• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การฟื้นฟูกลไก กาย-ใจ ปราณายามะ (อนุโลม วิโลม)

การฟื้นฟูกลไก กาย-ใจ ปราณายามะ (อนุโลม วิโลม)
กวี คงภักดีพงษ์  สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ลักษณะเฉพาะเจาะจงของการหายใจแบบปราณายามะอีกประการคือ ให้ความใส่ใจกับลมที่ผ่านรูจมูกแต่ละข้าง  โดยส่วนใหญ่ ลมหายใจของรูจมูกซ้าย และรูจมูกขวาชัดไม่เท่ากัน กล่าวคือ รูจมูกข้างหนึ่งอาจะจะตันกว่า ขณะที่รูจมูกอีกข้างโล่งกว่าแล้ว กรณีนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มีเหตุผลทางสรีรวิทยาประกอบอยู่ (เป็นที่ทราบกันในทางการแพทย์ว่า ร่างกายพยายามจัดปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เป็นต้น ด้วยการขยายตัวหรือหดตัวของหลอดเลือด  ซึ่งจะเกิดขึ้นที่ส่วนปลายสุดของร่างกาย เช่น ปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า เป็นต้น 
          
อับราสันและคณะ (Abramson) ได้ใช้เครื่องวัดการไหลเวียนของเลือด (plethysmographic) เพื่อวัดปริมาณการเปลี่ยนแปลงบริเวณแขนขาและปลายนิ้ว และพบว่า คนทั่วไปที่อยู่ในอุณหภูมิปกติ จะมีวงจรการทำงานของหลอดเลือดที่หลากหลายดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทุกๆ 15-60 วินาที การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้รับรู้ได้ตามแขนขาและปลายนิ้ว (Abramson: Vascular Responses in the Extremities of Man in Health and    Disease. University of Chicago Press 1944) ซึ่งปลายจมูกก็เป็นส่วนปลายของร่างกาย และน่าจะมีการเปลี่ยน แปลงในทำนองนี้เช่นกัน 
          
กรณีที่จมูก บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของเลือดไม่ได้เกิดกับรูจมูกทั้ง ๒ ข้างพร้อมๆ กัน โดยโยคะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า มันเป็นการรักษา สมดุล ขณะที่รูจมูกซ้ายระบายความร้อนออกไปทางลมหายใจ รูจมูกขวาก็พยายามอนุรักษ์เอาไว้  โดยทั่วไป ร่างกายที่ปกติจะจัดปรับตนเองโดยทำให้หลอดเลือดฝอย บริเวณรูจมูกข้างหนึ่งหดตัว ในขณะเดียวกัน หลอดเลือด ฝอยที่รูจมูกอีกข้างหนึ่งจะขยายตัว   
            
สำหรับโยคะแล้ว เพื่อที่จะรักษาสุขภาพให้ดี รูจมูก ทั้ง 2 ข้างควรเปิดโล่งเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นสภาวะเชิงอุดมคติ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเราไม่เป็นเช่นนั้น โยคะจึงแนะนำเทคนิคการหายใจสลับรูจมูก หรือที่เรียกว่า อนุโลม วิโลม ปราณายามะ คือการหายใจตามรูปแบบที่ได้อธิบายมาก่อนหน้า แต่ด้วยรูจมูกเพียงข้างเดียว ซึ่งเราเริ่มหายใจเข้าด้วยรูจมูกซ้ายเสมอ และหายใจออกด้วยรูจมูกขวา และทำสลับกันคือ หายใจเข้าด้วยรูจมูกขวา หายใจออกด้วยรูจมูกซ้าย (นับเป็น 1 รอบ) เราฝึกซ้ำวันละ 21-120 รอบ ปราณายามะ ชนิดนี้ ทำให้เกิดดุลยภาพ (homeostatic equilibrium) ในร่างกาย  เราเรียกเทคนิคนี้อีกชื่อว่า มาละ โสธนา ปราณายามะ (mala sodhana pranayama) ด้วย ซึ่งหมายถึงการทำ ความสะอาดมาละ มาละคือปัจจัยต่างๆ ที่สร้างความไม่บริสุทธิ์ สรีระมาละคือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และจิตะมาละคือปัจจัยที่รบกวนความเป็นปกติของจิต
             
โยคีบางคนเห็นว่าควรมีการเตรียมรูจมูกให้โล่งเท่ากันก่อนมาฝึกลมหายใจด้วยซ้ำ ไม่ใช่มาฝึกอนุโลมวิโลมเพื่อจัดปรับรูจมูกให้โล่งเท่ากัน โยคีเหล่านี้เชื่อว่ารูจมูกต้องโล่งทั้ง 2 ข้าง ผู้ฝึกถึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด จากการฝึกปราณายามะ พวกเขาใช้ "ไม้เท้าโยคะ" เป็นอุปกรณ์ในการเปิดรูจมูกทั้ง ๒ ให้โล่งเท่ากันก่อนฝึกปราณายามะใดๆ  ไม้เท้าโยคะคือไม้ค้ำยันอันสั้นๆ ยาวราว 50 เซนติเมตร ผู้ใช้นั่งอยู่บนพื้น เอาไม้เท้าฯ นี้มาค้ำไว้ใต้รักแร้เหมือนคนขาพิการค้ำไม้ เมื่อค้ำไว้ใต้รักแร้ข้างใด รูจมูกของฝั่งตรงข้ามจะโล่งขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
             
แนวคิดเรื่องความโล่งไม่เท่ากันของรูจมูกทั้ง 2 ข้าง กับความสมดุลของร่างกายยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการแพทย์ สรีระวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีคำอธิบายต่อปรากฏการณ์นี้ การศึกษาวิจัยของสถาบันไกวัลยธรรมก็ยังไม่มีข้อสรุป แต่เราเชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับระบบประสาทซิมพาเทติก ทั้งเรายังมีการเก็บข้อมูลทางคลินิก ที่ยืนยันว่า อนุโลม วิโลม ช่วยจัดปรับสมดุลในระบบต่างๆ ของร่างกาย และเห็นควรอย่างยิ่งกับการฝึกปราณายามะชนิดนี้  ในทางเพิ่มเติม ห้องทดลองของสถาบันไกวัลยธรรม มีรายงานการทดลองที่ยืนยันเรื่องผลของการใช้ไม้เท้าโยคะที่ทำให้รูจมูกฝั่งตรงข้ามโล่งขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว
            
เราได้อธิบายถึงหลักการฝึกควบคุมลมหายใจ ได้แสดงให้เห็นว่าปราณายามะมีรายละเอียดการปฏิบัติ ที่หลากหลาย หนังสือเล่มนี้ไม่อาจกล่าวถึงเทคนิคปราณายามะได้ทั้งหมด แต่จะขอแนะนำปราณายามะที่ฝึกง่าย ปลอดภัย ทั้งมีประโยชน์มาก ได้แก่ อุชชายี  ซึ่งจะได้กล่าวถึงในฉบับต่อไป 

 

ข้อมูลสื่อ

339-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 339
กรกฎาคม 2550
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์