• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผื่น กลีบกุหลาบ และงูสวัด

 นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
โรคผื่นกลีบกุหลาบ และงูสวัด

ถาม ผมมีผื่นคันแดงๆ  ขนาดหัวแม่มือขึ้นตามลำตัว ไปพบแพทย์มาแล้ว  บอกว่าเป็นโรคผื่นกลีบกุหลาบ  จึงอยากขอความรู้เรื่องนี้ครับ
วชิรพล

ตอบ : คำถามของคุณวชิรพลนี้น่าสนใจมาก เพราะโรคนี้พบได้บ่อยและมีชื่อชวนสะดุดหูเสียด้วย   

โรคผื่นกลีบกุหลาบนี้  เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Pityriasis rosea เป็นผื่นผิวหนังที่เกิดขึ้นได้เอง ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด  แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ค่อยทำให้เกิดอาการอื่น เช่น  ปวดหัว ตัวร้อน  ส่วนใหญ่จะมีอาการคันเท่านั้น  พบได้ในทุกเพศทุกวัย  แต่พบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุ ๑๐-๑๕ ปี
ก่อนจะมีผื่นขึ้นทั่วตัว มักมีผื่นขนาดใหญ่สีชมพู  มีขุย ขึ้นตามหน้าอกหรือหลัง เรียกว่าผื่นแจ้งข่าว (ภาพที่ ๑) เกิดนำมาก่อน ต่อมาจะมีผื่นเล็กๆ รูปไข่  สีชมพู มีขุยตามรอบนอกเกิดตามลำตัว (ภาพที่ ๒) แขน ขา คอ     แต่มักไม่พบที่ใบหน้า ผื่นเล็กๆ เหล่านี้เมื่อขึ้นที่หลัง มักเรียงเป็นแนวเฉียงเข้าหาเส้นกลางลำตัว ดูเหมือนต้นคริสต์มาสที่มียอดอยู่ด้านบน อาการสำคัญของโรคนี้   คือ อาการคัน ผู้ป่วยบางคนยิ่งร้อน ยิ่งเหงื่อออกมากจะยิ่งคันมาก
 

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะค่อยๆ จางลงและหายไปได้เองใน ๖ สัปดาห์ แต่ในบางรายก็อาจเป็นต่อเนื่องกันนานกว่านี้ เมื่อผื่นหายจะไม่เกิดแผลเป็นตามมา หากคันมากอาจใช้ยาทาหรือยากินเพื่อลดอาการคัน หากเป็นมากหรือเป็นช่วงที่จะมีพิธีสำคัญ เช่น จะแต่งงาน  แพทย์อาจพิจารณาให้สตีรอยด์กินตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป 
 

อย่างไรก็ตาม  ผู้ที่คิดว่าเป็นโรคผื่นกลีบกุหลาบน่าจะไปพบแพทย์ผิวหนัง เพราะต้องวินิจฉัยแยกออกจากโรคซิฟิลิสระยะที่ ๒ ที่เรียกว่า ออกดอกŽ เพราะผื่นมีลักษณะใกล้เคียงกัน หากไม่แน่ใจหรือว่าเคยซุกซน มาก่อน จำเป็นต้องตรวจเลือด หากเลือดบวกก็แสดงว่าเป็นซิฟิลิส ไม่ได้เป็นผื่นกลีบกุหลาบ
 

 

โรคงูสวัด
ถาม : อยากเรียนถามคุณหมอ เกี่ยวกับโรคงูสวัดค่ะ
พัชรา
ตอบ    โรคงูสวัด (Herpes zoster) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก  ประมาณกันว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุถึง ๘๕ ปี  จะเคยเป็นโรคนี้ 
 

งูสวัดเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เส้นประสาทและผิวหนังที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทนั้น โดยเชื้อไวรัสงูสวัดเป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวกับที่ก่อโรคอีสุกอีใส หลังหาย จากอีสุกอีใสเชื้อไวรัสจะยังหลบซ่อนตัวที่เส้นประสาท  เมื่อร่างกายอ่อนแอลงเชื้อไวรัสจะกำเริบอีกครั้งทำให้เกิดเป็นงูสวัดขึ้น
 

อาการของโรคนี้อาจมีอาการเจ็บแปลบๆ นำมาก่อนเป็นผื่น บางคนเป็นที่หลังอาจคิดว่าปวดหลังจากนิ่วในไต บางคนเป็นที่ใบหน้าอาจปวดหู ต่อมาจะเห็นเป็นตุ่มน้ำใสเล็กๆ เป็นกลุ่มๆ อยู่บนผิวหนังที่บวมแดง ตุ่มน้ำใสๆ นี้มักเรียงตามแนวเส้นประสาท จึงเป็นซีกเดียวของร่างกาย (ภาพที่ ๓) มีอาการปวดแสบ ปวดร้อน อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยคืออาการปวด ซึ่งอาจคงอยู่หลายเดือนหลังแผลหาย
 

ปัจจุบันมียาฆ่าเชื้องูสวัดชนิดกิน โรคงูสวัดส่วนใหญ่จะหายไปได้เอง จึงควรใช้ยากินฆ่าเชื้องูสวัดตามข้อบ่งชี้ คือใช้เฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี เป็นงูสวัดของใบหน้าและตา มีตุ่มน้ำหลายตำแหน่งนอกเส้นประสาทเส้นเดียว และผู้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง 
 

สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยและมีร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ เพราะยามีราคาแพงและอาจมีผลแทรกซ้อน เช่น การตกผลึกในไต  รายที่เป็นน้อยอาจใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียตำกับเหล้าให้เป็นน้ำข้น ทาแผลวันละ ๔-๕ ครั้ง จะช่วยลดอาการปวดและทำให้แผลแห้งลงได้

โรคผิวหนังที่คุณผู้อ่านถามมานี้พบได้ค่อนข้างบ่อย และยังมีชื่อไพเราะสะดุดหูอีกด้วย 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

338-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร