• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญหาการนอนหลับ (ตอนที่ ๓) อาการอยากนอนมากผิดปกติ (喜卧,嗜睡症)

นอกจากปัญหาการนอนไม่หลับแล้ว คนบางคนกลับมีปัญหาตรงกันข้าม กลับทิศกลับทางไปอีกแบบคือ อยากจะนอนตลอดเวลา นั่งอยู่เฉยๆ เผลอแป๊บเดียว หลับไปแล้ว กลุ่มนี้มักมีสุภาษิตอยู่ในใจว่า “นั่งดีกว่ายืน เอนตัวดีกว่านั่ง นอนดีกว่าเอนตัว” ความจริงคนที่อยากจะนอนตลอดเวลาก็จัดเป็นความผิดปกติอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องการการรักษาและปรับสมดุลเช่นเดียวกัน

การแยกแยะอาการและการวินิจฉัยโรคแบบแผนปัจจุบัน เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติในสมอง และความผิดปกติจากโรค เช่น เบาหวาน โรคตับ โรคไต ก็มีความความสำคัญมาก แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นภาวะความเสียสมดุลที่ไม่มีพยาธิสภาพจากโรคที่รุนแรง แต่เป็นความไม่สมดุล ของระบบการทำงานของอวัยวะ จั้งฟู่ เลือดและพลัง ภาวะยินหยางผิดปกติที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ

อาการง่วงนอนผิดปกติ หรืออาการอยากนอนตลอดเวลาในทัศนะแพทย์จีน

หลังกินอาหารอิ่มมากๆ โดยเฉพาะหลังมื้อเที่ยงมักจะเกิดอาการหนังท้องตึง หนังตาหย่อนได้ง่าย เพราะเลือดและพลังถูกนำไปใช้ในการย่อยอาหารที่กินเข้าไป และเป็นช่วงขาลงที่พลังหยางและพลังยินกำลังเริ่มเกิด

คนที่ระบบย่อยและดูดซึมอาหารไม่ดี จะเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนได้ง่าย เพราะระบบย่อย (ม้ามและกระเพาะอาหาร) ต้องทำงานหนักมากกว่าปกติทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าที่ควร

แพทย์แผนจีนมองว่า อาการง่วงนอนมากผิดปกติมาจากพลังส่วนกลาง หรือจงชี่ (中气) หรือพลังของม้ามและกระเพาะอาหาร (脾胃之气) ไม่พอ
หยาง ควบคุมการเคลื่อนไหว (阳主动)
ยิน ควบคุมการหยุดนิ่ง (阴主静)
ภาวะหยางไม่พอ และยินมากเกินไป ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ในคัมภีร์หลิงซู กล่าวไว้ว่า “พลังหยางมากทำให้ตาเปิด พลังยินมากทำให้ตาปิด” (阳气盛则嗔目, 阴气盛则瞑目) ดังนั้น อาการง่วงนอนมากผิดปกติ จึงมีสาเหตุมาจาก “ยินมากหยางพร่อง” (阴盛阳衰)

การแบ่งประเภทของอาการอยากนอนมากผิดปกติ

๑. พลังส่วนกลางอ่อนแอ พร่อง (中气虚弱)
ผู้ป่วยมักมีระบบย่อยแปรปรวน แต่ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย มักง่วงนอนตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังกินอาหารอาการจะรุนแรงขึ้น มักเป็นคนแขนขาไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย ถ้าตรวจชีพจรจะพบว่าชีพจรเต้นอ่อน ลิ้นซีด ฝ้าขาว
หลักการรักษา บำรุงพลังส่วนกลาง เสริมม้ามปลุกเสิน (补中益气,建脾醒神)

๒. หยางชี่ไม่พอ (阳气不足)
มักพบในผู้สูงอายุ หรือคนที่พลังไตพร่อง หรือหยางของไตพร่อง มักมีอาการหนาวง่าย ไม่มีชีวิตชีวาเบื่อหน่ายไม่ค่อยอยากจะพูดจา กินได้น้อย พูดน้อย หลงลืม
คนกลุ่มนี้ถือคำขวัญว่า “อยากนอนลูกเดียว” (但欲寐) แต่เอาเข้าจริง หลับก็หลับไม่สนิท แพทย์แผนจีนมองว่า เป็นปัญหาของไตและหัวใจร่วมกันด้วย
หลักการรักษา เสริมอุ่นพลัง พลังหยาง ช่วยม้าม บำรุงสมอง (温阳补气, 健脾补虚)

๓. ความชื้นมากทำให้ม้ามทำงานลำบาก (ย่อยยาก) (湿盛困脾)
ข้อสังเกต มักเป็นในคนที่รูปร่างอ้วน ตัวหนัก ขี้เกียจ ไม่ชอบเคลื่อนไหว เบื่ออาหาร อาการเป็นมากตอนฝนตก หรืออากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน มักมีเสมหะ
ชีพจร มีลักษณะลื่น ฝ้าบนลิ้นขาว เหนียว
หลักการรักษา สลายความชื้น เสริมม้าม (燥湿健脾)

๔. เสมหะร้อนชื้น ปิดกั้นภายใน (痰热内阻)
ประเภทนี้เป็นภาวะแกร่ง ผู้ป่วยมีภาวะร้อนภายใน มักกินเก่ง ขี้ร้อน ไขมันในเลือดสูง หน้าแดงกร่ำ เวียนศีรษะง่าย มักง่วงตลอดเวลา มีเสียงกรนดัง แน่นหน้าอก คอขม ท้องผูก อุจจาระแข็ง ปัสสาวะเหลือง ไอเสมหะเป็นสีเหลือง
ชีพจร มีลักษณะลื่นและเร็ว ลิ้นแดง มีฝ้า เหลือง เหนียว
หลักการรักษา ขับร้อนสลายเสมหะเปิดทวาร (清热化痰开窍)
๕. เลือดอุดกั้นบริเวณศีรษะ สมอง (瘀阻脑络)
ผู้ป่วยที่มีประวัติประสบอุบัติเหตุบริเวณศีรษะมาก่อน มีอาการปวดศีรษะเหมือนเข็มแทงเฉพาะที่ อาการเวียนศีรษะ มีประวัติของโรคเรื้อรัง
ใบหน้ามีสีดำคล้ำ ชีพจรฝืด ลิ้นมีร่องรอยจุดจ้ำเลือด บริเวณขอบลิ้น ตัวลิ้นสีม่วงคล้ำ
หลักการรักษา ทำให้เลือดเดิน สลายการอุดกั้น (活血通络)
   
สรุป

สาเหตุของการอยากนอนมากผิดปกติ มีสาเหตุสำคัญจาก ระบบย่อยอาหาร (ม้ามและกระเพาะอาหาร) อ่อนแอ หรือ พลังชี่ส่วนกลาง (จงชี่ = 中气) ผิดปกติ ซึ่งเป็นเพราะอวัยวะกระเพาะอาหารและม้ามโดยตรง หรือเป็นเพราะจากพลังหยางของไตไม่พอ รวมถึงภาวะความชื้นตกค้างภายในระบบกระเพาะอาหารและม้าม ที่มีความชื้นเย็น และความชื้นร้อนภายในไปขัดขวาง พลังของชี่ส่วนกลาง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ

ส่วนอีกประเภทหนึ่งมาจากอุบัติเหตุภายนอกในอดีต ทำให้เลือดและพลังไหลเวียนไปสมองไม่พอเช่นกัน  การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาจะต้องดูภาวะองค์รวมและปัญหาเฉพาะส่วนควบคู่กันไป
 

ข้อมูลสื่อ

385-034
นิตยสารหมอชาวบ้าน 385
มกราคม 2554
แพทย์แผนจีน
นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล