• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำเต้า ควบคุมเบาหวาน

                                                      

น้ำเต้าควบคุมดบาหวาน                                                                                                   
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ  กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์  โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                                                           

น้ำคั้นของน้ำเต้ามีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลกระเพาะอาหาร แต่ที่จีนและอินเดียกินน้ำเต้าควบคุมเบาหวาน
รู้จักน้ำเต้า          น้ำเต้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagenaria siceraria Standl.
ชื่อภาษาอังกฤษ   Bottle Gourd อาจแปลได้ว่าแตงขวด 

ชาวกะเหรี่ยงเรียก คิลูส่า  ส่วนทางเหนือเรียก   มะน้ำเต้า  
ชาวอินเดียเรียก Lauki หรือ Dudhi  
                 
น้ำเต้าเป็นพืชวงศ์บวบ แตงกวา ฟักทอง คือวงศ์ Cucurbitaceae มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ เป็นไม้เถาขนาดใหญ่มีความยาวกว่า ๑๐ เมตร แต่มีระบบรากตื้น 
                      
ลำต้นเหลี่ยมมีมือเกาะที่แยกออกเป็น ๒ ทาง 
                     
ใบมีขนาดใหญ่คล้ายรูปหัวใจ ก้านใบยาว ผิวใบมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน มีรอยหยักบริเวณใบ 

ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ มีก้านช่อดอก ยาวกว่า ๑๐ เซนติเมตร ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกันแต่ต่างดอกแยกเพศกัน ดอกตัวผู้มีลักษณะคล้ายถ้วย กลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนดอกตัวเมีย มีรังไข่ลักษณะคล้ายผลเล็กๆ ติดอยู่ที่โคนดอก ผสมพันธุ์โดยใช้แมลง  

ผลน้ำเต้ามีลักษณะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์  มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เปลือกมีสีเขียวเป็นลาย ผลมีเนื้อในสีขาวหรือสีเขียวค่อนข้างจะนุ่ม
สามารถเก็บเกี่ยวผลน้ำเต้าเพื่อนำมากินได้หลังดอกบาน ๖-๗ วัน แต่ถ้าเป็นผลน้ำเต้าแก่จะมีรสขม

น้ำเต้ามีอยู่หลายสายพันธุ์
เช่น 
๑. น้ำเต้าพื้นบ้านเป็นน้ำเต้าทรงเซียน ซึ่งเป็นทรงที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ 
๒. ผลกลมเกลี้ยง ไม่มีคอขวดเรียกว่าน้ำเต้า  
๓. ผลกลมยาวเหมือนงาช้าง เรียกว่าน้ำเต้างาช้าง
๔. ผลคล้ายน้ำเต้าพื้นบ้าน แต่เนื้อในรสขม ต้นและใบขมด้วย เรียกว่าน้ำเต้าขมชนิดนี้หายาก ใช้ทำยาเท่านั้น

ประโยชน์ของน้ำเต้า
ใช้ประกอบอาหาร
คนไทยกินผลน้ำเต้าอ่อนต้มกับน้ำพริก ผัดกับหมูใส่ไข่ ผลอ่อน ยอดอ่อนใช้แกงส้มกับปลาเนื้ออ่อน หรือกุ้งสด รสชาติอร่อยมาก
แคลอรี กรัม/ ๑๐๐ กรัมน้ำหนักแห้ง
พลังงาน            ความชื้น                 โปรตีน               ไขมัน                คาร์โบไฮเดรต              ใยอาหาร              เถ้า 
๑๕                  ๙๔.๕                     ๑.๒                   ๐.๒                      ๓.๗๕                           ๐.๗                 ๐.๕ 
มิลลิกรัม/ ๑๐๐ กรัมน้ำหนักแห้ง
แคลเซียม        ฟอสฟอรัส            โซเดียม         โพแทสเซียม      โครเมียม         เหล็ก      ไทอะมีน        ไรโบฟลาวิน       ไนอะซีน        กรดแอสคอบิก
๑๒                    ๓๗                      ๑.๗                  ๘๗                ๐.๐๕             ๐.๘           ๐.๐๓                ๐.๐๕               ๐.๓                   ๑๒

ชาวอินเดียใช้เนื้อผลน้ำเต้าประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน 
ในสหรัฐอเมริกานำเนื้อผลน้ำเต้าอ่อนมานึ่ง ผัดในกระทะ ชุบแป้งทอด ต้มสตูว์หรือใส่ในแกงจืด โดยได้อิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากชาวเอเชียและเม็กซิกัน โดยเลาะเมล็ดและใยหุ้มเมล็ดออก แผ่นน้ำเต้าตากแห้งชุบซีอิ๊วกินกับปลาดิบญี่ปุ่นได้ดี
ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา คนพื้นเมืองจะกินใบน้ำเต้าเป็นผักชนิดหนึ่ง ใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสดไว้กิน ใบแห้งเก็บเป็นเสบียงยามยาก แต่ผลอ่อนจัดเป็นอาหารยามที่ขาดแคลน ผลแก่ขมไม่นิยมกิน  

ใช้อุปโภค 
ผลน้ำเต้าแก่ ปล่อยให้เนื้อแห้ง ขูดเนื้อในออกให้หมด ใช้บรรจุน้ำดื่ม เบียร์ หรือไวน์  บางคนเอาเชือกถักหุ้ม ป้องกันถูกของแข็งกระแทกแตกดูสวยงามดี  ส่วนชนิดที่มีจุกขวด แต่ไม่ยาวมาก มักเห็นในภาพยนตร์จีนเรื่อง "จี้กง" ทำเป็นที่ใส่เหล้าห้อยเอว ชาวบ้านเลยเรียกว่า "น้ำเต้า-จี้กง" ถ้าจับผลงอ หรือรัดรอบผลขณะเติบโตสามารถจัดรูปร่างของผลแห้งเพื่อรองรับการใช้งานได้ตามความต้องการ
                   ชาวจีนในอดีตเชื่อว่า "น้ำเต้า" ทำให้บ้านเกิดความร่มเย็น จึงมีแขวนไว้ในบ้านเกือบทุกครัวเรือน  ส่วน "น้ำเต้างาช้าง" มีจุกยาว นิยมเอาไปทำลูกซัด หรือลูกแซก สำหรับเล่นประกอบเพลง ให้เสียงดังไพเราะดีมาก ในอดีตมีคนนำผลน้ำเต้าแห้งหลายลูกผูกรวมกันเพื่อทำเสื้อชูชีพพยุงตัวลอยน้ำได้ด้วย

ใช้เป็นยา
แพทย์แผนไทยใช้รากน้ำเต้าขมเป็นยาแก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้  
ใบน้ำเต้าเป็นยาดับพิษ  แก้ตัวร้อน  ร้อนในกระหายน้ำ  พบว่ายาเขียวทุกชนิดมักเข้าใบน้ำเต้าหมด 
น้ำเต้าเป็นยาภายนอก นำใบสดโขลกผสมกับเหล้าขาว ทาถอนพิษร้อน แก้ฟกช้ำ บวม แก้อาการพองตามตัว แก้เริม งูสวัดได้ดีมาก  
ชาวอินเดียใช้ประกอบอาหารให้ผู้ป่วยเบาหวานและโรคความดันเลือด 
บทความต่างประเทศกล่าวถึงฤทธิ์ขับปัสสาวะของเปลือกลำต้นและเปลือกผลน้ำเต้า 
น้ำคั้นผลมีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลกระเพาะอาหาร  ที่ประเทศจีนและอินเดียมีการกินน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน มีเว็บไซต์เสนอเมนูคุมเบาหวานใช้น้ำเต้าหลายแห่ง

งานวิจัยที่ประเทศอินเดีย ปี พ.ศ.๒๕๔๙ พบว่าสารสกัดผลน้ำเต้าด้วยคลอโรฟอร์มและแอลกอฮอล์ ที่ ๒๐๐ และ ๔๐๐ มก./กก. น้ำหนักหนูยับยั้งการเพิ่มปริมาณคอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดี แต่เพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีในหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีปริมาณไขมันสูงเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณการกินสารสกัด และลดปริมาณคอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดีในหนูที่มีปริมาณไขมันในเลือดปกติ
                  
จะเห็นว่างานวิจัยปัจจุบันดูจะล้าหลังภูมิปัญญาตะวันออกอยู่มาก เนื่องจากการกินน้ำเต้าดีสำหรับการรักษาสุขภาพ การควบคุมน้ำหนักและเบาหวาน จึงขอเสนอเมนูแกงเผ็ดไร้ไขมันจากอินเดีย โดยแพทย์หญิงสาวสวยชาวอินเดียจาก www.safrontrail.com เชิญชวนชิมค่ะ

แกงเผ็ดน้ำเต้าอ่อน สำหรับ ๒ ที่
เครื่องปรุง
ผลอ่อนน้ำเต้า ๑ ผล ปอกเปลือกหั่นสี่เหลี่ยม (ได้ราว ๒ ถ้วย)
ผงขมิ้นเล็กน้อย
เกลือ  ๑ ช้อนชา 
น้ำ ๓/๔  ถ้วยตวง

เครื่องแกง
พริก   ๒ เม็ด
งาขาว  ๑ ช้อนโต๊ะพูน
ถั่วแระเมล็ดแห้ง ๑ ช้อนโต๊ะ
ลูกผักชีล้อม หรือยี่หร่า ๑ ช้อนชา
ลูกผักชี  ๑ ช้อนชา
กระเทียมปอกแล้ว ๒ กลีบ 
ถั่วลิสงคั่ว ๑/๔  ถ้วยตวง
ใบผักชีเพื่อตบแต่ง

ปรุงเครื่องแกง
คั่วเครื่องปรุงแห้ง เมื่อถั่วแระเปลี่ยนเป็นสีทองยกลง บดถั่วแระละเอียดพร้อมกับกับถั่วลิสง

วิธีปรุง
ตั้งน้ำ ๓/๔  ถ้วยในหม้อต้มจนเดือด ใส่ผงขมิ้นและเกลือ เติมชิ้นน้ำเต้าต้ม ๕-๗ นาทีจนนุ่ม เติมส่วนผสมเครื่องแกง หรี่ไฟคนส่วนผสมให้เข้ากัน เติมน้ำพอขลุกขลิกถ้าจำเป็น ชิมรสตามชอบ โรยหน้าด้วยใบผักชี  กินกับจาปาตี นาน โรตี หรือขนมปัง 

 

 

ข้อมูลสื่อ

339-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 339
กรกฎาคม 2550
บทความพิเศษ