• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษา (ทั้ง) คน (ทั้ง) ไข้

การรักษาพยาบาลจะได้ผลดี  นอกจากแพทย์ พยาบาล และทีมงานที่ร่วมดูแลคนไข้จะวินิจฉัยโรค ให้การรักษาพยาบาลถูกต้องแล้ว ยังต้องรู้จักตัวตนของคนไข้ด้วย

สัมผัสเยียวยาคน
        คุณหมอท่านหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งเห็นคนไข้ที่เป็นอัมพาตทั้งตัว (แขนและขาอ่อนแรงทั้ง ๒ ข้าง) มาทำกายภาพบำบัด โดยคนไข้นั่งบนรถเข็น คุณหมอเพิ่งพบคนไข้เป็นครั้งแรก จึงทักทายและใช้มือซ้ายบีบไหล่คนไข้เบาๆ ปรากฏว่าคนไข้น้ำตาซึม
        “เจ็บหรือป้า หมอขอโทษ”
        “ไม่เจ็บค่ะ แต่ดีใจที่คุณหมอจับตัว มารักษากับคุณหมอที่โรงพยาบาลมาหลายปี คุณหมอไม่เคยจับตัว”
        คุณป้าวัยกว่า ๖๐ ปี เป็นอัมพาตทั้งตัวมาหลายปี อาการมีแต่ทรงกับทรุด ทั้งๆ ที่คนไข้กินยาตามที่หมอสั่งทุกอย่าง และมาตรวจตามที่หมอนัดทุกครั้ง
        ระยะ ๒-๓ ปีหลัง เมื่อมาตามนัด หมอจะดูผลการเจาะเลือดและปรับยาตามผลการตรวจเลือด บางครั้งหมอจะถามอาการ แต่ไม่เคยตรวจร่างกายหรือสัมผัสตัวคนไข้
        เมื่อคุยกันสักพักคุณหมอท่านนี้ได้ทราบว่าสิ่งที่คนไข้อยากทำได้คือนั่งกินข้าวได้เอง  คนไข้บอกว่าเกรงใจลูกชายที่ต้องคอยป้อนข้าวให้ทุกมื้อ
        เมื่อคุณหมอตรวจพบว่าคนไข้นั่งทรงตัวได้ไม่ดี เมื่อพยายามโน้มตัวมาข้างหน้า ศีรษะคนไข้จะคะมำ ทำให้กลัวตกรถเข็น อีกประการหนึ่งคนไข้มีพยาธิสภาพในสมอง ทำให้มือสั่น ไม่สามารถจับช้อนให้นิ่งได้
        คุณหมอให้ลูกชายกอดตัวคนไข้จนหลังคนไข้ชิดพนักพิงรถเข็น เพื่อให้คนไข้นั่งได้อย่างมั่นคง นำโต๊ะเสิร์ฟอาหารมาเทียบ 
        คุณหมอให้คนไข้จับช้อนตักเข้าปาก ปรากฏว่ามือสั่นมาก แต่เมื่อคุณหมอจับที่ข้อมือคนไข้เพื่อเพิ่มแรงต้าน ปรากฏว่ามือคนไข้สั่นน้อยลง
        คุณหมอประยุกต์ความรู้ทางการแพทย์ กล่าวคือ คนไข้ที่เป็นโรคนี้ มือจะสั่นน้อยลง ถ้าท่านั่งมั่นคง หยิบของที่ใกล้กลางลำตัวมากที่สุด และเพิ่มน้ำหนักที่แขน
        เมื่อคนไข้และลูกชายเข้าใจ จึงกลับไปฝึกที่บ้าน โดยใช้ผ้ารัดตัวคนไข้ให้ติดพนักรถเข็น  ซื้อสายข้อมือซึ่งเย็บด้วยหนังภายในบรรจุทราย ใช้พันข้อมือคนไข้เวลากินข้าว ผลปรากฏว่า คนไข้สามารถตักข้าวเข้าปากได้เอง
        การที่คนไข้สามารถกินข้าวได้เอง ไม่เพียงแต่ลดภาระของผู้ดูแล แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนไข้มีสุขภาพจิตดีขึ้นมาก มีกำลังใจในการฝึกกิจกรรมอื่นต่อไป ชีวิตกลับมามีความหวังอีกครั้งหนึ่ง
        คุณหมอต้องการให้คนไข้ฝึกยืน เพราะการยืนเป็นการปรับสมดุลของร่างกายที่ดี ทำให้การทำงานของหัวใจ ปอด และหลอดเลือดดีขึ้น ลดอาการวิงเวียนหน้ามืดเมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่งหรือท่ายืน การยืนลดการทำลายเนื้อกระดูก ป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุน
        เมื่อคนไข้มาโรงพยาบาล นักกายภาพบำบัดจะให้ฝึกยืนบนเตียงฝึกยืน (Tilt table) ปัญหาคือลูกชายต้องพาคนไข้มาโรงพยาบาลทุกวัน เพื่อฝึกยืน ๓๐ นาที  
        คุณหมอปรึกษากับลูกชาย ถ้าจะฝึกยืนที่บ้าน ซึ่งสามารถฝึกได้วันละหลายครั้ง ญาติควรซื้อเตียงฝึกยืนไปใช้ เตียงอย่างดีเป็นระบบไฮโดรลิกราคาเป็นแสน ถ้าระบบมือหมุนอย่างถูกราคา ๒-๓ หมื่นบาท
        “ถ้าไม่อยากเสียเงินมาก หาช่างทำเองตามแบบก็ได้” คุณหมอแนะนำ
        เกิดนวัตกรรมจากลูกชายที่ทำเพื่อคุณแม่ เขาปรับรถเข็นผักที่หาซื้อตามท้องตลาด ทำเป็นเตียงฝึกยืน เพื่อให้คุณแม่ฝึกยืน ปรากฏว่าสามารถใช้แทนเตียงฝึกยืนได้
        การใช้ยา การผ่าตัด การบำบัดโดยใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี มีคุณค่าในการรักษาไข้  แต่สัมผัสจากมือหมอ มีคุณค่าในการเยียวยาคน

คนเข้าใจ ยาได้ผล
        เภสัชกรจากโรงพยาบาลในภาคใต้แห่งหนึ่ง ซึ่งทำงานกับชาวมุสลิมที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งหากผู้ให้บริการไม่เข้าใจในเรื่องการให้ยา คนไข้อาจไม่หายจากโรค
        ชาวมุสลิมไม่ดื่มสุรา ยาน้ำบางอย่างมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เมื่อได้ยาไป คนไข้จะไม่กิน เภสัชกรต้องอธิบายว่าเป็นยาไม่ใช่เครื่องดื่ม ซึ่งคนไข้มีทั้งที่เชื่อและไม่เชื่อ โรงพยาบาลจึงต้องเปลี่ยนเป็นยาเม็ด
        ยาที่บรรจุในแคปซูล บางคนเชื่อว่าแคปซูลทำจากหนังหมู จึงแกะแคปซูลออก กินแต่เนื้อยา เภสัชกรจึงต้องพยายามหารูปแบบยาที่เป็นเม็ดมาใช้
        ในเดือนที่ถือศีลอด (รอมฎอน) ซึ่งคนไข้จะดื่มน้ำ กินอาหาร และยาได้ หลังดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงตี ๕ คนไข้โรคเรื้อรังที่ต้องกินยาเป็นประจำ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องปรับวิธีให้ยาในช่วงนี้ มิฉะนั้นคนไข้อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ ทำให้เกิดอันตรายได้
        การให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งต้องรักษาระดับความเข้มข้นในกระแสโลหิตให้คงที่ที่สุด เพื่อประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อโรค ในเดือนที่ถือศีลอด เภสัชกรและคนไข้ต้องร่วมกันปรับรูปแบบยาและการให้ยาที่เหมาะสม
        กินยาต้องงดของแสลง เช่น ผลไม้ประเภทแตงโม ทุเรียน ลองกอง เงาะ บางชุมชนมีความเชื่อว่า ถ้ากินของแสลงร่วมกับยาจะทำให้เมา บางครั้งอาการรุนแรงทำให้ตายได้
        คนไข้จึงต้องเลือกระหว่างกินยาแต่งดผลไม้ หรือกินผลไม้แต่ไม่กินยา เภสัชกรต้องสร้างความมั่นใจ โดยแสดงให้คนไข้เห็นว่าถ้ากินต่างเวลากันเพียง ๑ ชั่วโมง ยากับผลไม้จะไม่มีโอกาสพบกันในร่างกาย
บางครั้งเกิดเรื่องที่คาดไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น 
•    การกินยาก่อนหรือหลังอาหาร คำว่าอาหารชาวบ้านบางชุมชนหมายถึงข้าว มื้อไหนกินก๋วยเตี๋ยวไม่นับเป็นอาหาร คนไข้จะไม่กินยา
•    การกินยาก่อนนอน คนไข้บางคนอยู่บ้านนอนวันละหลายครั้ง จึงกินยาก่อนนอนทุกครั้ง ทำให้หลับเกือบทั้งวัน ไม่ต้องทำกิจกรรมอื่น เภสัชกรต้องทำความเข้าใจว่า คำว่านอนในซองยาหมายถึง เวลานอนกลางคืนเท่านั้น และให้กินยาเพียงวันละครั้งเดียว
•    ยาที่ต้องเคี้ยวก่อนกลืน ปรากฏว่าผู้สูงอายุบางคนไม่มีฟัน เคี้ยวยาลำบาก กินยาไม่ได้ บางคนต้องเอาเม็ดยาไปตำ
•    ยาที่ใช้เหน็บช่องคลอด บางครั้งเภสัชกรอธิบายอ้อมค้อม คนไข้บางรายไม่เข้าใจ เอายาไปอมในปาก จนคุณหมอสงสัยว่าทำไมจึงตกขาวเรื้อรังรักษาไม่หาย จึงทราบว่าอมยาไปหลายชุดแล้ว
     บางครั้งเมื่อให้ยาแล้วไม่ได้ผล ไม่ใช่เกิดจากหมอให้ยาไม่ตรงกับโรค แต่คนไข้อาจใช้ยาไม่ถูกต้อง

การดูแลอย่างเป็นองค์รวม

        คนไข้เมื่อมาหาหมอ เขามิได้นำมาแต่ความเจ็บไข้ แต่เขานำตัวตนของเขามาด้วย 
        ตัวตนของคน มีความสัมพันธ์กับคนอื่นในฐานะพ่อ แม่ ลูก ครู ชาวไร่ ชาวนา ผู้นำชาวบ้าน เจ้านาย ลูกน้อง หรือคนไร้ญาติ
       คนมีวิถีชีวิต ซึ่งขึ้นกับอาชีพ เศรษฐฐานะ ศรัทธา ความเชื่อ วัฒนธรรม อาชีพและกระแสสังคม
        ที่สำคัญ คนมีความคิด มีความรู้สึกเฉพาะตัว ที่คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ 
        การรักษาเฉพาะพยาธิสภาพของโรคอย่างเดียว จึงอาจไม่ได้ผลดี ถ้าไม่เข้าใจความเป็นคนหรือองค์รวมของคนไข้
 

ข้อมูลสื่อ

381-060
นิตยสารหมอชาวบ้าน 381
มกราคม 2554
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์