• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สวรส. ชูแนวทางแก้ปัญหาแม่วัยกระเตาะ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยผลงานวิจัยของพยาบาลจากโคราช พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือมารดาวัยรุ่นทดลองใช้แล้วได้ผลดี หวังเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาแม่วัยรุ่นทั่วประเทศ
        นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า น่าเป็นห่วงที่ปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับการทำแท้งและปัญหาแม่วัยรุ่นที่ไม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเองและบุตร ซึ่งสถานบริการสาธารณสุขจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านี้
        จากผลงานวิจัยเรื่อง ารพัฒนาระบบการดูแลมารดาวัยรุ่น โดย น.ส.มณีรัตน์ สุดโต พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คลินิกสุขภาพประจำครอบครัว โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมโครงการ “จากงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R)” ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นผู้จัดประกวดขึ้น สะท้อนปัญหาลักษณะเดียวกันได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ จากข้อมูลการบริการที่แผนกฝากครรภ์โรงพยาบาลสูงเนิน ในปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๒  พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๑๗ ปี เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๒ มีจำนวนถึง ๗๘  ราย หรือร้อยละ ๑๖.๗ ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดที่เข้ารับบริการ และพบมารดาวัยรุ่นอายุน้อยที่สุด ๑๓ ปี 
        ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ยังระบุอีกว่า หลังคลอดพบว่าส่วนใหญ่มารดาวัยรุ่นไม่ได้เลี้ยงลูกเอง แต่ให้มารดาของตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่บางรายต้องเลิกกับสามี ต้องหยุดการเรียน และไม่คุมกำเนิดหลังคลอด อีกทั้งยังมีปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา เช่น การที่ครอบครัวต้องรู้สึกอับอายจนอยู่ในชุมชนลำบาก
         อีกจุดที่สำคัญคือ ทีมเจ้าหน้าที่แผนกห้องคลอดที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยลดความกังวลขณะคลอดให้แก่มารดาวัยรุ่น ทำให้การคลอดเป็นไปด้วยดีและปลอดภัย และผลจากการติดตามเยี่ยมหลังคลอดในชุมชน พบว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ของมารดาวัยรุ่นหลังคลอดสามารถเลี้ยงลูกเองได้ถูกต้องตามคำแนะนำ เลี้ยงลูกเป็น มีความรักผูกพันและไม่ทอดทิ้งบุตร มีการวางแผนครอบครัว วางแผนศึกษาต่อ สามารถปรับตัวอยู่ได้ในชุมชน ครอบครัวยอมรับและมีส่วนร่วมในการดูแลบุตรอย่างเต็มที่
        น.ส.มณีรัตน์ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ขยายผลไปยังตำบลต่างๆ ในอำเภอสูงเนิน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก อบต. สถานีอนามัย โรงเรียน ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อโดยชุมชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังดูแลให้มารดาวัยรุ่นได้เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่ถูกต้องและปลอดภัย
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อาจใช้เป็นแนวทางสำหรับสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ ทั่วประเทศในการร่วมแก้ปัญหาสังคมที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลและรับผิดชอบให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แทนที่จะโยนบาปให้แก่มารดาวัยรุ่นเพียงลำพัง
 

ข้อมูลสื่อ

380-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 380
ธันวาคม 2553
กองบรรณาธิการ