• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เส้นทางเดินอันเงียบกริบและยาวนานของโรคภัยเงียบ

วันหนึ่งผมได้ไปเยี่ยมคุณป้าวัย ๖๐ ปีท่านหนึ่ง ที่เพิ่งฟื้นตัวจากโรคอัมพฤกษ์ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด

เมื่อ ๒ เดือนก่อน อยู่ๆ คุณป้าซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงดีมาตลอดเกิดมีอาการแขนขาซีกขวาอ่อนแรงไปซีกหนึ่ง สามีซึ่งเป็นอดีตนายทหารได้พาคุณป้าเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ๔-๕ วันแล้วกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ทางโรงพยาบาลได้ส่งทีมงานมาทำการฟื้นฟูร่างกายด้วยกายภาพบำบัดคุณป้าที่บ้าน จนอาการค่อยๆ ดีขึ้นวันที่ผมไปเยี่ยมคุณป้าสามารถเคลื่อนไหวได้เกือบปกติดีแล้ว

คุณป้าเล่าว่า "ดิฉันไม่เคยเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลมาก่อนเลย แต่เข้าโรงพยาบาลคราวนี้ นอกจากตรวจเจอว่ามีอาการแขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่งจากหลอดเลือดสมองตีบแล้ว คุณหมอยังแถมโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง มาให้ครบเครื่อง ดิฉันไม่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนเลย ทำไมอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นพร้อมกันคราวนี้ก็ไม่รู้..."  

"แล้วคุณป้าเคยตรวจเช็กสุขภาพมาก่อนหรือไม่" ผมซักไซ้  "ในช่วง ๑๐๐ ปีมานี้ไม่เคยหาหมอเลย เพราะแข็งแรงดีไม่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องหาหมอ ก็เลยไม่ได้ไปตรวจเช็ก... " คุณป้าตอบตรงไปตรงมา

ตามหลักทางการแพทย์ โรคหลอดเลือดสมองตีบตันจะเกิดขึ้นจากการที่ผนังหลอดเลือดมีตะกรันไขมันเกาะและพอกหนาตัวขึ้นทีละน้อย ใช้เวลา ๑๐-๒๐ ปีกว่าหลอดเลือดจะตีบตัน

ระหว่างนี้นผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่าผนังหลอดเลือดภายในร่างกายของตนมีตะกรันไขมันเกาะ เพราะจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้สังเกตเห็นได้ จนกระทั่งตะกรันหนาจนรูของหลอดเลือดตีบตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ ก็จะเกิดเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต (แขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่ง) ขึ้นอย่างฉับพลันทันทีสร้างความแตกตื่นโกลาหลให้กับตนเองและผู้คนในบ้านที่ต้องพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

เปรียบง่ายๆ เหมือนท่อน้ำทิ้งในห้องครัว ที่อยู่ๆ ก็เกิดการอุดตัน ทำให้น้ำระบายออกไม่ได้ เมื่อเปิดท่อดู ก็พบว่ามีตะกรันไขมันเกาะเป็นก้อนอุดคารูท่อไว้

ตะกรันไขมันในท่อน้ำทิ้งก็ใช่ว่าจะกลายเป็นก้อนอุดท่อได้ภายในไม่กี่วันหากแต่จะค่อยๆ เป็นตะกรันเกาะผนังท่อซึ่งพอกพูนขึ้นทีละเล็กละน้อย ใช้เวลาสั่งสมนับเป็นแรมปีหรือหลายๆ ปี กว่าจะกลายเป็นก้อนอุดรูท่อน้ำจนน้ำระบายไม่ได้

ภาวะตะกรันไขมันเกาะผนังหลอดเลือด (หรือท่อน้ำทิ้งในห้องครัว) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเงียบกริบและใช้เวลายาวนานกว่าจะทำให้เกิดอาการผิดปกติให้เห็นอย่างฉับพลันทันที

เรียกได้ว่าเป็น "ภัยเงียบ" ที่แฝงเร้น

สำหรับภาวะตะกรันไขมันเกาะผนังหลอดเลือด (พบได้ทุกส่วนของร่างกาย ที่สำคัญได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตา ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ตามัวตาบอด) อาจเกิดจากปัจจัยตั้งแต่เรื่องของอายุ (ชาย ๕๕ ปีขึ้นไป หญิง ๖๕ ปีขึ้นไป) พันธุกรรม (มีญาติสายตรงเป็นโรคอัมพาตหรือโรคหัวใจขาดเลือด) การสูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด ความอ้วน โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ทั้งโรคเบาหวาน ความดันสูง เเละไขมันในเลือดสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (ส่วนน้อยเกิดจากการบริโภคเกินจนน้ำหนักเกินหรืออ้วน) และเริ่มเป็นตั้งแต่อายุ ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไปนั้น ล้วนไม่มีอาการปรากฏให้ผู้ป่วยรู้สึกได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยที่เป็นมากแล้วเท่านั้นที่จะมีอาการปวดศรีษะ มึนศรีษะ (สำหรับความดันสูง) หรือปัสสาวะออกมากและบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวข้าวบ่อย (สำหรับโรคเบาหวาน)

ทั้ง ๓ โรคนี้จึงจัดว่าเป็น "โรคภัยเงียบ" เพราะไม่มีอาการ แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดตะกรันไขมันเกาะผนังหลอดเลือดของผู้ป่วย ซึ่งก็เป็น "ภัยเงียบ" เช่นเดียวกัน

หากไม่เคยตรวจเช็กสุขภาพ (เช่นกรณีของคุณป้าดังกล่าวข้างต้น) ก็จะไม่ทราบว่ามีโรคพวกนี้แฝงอยู่และคอยบ่อนทำลายหลอดเลือดอย่างเงียบกริบจนเกิดเป็นอัมพาต พิการ หรือการเจ็บป่วยร้ายแรง (เช่น โรคหัวใจวายกะทันหัน ไตวายที่จำเป็นต้องฟอกไต ตาบอด) ในที่สุด

ถ้าหากเข้าใจเส้นทางเดินของ "ภัยเงียบ" ดังกล่าว เราก็สามารถป้องกันและควบคุมให้เกิดความปลอดภัยได้มากขึ้น

เริ่มตั้งแต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ก็ต้องมองดูว่าเป็นคนที่เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังยอดฮิต (เบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง) หรือไม่ ถ้ามีพันธุกรรมของโรคเหล่านี้ หรือมีน้ำหนักเกินก็จัดว่าว่ามีความเสี่ยงต้องรีบควบคุมอาหารและน้ำหนัก ออกกำลังกาย

เมื่ออายุ ๓๐-๔๐ ปี หรือเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง แม้ว่ารู้สึกสบายดีก็ต้องหมั่นตรวจเช็กสุขภาพถ้าพบว่าเป็นโรคเหล่านี้ ก็จะต้องรับการดูแลจากแพทย์อย่างจริงจัง และควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงอารมณ์เครียดเลิกเสพสุราและยาสูบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้โรคกำเริบและเกิดภาวะตะกรันไขมันเกาะผนังหลอดเลือด

ผู้ป่วยจะต้องตระหนักว่า เพราะความที่เป็นภัยเงียบของโรคเหล่านี้ถึงแม้จะรู้สึกสบายดี ไม่มีอาการผิดปกติ ก็ยังจำเป็นต้องทำการรักษาโรคพวกนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป จะได้ควบคุมโรคให้ได้ผล ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้มีตะกรันไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดโรคร้ายแทรกซ้อน หรือพิการได้ และช่วยให้มีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพเต็มเปี่ยมเฉกเช่นคนปกติทั่วไป

ก็ขอฝากให้ช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในโรคภัยเงียบยอดฮิตแห่งยุคปัจจุบันให้เกิดขึ้นโดยทั่วกัน

ข้อมูลสื่อ

385-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 385
มกราคม 2554
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ