• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะบำบัด บทที่ ๔

โยคะบำบัด บทที่ ๔
กวี คงภักดีพงษ์  สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

เทคนิคโยคะอื่นๆ อนามัยในช่องคอและจมูก
พรหมมุทรา
ที่เรียกชื่อพรหมมุทราเพราะเทคนิคนี้หันหน้าไป ๔ ทิศ คล้ายพระพรหมผู้มี ๔ เศียร หนึ่งในตรีเทพของศาสนาฮินดู ในการฝึก เราค่อยๆ เงยศีรษะไปด้านหลังช้าๆ จนสุด สายตาจ้องที่ปลายจมูก ขบฟันบนฟันล่างไว้ด้วยกัน ผ่อนคลายศีรษะ ค้างไว้ราว ๓ วินาที จากนั้นยกศีรษะกลับ ค่อยๆลดศีรษะลงจนคางจรดหน้าอก สายตาจ้องตรงหว่างคิ้ว ขบฟัน ค้างไว้สัก ๓ วินาที คืนศีรษะกลับ ค่อยๆ หันหน้าไปทางขวาจนสุด ศีรษะหันไปตรงๆ อยู่เหนือไหล่ ไม่ก้มศีรษะ สายตามองไปสุดทางด้านขวา ค้างไว้ ๓ วินาที คืนกลับ และหันไปทางซ้ายในลักษณะเดียวกัน  คางอยู่เหนือไหล่ซ้าย สายตามองสุดไปทางซ้าย ค้างไว้ ๓ วินาที แล้วคืนกลับ เป็น ๑ รอบของพรหมมุทรา เริ่มต้นด้วยการทำครั้งละ ๓ รอบ ผู้ใดชอบ สามารถทำได้สูงสุดถึง ๖ รอบ เป็นเทคนิคที่สามารถทำได้ทุกวัน

พรหมมุทราไม่เพียงพัฒนากล้ามเนื้อคอ ยังช่วยคลายการกระจุกตัวของอวัยวะทั่วบริเวณคอ ทำให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงทั่วบริเวณนี้ได้ดีขึ้น โดยสรุป เนติ กะปาละภาติ และ ชิวหาพันธะ     สิงหะมุทรา และพรหมมุทรา เป็นการดูแลอาการที่บริเวณหู คอ จมูก ได้เป็นอย่างดี
อนามัยของระบบย่อยอาหาร
โยคะมีเทคนิคเพื่อการชำระและปรับสภาพของกระเพาะอาหาร ได้แก่
๑) ตันตะ เดาติ เป็นการล้างกระเพาะอาหารด้วยสายยาง
๒) วาสตระ เดาติ เป็นการทำความสะอาด และนวดผนังกระเพาะอาหาร ด้วยผ้า
๓) วามัน เดาติ เป็นการตั้งใจอาเจียน
๔) คชกรณี หรือ กุญชรกริยา เป็นการขับของเสีย ออกจากกระเพาะอาหาร

เทคนิคเหล่านี้ใช้ได้กับระบบทางเดินอาหาร  และระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หอบหืด ฯลฯ การชำระทางเดินอาหารนี้ มีผลต่อกลไกตอบสนอง reflex ของระบบหายใจที่ทำหน้าที่หลั่งเมือกต่างๆ รวม  ทั้งการขับเสมหะด้วย ทั้งยังพบว่า ในบรรดาโรคทางเดิน ระบบหายใจ มักจะมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะหลั่งเมือกมากผิดปกติในทุกๆ ส่วน รวมทั้งในระบบย่อยอาหาร ที่มีเมือกเหนียวมากผิดปกติ 

สำหรับการแพทย์ทั่วไป หมอจะแนะนำให้คนไข้ที่หลั่งเมือกมากเกินชำระระบบทางเดินอาหารบ่อยๆ ในส่วนของโยคะ เราแนะนำให้คนไข้ที่หลั่งเมือกน้อยเกินชำระทางเดินอาหารบ่อยๆ เพราะคนไข้เหล่านี้มักจะมีเมือกมากในกระเพาะ  เมื่อนำเอา เมือกที่มากเกินออก และกระตุ้นผนังกระเพาะอาหาร ก็พบว่ากระเพาะอาหาร ทำงานได้เป็นปกติมากขึ้น

ในกรณีที่หลั่งเมือกมากเกิน โยคะไม่แนะนำให้ชำระบ่อยๆ แต่จะแนะนำวิธีระงับ และใช้กินอาหารประเภทที่เป็นกลาง เช่น นม เนยใส เพื่อยับยั้งการหลั่งของกรด
(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

346-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 346
กุมภาพันธ์ 2551
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์