• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูสวัด

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
งูสวัด

งูสวัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่บริเวณผิวหนังชนิดหนึ่ง ทำให้มีผื่นตุ่มขึ้นเป็นแนวยาวๆ เช่นบริเวณชายโครง หรือบั้นเอว ทำให้ดูคล้ายถูกงูรัดหรือตวัด  (แผลงต่อมาเป็นงูสวัด) โรคนี้มักไม่มีอันตรายร้ายแรง  และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่  แต่บางรายหลังแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดประสาทนานเป็นแรมปี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้
ชื่อภาษาไทย งูสวัด
ชื่อภาษาอังกฤษ Herpes  zoster,  shingles
 สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "เชื้ออีสุกอีไส-งูสวัด (varicella-zoster virus  หรือ  vzv)" ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก (ซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก) ส่วนใหญ่จะแสดงอาการของโรคอีสุกอีใส ส่วนน้อย จะไม่มีอาการแสดงให้ปรากฏหลังจากหายจากโรคอีสุกอีใสไปแล้ว เชื้อจะหลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาทใต้ผิวหนัง และแฝงตัวอย่างสงบเป็นเวลานานหลายปีถึงสิบๆ ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ 

เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น อายุมาก ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ติดเชื้อเอชไอวี เป็นมะเร็ง ใช้ยาต้านมะเร็งหรือยา กดภูมิคุ้มกัน เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และกระจายในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ  (เกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท) เชื้อจะกระจายไปตามเส้นประสาทที่อักเสบ  และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ที่เป็นโรคงูสวัดจึงมักมีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็ก หรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยไม่มีอาการแสดง ซึ่งสามารถตรวจพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเลือด
  
อาการ
ก่อนมีผื่นขึ้น ๑-๓ วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบ บริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด อาจมีอาการคันและแสบ  ร้อน (คล้ายถูกไฟไหม้) เป็นพักๆ หรือตลอดเวลาบริเวณ
พบบริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือเพียงข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าปวด   ที่ชายโครง ก็อาจทำให้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในไต ไส้ติ่งอักเสบได้ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรน หรือโรคทางสมองได้ บางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเดินร่วมด้วย ส่วนมากมีผื่นขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มใสเรียงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยง  โดยเส้นประสาทที่อักเสบ ตุ่มน้ำมักทยอยขึ้นใน ๔ วันแรก แล้วค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดใน ๗-๑๐ วัน เมื่อตกสะเก็ดและหลุดออกไป อาการปวดจะทุเลาไป รวมแล้วจะมีผื่นอยู่นาน ๑๐-๑๕ วัน ผู้ที่มีอายุมากอาจ  มีอาการนานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ
  
การแยกโรค
อาการมีตุ่มน้ำใสขึ้นตามผิวหนัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ อีสุกอีใส กับเริม
อีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นร่วมกับมีผื่นแดงและตุ่มน้ำใสขึ้นกระจายๆ ตามลำตัวและใบหน้า ผื่นตุ่มจะขึ้นในวันแรกที่มีไข้ และมักมีอาการคันร่วมด้วย
เริม  ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นหลายเม็ดอยู่กันเป็นหย่อม หรือกลุ่มเล็กๆ มักขึ้นเพียงที่ เดียว เช่นที่ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น อวัยวะเพศ เป็นต้น มักมีประวัติขึ้นซ้ำซากที่เดิมเวลามีประจำเดือน ถูกแดด เครียด ได้รับการกระทบกระเทือนเฉพาะที่ (เช่น ถอนฟัน  ผ่าตัดที่บริเวณใบหน้า) เวลาเป็นไข้หวัด หรือเป็นไข้ (เช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น) 

การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะอาการแสดงเป็นหลัก  ได้แก่  อาการขึ้นเป็นผื่นแดงและตุ่มน้ำใสเรียงกันเป็นแนวยาว

การดูแลตนเอง
เมื่อพบว่าเป็นงูสวัด ควรปฏิบัติดังนี้

  • ถ้ามีไข้หรือปวด  กินพาราเซตามอลบรรเทา 
  • ถ้ามีอาการปวดแสบปวดร้อน ทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน (คาลาไมน์โลชั่น) หรือต้นเสลดพังพอนนำมาล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด ผสมเหล้าพอเหลวข้นๆ (ควรใส่เหล้าเมื่อยาเริ่มแห้ง พอกไว้ตลอดเวลา เปลี่ยนยาวันละ ๒-๔ ครั้ง)
  • ตัดเล็บให้สั้น ห้ามแกะเกาผื่นตุ่ม
  • ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ ถ้าเป็นงูสวัดขึ้นที่ใบหน้า หรือตา หรือพบในคนอายุมากกว่า ๕๐ ปี มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือหญิงตั้งครรภ์ มีอาการปวดรุนแรง ให้การดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ทุเลา ตุ่มกลายเป็นหนองเฟะ หรือมีความวิตกกังวลหรือมั่นใจในการดูแลรักษาตนเอง

การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้พาราเซตามอลบรรเทาอาการปวดหรือไข้) ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเฟะเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น      ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้กินยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์  (acyclovir) ครั้งละ ๘๐๐ มก. วันละ ๕ ครั้ง ทุก ๔ ชั่วโมง (เว้นมื้อดึก ๑ มื้อ) ซึ่งจะต้องเริ่มให้ภายใน ๔๘ -๗๒ ชั่วโมงหลังเกิดอาการจึงจะได้ผลในการลดความรุนแรง และย่นเวลาให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งอาจลดอาการปวดเส้นประสาทแทรกซ้อนในภายหลังได้

สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เป็นโรคเอดส์)  หรือเป็นชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งจะให้กินยาต้านไวรัส และยาหยอดตาที่เข้ายาต้านไวรัส เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยคือ อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (post herpetic neuralgia) โดยเฉลี่ยพบได้ประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ ของผู้ป่วยงูสวัด พบได้ประมาณร้อยละ ๕๐ ที่ผู้ป่วยที่มีอายุเกิน ๕๐ ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ ๗๐  ในผู้ป่วยอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรก  หรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้วก็ได้ มีลักษณะปวด ลึกๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแบบแปลบๆ เสียวๆ (คล้ายถูกมีดแทง) เป็นพักๆ ก็ได้ มักปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ปวดมากตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ อาการปวดมักหายได้เอง (ร้อยละ ๕๐ หายเองภายใน ๓ เดือน และร้อยละ ๗๕ จะหายเองภายใน ๑ ปี) บางรายอาจปวดนานเป็นแรมปี โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้าขึ้นที่บริเวณใบหน้า

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น

  • มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากใช้เล็บแกะเกา หรือให้การดูแลผื่นตุ่มไม่ถูกต้อง ทำให้กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และกลายเป็นแผลได้
  • ในรายที่เป็นงูสวัดขึ้นตา อาจทำให้เกิดกระ-    จกตาอักเสบ แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ ต้อหิน  ประสาทตาอักเสบ ถึงขั้นทำให้สายตาพิการได้
  • ในรายที่เป็นงูสวัดที่บริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู  อาจทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (ยักคิ้ว หลับตา เม้มมุมปากไม่ได้ซีกหนึ่ง) หรือมีอาการบ้านหมุน  คลื่นไส้  อาเจียน  ตากระตุกได้
  • ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ (ซึ่งพบเป็นงูสวัดร่วมด้วย ประมาณร้อยละ ๑๐) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจเกิดผื่นงูสวัดแบบ แพร่กระจาย คือมีตุ่มขึ้นออกนอกแนวเส้นประสาท    มากกว่า ๒๐ ตุ่ม หรือขึ้นตามแนวเส้นประสาทมากกว่า ๑ แนว อาการมักจะรุนแรงและเป็นอยู่นาน อาจกระจาย เข้าสู่สมองและอวัยวะภายใน (เช่น ปอด ตับ) เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
  • ผู้หญิงที่เป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์ อาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ เช่น  มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น

การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ภายใน ๑๐-๑๕ วัน  ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น
  
การป้องกัน
โดยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส-งูสวัด ตั้งแต่อายุ ๑ ขวบ ซึ่งฉีดเพียง ๑ เข็ม สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต
ถ้าฉีดตอนอายุมากกว่า ๑๓ ปี ควรฉีด ๒ เข็ม  ห่างกัน ๔-๘ สัปดาห์
  
ความชุก
งูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งจะพบมากขึ้นตามอายุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในคนอายุมากกว่า ๕๐ ปี ในเด็กและทารกพบได้น้อยและมักมีอาการไม่รุนแรง    


  


 

ข้อมูลสื่อ

348-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 348
เมษายน 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ