• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บอกเล่าเก้าสิบ

                                           สุข-ทุกข์ อยู่ที่มุมมอง

“เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต”
“Change your thinking, change your life”


     นั่นคือคำขวัญบนปกหนังสือชื่อ “Mind power” ซึ่งเขียนโดย James Borg นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ
     หนังสือเล่มนี้ได้ตอกย้ำความสำคัญของความคิดของคนเราว่าเป็นตัวกำหนดการรับรู้และการแปลความในสิ่งที่รับรู้ต่างๆ แล้วทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำ (ทั้งทางใจและกาย) ตามมา เมื่อเกิดซ้ำๆ ก็กลายเป็นนิสัยสันดาน บุคลิกภาพ หรือเรียกรวมๆ ว่า “ชีวิต” ของคนๆ นั้น จึงกล่าวได้ว่า
     “คุณเป็นอย่างที่คุณคิด”
     “You are what you think”
     “ความคิด (thinking)” ในที่นี้หมายถึง การรับรู้ของเราที่สั่งสมมาแต่อดีต ตั้งแต่จำความได้ ประกอบด้วยความรู้ ความเชื่อ ความเคยชิน ค่านิยม (การให้คุณค่าว่าอะไรดี อะไรสำคัญ) ซึ่งตรงกับคำว่า “สัญญา” หรือ “การจำได้หมายรู้” ในทางพุทธศาสนาของเรานั่นเอง
“ความคิด” ของคนเรานั้น สั่งสมมาจากประสบการณ์ และการเรียนรู้ การอบรมบ่มเพาะของพ่อแม่ มาจากอิทธิพลของครอบครัว โรงเรียน สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ จนกลายเป็น “ทัศนคติ” หรือ “มุมมอง” ของคนๆ นั้น
     ในแต่ละวันเมื่อมีการรับรู้ครั้งใหม่แต่ละครั้ง (เช่น การเห็นภาพ การได้ยิน การสัมผัส การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น) ก็จะใช้ “มุมมอง” ของตนอันนั้นไปตีความหรือแปลความ (ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร ว่า ถูก-ผิด ดี-ไม่ดี ชอบ-ไม่ชอบ พอใจ–ไม่พอใจ ถูกใจ-ไม่ถูกใจ) แล้วก็เกิดอารมณ์ความรู้สึก และการกระทำในการตอบสนอง หรือตอบโต้ต่อสิ่งที่รับรู้นั้นๆ
     “มุมมอง” (“ทัศนคติ”) อันมีความคิดที่สั่งสมอยู่เบื้องหลังนั้นเปรียบเสมือนแว่นตาที่ใช้มอง ซึ่งมีสีสันต่างๆ เราจะเห็นโลกภายนอกเป็นสีอะไร ก็ย่อมขึ้นกับสีของแว่นที่เราใส่มอง
     จากธรรมชาติของสมองของคนเราที่วิวัฒนาการมานับล้านปี ทำให้คนเราคิดเก่ง คิดได้วันละ ๖๐,๐๐๐–๘๐,๐๐๐ เรื่อง และกว่าครึ่งหนึ่งจะคิดในแง่ลบ (คิดกลัว กังวล เสียใจ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ) ทำให้เกิดอารมณ์ที่เป็นลบ เช่น วิตกกังวล เบื่อ เซ็ง ซึมเศร้า โกรธเคือง เครียด เป็นต้น ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และพฤติกรรมที่มีลักษณะที่เป็นลบตามมา นำมาซึ่งชีวิตที่เป็นทุกข์
     หนังสือเล่มนี้ได้ตอกย้ำว่า “จงควบคุมความคิด อย่าให้ความคิดควบคุมเรา” โดยการมีสติ ตามดูรู้ทันความคิด เฝ้าสังเกตมัน และแยกตัวเองออกห่างจากมัน ก็จะทำให้เรามีเวลาไตร่ตรองด้วยเหตุผล ไม่ทำตามมันอย่างอัตโนมัติ ตามความเคยชินเดิมๆ
     เมื่อความคิด (มุมมอง) เปลี่ยน อารมณ์ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนไป ส่งผลให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ที่เป็นคุณต่อสุขภาพกายและใจ นำมาซึ่งชีวิตที่สงบสุข
     ผมมีความเห็นต่อยอดจากข้อสรุปข้างต้นว่า ความคิด (มุมมอง) จะเปลี่ยนได้ จะต้องผ่านกระบวนการฝึกบริหารจิตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยการเจริญสติและสร้างความตื่นรู้ในชีวิตประจำวัน จนสามารถลดละความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา (ตัวตน) ซึ่งเป็น “จิตเล็ก” อันเป็น “มุมมอง” ที่แคบและหลงผิด และเป็นต้นตอของความทุกข์ ให้รู้จักปล่อยวางด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ ซึ่งเป็น “จิตใหญ่” อันเป็น “มุมมอง” ที่กว้าง และมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับให้เหมาะกับสถานการณ์แต่ละครั้งที่ต้องเผชิญได้ และเป็นต้นตอของความสุข
     มีคนรู้จักท่านหนึ่ง สนใจบริหารจิตด้วยการสวดมนต์และนั่งสมาธิเป็นประจำ และชอบขี่จักรยานที่สวนสุขภาพในวันหยุดสุดสัปดาห์ ท่านเล่าว่า เช้าวันหนึ่ง ขี่จักรยานในสวนสุขภาพ รอบแรกเจอเด็กๆ เล่นจักรยานกีดขวางทาง ทำให้ตัวเองเกือบขี่ชนเด็ก รู้สึกโมโหอยู่ในใจ
     เมื่อผ่านมาเจอรอบที่สอง เด็กๆ ก็ยังเล่นจักรยานขวางทางอยู่เหมือนเดิม คราวนี้พลอยรู้สึกโมโหพ่อแม่เด็ก ว่าทำไมไม่รู้จักดูแลลูก จนเกือบจะตะโกนด่าออกไป เมื่อผ่านพ้นไปสักครู่ ก็มีสติได้คิดว่า เด็กเล่นซนนั้นเป็นธรรมชาติที่ไร้เดียงสาของเด็ก ส่วนพ่อแม่ก็อาจไม่สามารถดูแลลูกๆ ได้ทั่ว จึงคลายอารมณ์โมโหลง
     เมื่อผ่านมาเจอรอบที่สาม ตัวเองก็มีหน้าที่คอยระมัดระวัง ชะลอรถ ขี่หลบหลีกเด็กๆ ไปอย่างสบายใจ ไม่มีอารมณ์โมโหอย่าง ๒ รอบที่ผ่านมา
     ผมตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “วน ๓ รอบ คิด ๓ แบบ ใจ ๓ อย่าง”
     ผมให้หลักง่ายๆ ว่า ทุกครั้งที่มีการรับรู้แล้วเกิดอารมณ์ลบ (กรุ่นๆ หนักอกหนักใจ คิดไม่ตก คิดวน เห็นแต่ความมืดมนอนธการ) ก็ขอให้หันมาตั้งสติเปลี่ยน “มุมมอง” ใหม่ดู ก็จะเห็นทางสว่าง และหาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสมได้เสมอ
     ท้ายที่สุดนี้ ก็ฝากบทกวีเรื่อง “ทุกครั้งต้องมองให้ตรง”


ทุกครั้งต้องมองให้ตรง
  มุมมองของสำคัญ    ดันมองผิดจิตเป็นทุกข์
มองถูกก็เป็นสุข        ทุกครั้งต้องมองให้ตรง

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
๑๒ ก.พ. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๓๐ น.
เดือนแห่งวันมาฆบูชา

 

ข้อมูลสื่อ

383-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 383
มีนาคม 2554
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ