• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญหาการนอนหลับ ในทัศนะแพทย์แผนจีน (睡觉问题在中医的观点) ตอนที่ ๑

คนทั่วไปไม่เข้าใจความสำคัญของการนอนหลับ มองว่าการนอนหลับเป็นเรื่องปกติ ง่วงเมื่อไหร่ก็นอน ช่วงไหนมีงานมาก ใกล้สอบ งานเร่ง ต้องอดนอนทำงานให้เสร็จ ค่อยไปนอนชดเชยภายหลัง ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน
          แต่การนอนหลับจะกลายเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดนอนหลับยากขึ้นมา อยากจะหลับก็ไม่หลับ ต้องอาศัยยานอนหลับ จนขาดยาไม่ได้ บางครั้งได้ยานอนหลับ หลับไปได้ทั้งคืน พอตื่นนอน รู้สึกไม่ค่อยสดชื่น ไม่มีชีวิตชีวา เซื่องซึม รบกวนการทำงาน ครั้นจะหยุดยานอนหลับ ก็กลัวจะนอนไม่หลับ
          บางคนมีปัญหาอยากจะนอนหลับตลอดเวลา เรียกว่าเผลอนั่งที่ไหน พอหันกลับมาอีกทีหลับไปเสียแล้ว ระหว่างขับรถพอรถติดไฟแดง มักจะเผลอหลับไป ตกใจตื่นอีกทีเมื่อมีรถที่ตามมาข้างหลังบีบแตรไล่ ทำให้ไม่กล้าขับรถ ทั้งปัญหานอนไม่หลับกับปัญหาง่วงหลับตลอดเวลา เป็นปัญหาใหญ่ที่รบกวนการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข รวมถึงมีผลร้ายต่อสุขภาพอย่างมาก
   
ทำไมจึงต้องนอนหลับ
          การแพทย์แผนจีนมองการนอนหลับอย่างไร
          เนื่องจากร่างกายของคนเรามีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยการขับเคลื่อนของพลังลมปราณ (ชี่) การเคลื่อนไหวภายนอกขณะตื่นนอนอยู่  เป็นการแสดงออกของพลังลมปราณที่อยู่รอบนอกที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันปัจจัยก่อโรคที่กระทำจากภายนอก เรียกพลังปกป้องนี้ว่า พลังเว่ยชี่
          พลังเว่ยชี่ (卫气)  คือพลังหยางที่อยู่ภายนอก จะเคลื่อนไหวในช่วงกลางวันและช่วงตื่นนอน เมื่อตกกลางคืนพลังเว่ยชี่จะเคลื่อนที่กลับสู่ภายในร่างกาย เข้าสู่เส้นลมปราณยิน คือเข้าสู่อวัยวะภายในเป็นหยิงชี่ (营气) ถ้าพลังเว่ยชี่กลับสู่ภายในมากที่สุด ร่างกายก็จะหลับสนิท มากที่สุด ถ้าเมื่อใดพลังเว่ยชี่ออกจากเส้นลมปราณยิน คนก็จะตื่นนอนหรือหลับไม่สนิท
          การนอนหลับจึงถูกกำหนดจากความเปลี่ยนแปลงของความมืดสว่างของกลางวัน กลางคืน ที่กำหนดภาวะพลังเว่ยชี่ออกสู่ภายนอกหรือเข้าสู่ภายในร่างกาย การนอนหลับที่ละเมิดกฎเกณฑ์ธรรมชาติเช่นนี้นานๆ จะทำให้สมดุลของการเคลื่อนไหวของเว่ยชี่ผิดเพี้ยน และรบกวนการนอนหลับที่ดีในระยะยาว
          คนที่กลางวันมีชีวิตชีวา กลางคืนง่วงนอนจึงเป็นภาวะปกติ
          คนสูงอายุ เลือดและพลังพร่อง กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ทางเดินลมปราณของชี่ แห้ง ตีบตัน พลังหยวนชี่ไม่พอ (การเก็บสำรองพลังที่ไตน้อยลง) กลางวันจึงไม่มีพลัง ขาดชีวิตชีวา อยากจะนอนหลับ แต่พอตกกลางคืนพลังและสารจิงกลับไม่พอ (กลางวันไม่เก็บรับพลังหยาง ก็ไม่สามารถสร้างสารจิงได้พอเพียง บวกกับภาวะเสื่อมถอยของไต) ทำให้คนอายุมาก มีปัญหาการนอนหลับที่กลับกันกับธรรมชาติ นอกจากจะสะท้อนภาวะสุขภาพที่ไม่ดีแล้ว ยังเป็นวงจรการนอนหลับที่ไม่เป็นผลดีกับร่างกาย

ปัญหาการนอนไม่หลับเกิดจากอะไร

          กล่าวโดยภาพรวม สามารถจำแนกเป็นหลายสาเหตุ
          ๑. ภาวะหัวใจและไตไม่ประสาน (心肾不交)
          เนื่องจากภาวะสังคม อาชีพ การงาน วิถีชีวิตเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียสมดุลแบบนี้ จึงเป็นการนอนหลับที่พบบ่อย เวลากลางคืนอยากจะหลับก็ไม่หลับ ดังนั้นเวลาทำงานตอนเช้าจะรู้สึกอ่อนล้า ไม่มีชีวิตชีวา
          ไตควบคุมน้ำ ต้องสามารถให้น้ำ (ความเย็น) ไปหัวใจ เพื่อไม่ให้ไฟของหัวใจมากเกินไป ในขณะเดียวกัน หัวใจกำเนิดไฟต้องมีความร้อนมากพอมาควบคุมไต หรือน้ำไม่ให้มากเกินไป
          การนอนดึกและการนอนไม่หลับนานๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้เกิดภาวะที่ยินของไตน้อยลง ทำให้ความร้อนหรือไฟของหัวใจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงจื่อสื่อ (子时) คือ ๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น. ที่คนควรจะเข้านอน เพื่อสะสมพลังหยางและเก็บสะสมยินไปพร้อมๆ กัน
          การรักษาภาวะนอนไม่หลับแบบนี้ เป็นเรื่องที่ยากและสลับซับซ้อนในปัจจุบัน เพราะเป็นปัญหาความเสียสมดุลเรื้อรังและเรื่องของวิถีชีวิต อาชีพการงานและภาวะทางสังคมที่เกี่ยวโยงกัน
         ๒. ภาวะเลือดหัวใจพร่อง (心血虚)
         คนที่มีภาวะเลือดพร่อง ร่วมด้วยภาวะเลือดจาง ก็เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับได้ เพราะการนอนหลับก็ต้องอาศัยเลือดและพลังที่เพียงพอไปเลี้ยงสมอง
         การสร้างเลือดในศาสตร์แพทย์แผนจีน เกี่ยวข้องกับอวัยวะม้ามและกระเพาะอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการย่อยและดูดซึมอาหาร การทำงานที่มีประสิทธิภาพของม้ามและกระเพาะอาหาร รวมทั้งการกินอาหารถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
         ภาวะการทำงานใช้ความคิดมากเกินควร กลับจากที่ทำงาน ยังต้องมีปัญหามาขบคิดต่อที่บ้าน ความเครียดแรงกดดันจากการแข่งขันในทางการเรียน การงาน เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้สูญเสียพลังจากการคิดอย่างต่อเนื่องโดยไม่การหยุดคิด (แม้ขณะจะนอนหรือระหว่างนอนหลับ) ทำให้สมองไม่ได้หยุดพัก พลังไม่ได้หยุดใช้ นานวันเข้าเท่ากับสมองขาดเลือดต่อเนื่องนั่นเอง (ใช้มากเกิน)
        ภาวะความเครียดยังมีผลโดยตรงต่อระบบย่อยอาหารและการดูดซึม คือ บางคนเครียดแล้วเบื่ออาหาร ยิ่งทำให้การสร้างเลือดมีประสิทธิภาพน้อยลงอีก
       กระเพาะอาหารกำกับเลือด (胃主血) จะบำรุงเลือด ต้องดูแลรักษาระบบกระเพาะอาหารและม้าม เลือดไม่พอสมองก็ขาดเลือดพลังไปหล่อเลี้ยง ทำให้นอนไม่หลับ
       ๓. กินอิ่มเกินไป
      การนอนหลับต้องอาศัยพลังส่วนหนึ่งมาช่วย ขณะเดียวกันการย่อยและการดูดซึมอาหาร ก็ต้องอาศัยพลังส่วนหนึ่งเหมือนกัน
      การกินอาหารมื้อดึกมากเกินไป หรือดึกเกินไป ต้องใช้พลังจากจงเจียว (中焦) ทำให้พลังถูกดึงมารวมที่บริเวณจงเจียว หรือถูกกักขังไว้เพื่อการย่อยและจะดูดซึมอาหาร พลังที่จะไปเลี้ยงสมองก็จะลดน้อยลง เรียกว่า หยางชี่ ไม่สามารถขึ้นสู่เบื้องบนได้ (阳气不升) สมองก็จะขาดพลังและเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้นอนไม่หลับ
      ภูมิปัญญาจีนโบราณ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ กล่าวเรื่องราวของการกินไว้อย่างพิถีพิถัน เช่น
-    หลังเที่ยงไม่กินอาหาร (过午不食) ซึ่งหมายถึงการกินอาหาร ๒ มื้อ
    กินตอนเช้า ๘-๙  โมง
    กินตอนเย็น ๔-๕  โมง
    ย้ำเน้นว่ากลางดึก ไม่ควรกินอาหารเพิ่มเติม เพราะการย่อยดูดซึมอาหารไม่ดี
-    กินอาหารควรกินอิ่มร้อยละ ๗๐-๘๐ (七八分饱)
-    กินอาหารเย็นแล้ว ควรเดินเล่น ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยให้อาหารย่อยดีขึ้น และจะเสริมสิทธิภาพการนอนหลับให้ดีขึ้น 
   
สรุป
-    พระอาทิตย์ขึ้น ควรจะต้องตื่นทำงาน
พระอาทิตย์ตกควรจะพักผ่อนนอนหลับ (日出而作,日落而息)
-    กลางคืนต้องนอนหลับ เพื่อเก็บสะสมยิน ถนอมการสูญเสียหยาง เพื่อให้มีหยางเพียงพอในช่วงกลางวันให้มีมากที่สุด (用夜晚的明来养白天之阳)
-    การที่กลางวันมีหยางและจิงสะสมมากเพียงพอ จะทำให้เกิดพลัง มีชีวิตชีวาในการทำงานตอนเช้า
-    การนอนหลับ จึงเป็นศาสตร์ภูมิปัญญาและศิลปะที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับภาวะธรรมชาติ และพยายามนำไปปรับใช้ให้ได้
-    การนอนไม่หลับ มีทั้งภาวะธรรมดา ชั่วคราว ไม่ซับซ้อน จนถึงภาวะซับซ้อน ที่ต้องเข้าใจและแก้ไขระบบคิด สภาพการทำงาน ไม่ใช่เรื่องของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงฝ่ายเดียว
-    การนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพ เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม เป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพที่ดี และจับต้องได้
 

ข้อมูลสื่อ

383-034
นิตยสารหมอชาวบ้าน 383
มีนาคม 2554
แพทย์แผนจีน