกับน้ำพริก และยังสามารถใช้ประกอบอาหารอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีการกินดอกสด
         ดอกชมจันทร์มีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ บางคน (ถ้ากินมาก) อาจมีอาการคล้ายท้องเสียได้
สถานีวิจัยลำตะคองได้ส่งตัวอย่างดอกชมจันทร์ไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีรายงานคุณค่าทางโภชนการดังแสดงในตารางที่ ๑

ตารางที่ ๑. คุณค่าทางโภชนาการในแง่องค์ประกอบหลักของดอกชมจันทร์
 

รายการ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
น้ำ (%) ๙๐.๙๘ ๙๐.๙๔
คาร์โบไฮเดรต (%) ๓.๘๔ ๕.๕๓
โปรตีน (%) ๒.๔๗ ๑.๘๗
ไขมัน (%) ๐.๖๐ ๐.๑๔
เส้นใย (%) ๑.๐๘ ๐.๙๔
เถ้า (%) ๑.๐๓ ๐.๕๘

         นอกจากนี้ยังมีผลการวิเคราะห์ค่าพลังงาน แร่ธาตุและวิตามินต่างๆ โดยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารดังแสดงในตารางที่ ๒

    ตารางที่ ๒. คุณค่าทางโภชนาการในแง่พลังงาน และสารอาหารรองอื่นๆ ของดอกชมจันทร์ ๑๐๐ กรัม
 

รายการ ผลการวิเคราะห์    รายการ ผลการวิเคราะห์
พลังงาน (กิโลแคลอรี) ๓๔.๙๖ วิตามินบี ๑ (มิลลิกรัม) ๐.๐๔
แคลเซียม (มิลลิกรัม) ๒๒.๗๘ วิตามินบี ๒ (มิลลิกรัม) ๐.๐๕
ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) ๓๘.๔๒ วิตามินบี ๓ (มิลลิกรัม) ๑.๒๕
เหล็ก (มิลลิกรัม)    < ๐.๐๕ วิตามินซี (มิลลิกรัม) <๐.๙๐  
วิตามินเอ (g) ๑๓๖.๑๑ โคเอนไซม์คิว (มิลลิกรัม) <๐.๒๘

         ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วิเคราะห์ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ พบว่าน้ำที่คั้นได้จากดอกชมจันทร์มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง โดยสามารถทำปฏิกิริยายับยั้งอนุมูล DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) และอนุมูลไฮดรอกซิล (hydroxyl radical)
         นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์หาปริมาณของสารที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งได้แก่ ปริมาณฟีโนลิกทั้งหมด และปริมาณวิตามินซีของดอกชมจันทร์ ซึ่งมีค่าเท่ากับ ๐.๓๒ มิลลิกรัม Gallic acid equivalent/๑๐๐ กรัม และ ๐.๙๘ มิลลิกรัม/@๑๐๐ กรัม ตามลำดับ   
         เนื่องจากมีคนกินดอกชมจันทร์แล้วมีอาการขับถ่ายง่ายคล้ายกับท้องเสีย จึงทำให้บางคนยังมีความวิตกกังวลว่า ดอกชมจันทร์นั้นปลอดภัยต่อการกินหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาเรื่องการขับถ่ายนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับดอกชมจันทร์โดยเฉพาะเท่านั้น เช่น มีผู้ที่มีอาการถ่ายง่ายคล้ายท้องเสียเมื่อกินผักตำลึง ดังนั้น จึงไม่อาจด่วนสรุปว่าดอกชมจันทร์เป็นสาเหตุทำให้ท้องเสีย ทั้งนี้คงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
         อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากคุณค่าทางโภชนาการของดอกชมจันทร์แล้ว ก็ไม่ได้มีสารอาหารใดโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ก็เป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ และสามารถนำมากินได้ และยังจัดว่าเป็นผักปลอดสารพิษ เพราะไม่ค่อยมีแมลงศัตรูพืชมารบกวน จึงไม่ต้องฉีดสารกำจัดแมลง
 

ข้อมูลสื่อ

381-030
นิตยสารหมอชาวบ้าน 381
มกราคม 2554
บทความพิเศษ