• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งยอดฮิตของคนไทย

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์์ กรรมการบริหารแพทยสภา
มะเร็ง ยอดฮิตของคนไทย

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ส่งหนังสือเกี่ยวกับ โรคมะเร็งในประเทศไทยŽ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาให้ เห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ จึงขอนำเสนอผู้อ่าน และนำไปปฏิบัติ จะได้ป้องกันมะเร็งกันไว้แต่เนิ่นๆ

มะเร็งยอดฮิตชายไทย (ปี พ.ศ.๒๕๔๒) คือมะเร็ง ของตับและท่อน้ำดี ปอด ลำไส้ใหญ่ ปาก ระบบต่อมน้ำเหลือง (non - Hodgkin lymphoma)  กระเพาะปัสสาวะ หลอดอาหาร  ลูคีเมีย ต่อมลูกหมาก กระเพาะอาหาร

มะเร็งยอดฮิตหญิงไทย คือมะเร็งปากมดลูก     เต้านม ตับและท่อน้ำดี ปอด ลำไส้ใหญ่ รังไข่ ปาก ไทรอยด์ ผิวหนัง และลูคีเมีย

มะเร็งของเนื้อตับมักเกิดในผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง
โรคตับแข็งในประเทศไทยมีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซี และไขมันในตับจากการที่อ้วนมากไป การป้องกันคือวิธีการที่ดีที่สุด ด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์   ส่วนเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี อยู่ในเลือดและผลิตภัณฑ์เลือด ถ้าเราไม่ได้เชื้อจากแม่ตอนเกิด เราจะติดได้ส่วนใหญ่จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือใช้เข็มฉีดยาเสพติดที่มีเชื้อร่วมกัน

ปัจจุบันรัฐบาลมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แล้ว ซึ่งรัฐบาลฉีดให้ฟรีตอนเด็กเกิด สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน แต่ข้อดีคือเด็กมีโอกาสได้เชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากแม่ไม่ถึงร้อยละ ๘    ดังนั้น ถ้าไม่ได้เชื้อจากแม่และระวังตนเองก็จะไม่ได้เชื้อนี้อีกแล้ว

มะเร็งของท่อน้ำดี
มาจากการกินปลาร้า ปลาส้มที่ดิบ เพราะมีพยาธิ ใบไม้ในตับที่ทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดีได้  ฉะนั้นถ้าจะกินปลาร้าก็ขอให้ทำให้สุกก่อน  ท่านที่เผลอกินไปแล้วในอดีต  ควรไปพบแพทย์ตรวจอุจจาระหาไข่ของพยาธิ  และกินยารักษาถ้ามีพยาธิ

มะเร็งของปอด
อย่าสูบบุหรี่  หรือถ้าสูบก็หยุดสูบ การไม่สูบบุหรี่จะช่วยลดโรคมะเร็งของหลายๆ อวัยวะไปกว่าร้อยละ ๕๐ ถ้าพ่อบ้านสูบบุหรี่ คนในครอบครัว ก็จะมีความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งโรคปอดด้วย

มะเร็งลำไส้ใหญ่
ประเทศไทยพบคนเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พ.ศ.๒๕๔๒ พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบ บ่อยที่สุดเป็นอันดับที่ ๓ ในผู้ชายไทย คือพบประมาณ ๘.๘ ราย ต่อประชากร ๑ แสนคน รองจากมะเร็งของตับและท่อน้ำดี และมะเร็งของปอด

ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อันดับที่ ๕ คือ    พบ ๗.๖ ราย ต่อประชากร ๑ แสนคน  รองจากมะเร็งปากมดลูก เต้านม ตับและท่อน้ำดี ปอด
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็ง "ค่อนข้างดี" คือมาจากกรรมพันธุ์บ้างเป็นส่วนน้อย ร้อยละ ๕-๓๐ ถ้าทราบว่ามีบิดามารดา หรือญาติเป็นโรคนี้ ควรรีบไปตรวจคัดกรอง โรคและติดตามกับแพทย์เป็นระยะๆ แต่ร้อยละ ๗๐ หรือมากกว่าเกิดจากพฤติกรรมของตัวเราเอง

ข้อมูลทางการแพทย์ทราบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิด จากติ่งเนื้อธรรมดาที่เรียกว่า adenoma  ซึ่งจะค่อยๆ โตและเปลี่ยนเป็นมะเร็ง โดยใช้เวลาประมาณ ๑๐-๒๐ ปี  ฉะนั้นการตรวจคัดกรองก่อนเป็นโรคจึงมีความสำคัญ ผู้ที่เป็นมะเร็งโดยที่ไม่มีประวัติมะเร็งของมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉลี่ยจะเป็นตอนอายุ     ๖๘ ปี 
ถ้ามีประวัติมะเร็งของลำไส้ใหญ่ในครอบครัว จะเป็นมะเร็งเมื่ออายุน้อยกว่า 

ผู้ที่มีญาติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้าทราบข้อมูลเมื่อใด ควรไปปรึกษาแพทย์ทันที ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง  ฉะนั้นผู้ที่ไม่มีประวัติญาติเป็นโรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่ (หมายความว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยง) เมื่อมีอายุ   ๕๐ ปี ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ และ/หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น ถ้ามีจะได้รักษาให้หายขาดได้

มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ในหญิงที่มีเพศสัมพันธ์  มะเร็งชนิดนี้เป็น "ว่าที่" มะเร็งอยู่นาน ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง แพทย์จึงแนะนำว่าหญิงใดก็ตามที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ควรไปตรวจ ภายในทุกปี ถ้าไปตรวจและพบความผิดปกติเล็กน้อยที่ปากมดลูก การรักษาด้วยวิธี "จี้"โรคก็จะหายแล้ว
ปัจจุบันนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันแล้ว ซึ่งป้องกันได้ร้อยละ ๖๐-๗๐ แต่ก็ควรฉีดเนิ่นๆ  ตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ แต่ถึงกระนั้นแพทย์ก็ยังแนะให้ไปตรวจภายในทุกปี ถ้าเริ่มมีเพศสัมพันธ์

มะเร็งเต้านม
มะเร็งของเต้านมก็เหมือนกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือคนอ้วนจะมีความเสี่ยงสูง  แพทย์แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมตนเองทุกเดือนและพบแพทย์ทุกปี
ทั้งนี้ขอเรียนให้ทราบว่าโรคอ้วนนั้นทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ เต้านม ต่อมลูกหมาก หลอดอาหาร ถุงน้ำดี มดลูก ตับ (จากไขมันสะสมในตับ)
ดังนั้น การควบคุมร่างกายไม่ให้อ้วนจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้หลายชนิด และป้องกันโรคอื่นๆ อีกมากมายด้วย มะเร็งยอดฮิตของชาวไทยทั้งหญิงและชายสามารถป้องกันได้  ให้ความสนใจ ดูแลตนเอง และบุตรหลาน   ตั้งแต่ที่ทราบข้อมูล การป้องกัน ดูแลตนเอง เพื่อไม่เป็นโรค 

 


      

 

ข้อมูลสื่อ

346-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 346
กุมภาพันธ์ 2551
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์