• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรจีนกับสตีรอยด์ (๑)

สมุนไพรจีนกับสตีรอยด์ (๑)


ผู้ป่วยบางคนรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันตั้งนาน เลยคิดอยากจะเปลี่ยนไปหาแพทย์ทางเลือกอย่างเช่น

แพทย์แผนจีน พอไปปรึกษาแพทย์มักจะได้คำตอบว่า "ไม่ควรไปหา เพราะยาจีนไม่ว่าจะเป็นผง แคปซูล หรือเป็นสมุนไพร มักมีส่วนผสมยาสตีรอยด์ กินแล้วระยะแรกจะดีขึ้น แต่ใช้ไปนานๆ จะมีผลแทรกซ้อนเป็นอันตราย"

ผู้ป่วยบางคนมาหาหมอจีน เมื่อหมอจ่ายยาสมุนไพรให้ผู้ป่วยบางคนจะถามหมอว่า
"คุณหมอค่ะ ยาสมุนไพรจีนมีสตีรอยด์หรือเปล่า ที่บ้านเขาไม่สนับสนุน เพราะกลัวใส่สตีรอยด์แล้วเป็นอันตราย"

หลายเดือนก่อน มีผู้ป่วยรายหนึ่งไปออกรายการโทรทัศน์ให้สัมภาษณ์ในรายการดังกระจายไปทั่วประเทศว่า ได้ไปรักษาด้วยยาสมุนไพรจีน ๒-๓ เดือน เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ซึ่งสรุปว่าเป็นเพราะยาสมุนไพรจีนมีสตีรอยด์หรือผสมสตีรอยด์เข้าไป ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า คุชชิง (กลุ่มอาการ คุชชิง หรือ Cushing's syndrome)

การประชุมวิชาการประจำปีของแพทย์แผนจีน ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ เมษายน ๒๕๔๘ ได‰จัด ให้มีการอภิปรายในหัวข้อ "สตีรอยด์ในสมุนไพรจีน" มีผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เภสัชกรหญิงทัศนีย์ โชคเจริญรัตน์ จากสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เภสัชกรหญิง เย็นจิตร เตชะดำรงสิน และแพทย์จีนมานพ เลิศสุทธิรักษ์ โดยมีผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย จุดมุ่งหมายเพื่อช่วยกันหาข้อสรุปในเรื่องยาสมุนไพรจีนกับสตีรอยด์ที่เป็นประเด็นค้างคาใจประชาชน และบรรดาแพทย์แผนจีนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะตลอดจนผู้สนใจทั้งหลาย

 ๑. สตีรอยด์คืออะไร สร้างจากไหน
สตีรอยด์เป็นสารประกอบอินทรีย์อย่างหนึ่ง (สร้างในสิ่งมีชีวิต) มีโครงสร้างทางเคมีที่แน่นอน แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป มีสารตั้งต้นในการสังเคราะห์จากโคเลสเตอรอล (cholesterol) สตีรอยด์ที่สำคัญสร้างจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือก (adrenalcortex) และ ต่อมรังไข่และอัณฑะที่สำคัญได้แก่ ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (aldosterone hormone) ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol hormone) ฮอร์โมนเพศ (sex hormone) ได้แก่ ฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) และฮอร์โมนเพศหญิง (progesterone และ estrogen)

 กระบวนการสร้างฮอร์โมนมักเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองส่วนบน ตั้งแต่ไฮโพทาลามัส (hypothalamus) พิทูอิทารี (pituitary) ที่จะส่งฮอร์โมนไปกระตุ้นต่อมหมวกไต หรือต่อมเพศ หมายความว่า ในยามปกติร่างกายมนุษย์ก็มีสตีรอยด์หลายอย่างที่สร้างขึ้นมาเพื่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้เกิดการสมดุลในการดำเนินชีวิต

 ๒. สตีรอยด์สังเคราะห์ หรือที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วเอาเข้าไปในร่างกายหวังผลอะไร ส่วนมากเป็นสตีรอยด์ตัวไหน
สตีรอยด์ที่มีการตั้งใจบริโภค หรือใส่ผสมในยามีหลายตัว เช่น

๑. ฮอร์โมนเพศชายเทสโตสเตอโรน (testosterone) เพื่อกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อ หรือกระตุ้นความเป็นผู้ชายทางเพศ

๒. ฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษาโรคพวกอักเสบ ภูมิแพ้ ปวดข้อ แก้หอบ ได้แก่ กลุ่มที่คล้ายฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) จากต่อมหมวกไตส่วนเปลือก ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน (prednisolone) เดกซ่าเมทาโซน (dexamethasone)

ความจริงทั้ง ๒ กลุ่ม เป็นยาที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคหลายอย่าง เช่น ภาวะไขกระดูกถูก กดการสร้างเม็ดเลือด ภาวะภูมิต้านตัวเอง (auto-immune disease) โรคผิวหนัง โรคหืด เป็นต้น แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างจริงจัง  และต้องมีความพยายามจะต้องลดขนาดปริมาณและระยะเวลาการใช้ เพื่อให้เกิดผลแทรกซ้อนน้อยที่สุด มีคนพยายามเอาสตีรอยด์เพร็ดนิโซโลน หรือเดกซ่าเมทาโซน ซึ่งคล้ายกับคอร์ติซอลจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือก แต่มีขนาดแรงกว่า (เพร็ดนิโซโลนแรงกว่า = ๔ เท่า, เดกซ่าเมทาโซนแรงกว่า = ๒๐-๓๐ เท่า) เติมเข้าไปในยาสมุนไพร ซึ่งมักจะเป็นยาลูกกลอน ยาผง ยาแคปซูล เพื่อหวังผลให้มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ การปวดเอ็นที่ให้ผลเฉียบพลัน เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว และเป็นยาราคาถูก หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้สรุปให้ฟังว่า คนที่ใส่สตีรอยด์เข้าไปในยามักไม่ใช่หมอ และหมอที่มีความรู้ หรือหมอจริงก็ไม่ใส่สตีรอยด์สังเคราะห์ในยาสมุนไพร เพราะผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม และถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้

 ๓. การสังเคราะห์คอร์ติซอล (ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือกที่มีฤทธิ์คล้ายเพร็ดนิโซโลน) ของร่างกายมีกลไกอย่างไร
เมื่อมีความเครียด ภาวะบีบคั้น หรือมีการอักเสบเกิดขึ้นจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน CRF จากไฮโพทาลามัส ซึ่งจะไปกระตุ้น การหลั่งฮอร์โมน ACTH จากต่อม พิทูอิทารี (pituitary) เพื่อไปกระตุ้นต่อมหมวกไตส่วนเปลือก (adrenal cortex) เพื่อให้ร่างกาย หลั่งฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticiod) เพื่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับสิ่งมากระตุ้น
 
 ๔. ประโยชน์ของสตีรอยด์คืออะไร
คอร์ติซอลจะหลั่งมากเมื่อมีภาวะความเครียด ขณะออกกำลังกาย ขณะอดอาหาร เมื่อต้องการใช้พลังมากขึ้น โดยจะกระตุ้นให้มีการสลายคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ออกสู่กระแสเลือดให้มากขึ้น และจะมีการสะสมที่ตับมากขึ้น (มักหลั่งออกมาพร้อมฮอร์โมนอื่นๆหลายตัว)

ประโยชน์ที่ใช้ทางคลินิก
- เพิ่มพลังงานเมื่อต้องเจอภาวะเครียดรุนแรง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เช่น ภาวะช็อก
 - ลดการอักเสบ หยุดปวด
ผิวหนังอักเสบ
สมองบวม
ลดอาการหอบหืด
หยุดการปวดข้อ เอ็น
กดภูมิคุ้มกัน ยับยั้งอาการของโรคภูมิแพ้ ตัวเอง
ใช้กดภูมิในกรณีเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
 - ลดความเครียด เจริญอาหาร

 ๕. โทษของสตีรอยด์คืออะไร
สตีรอยด์ธรรมชาติ หรือสตีรอยด์สังเคราะห์ ถ้ามีน้อยเกินไปหรือมากเกินไปมีโทษทั้งสิ้น การใช้สตีรอยด์นานๆ จะเกิดโทษคือ
๑. ภูมิคุ้มกันลดลง ติดเชื้อง่าย
๒. เกิดไขมันในเลือดสูง
๓. เกิดเบาหวาน เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูง
๔. กระดูกพรุน เพราะไปลดการดูดซึมแคลเซียม และทำให้แคลเซียมออกจากกระดูก
๕. เกิดภาวะความดันเลือดสูง
๖. โอกาสเกิดโรคหัวใจวายสูง
๗. โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดในสมองแตก ตีบ
๘. บวมน้ำ
๙. เป็นสิว
 ๑๐. แผลในกระเพาะอาหาร
 ๑๑. โรคตับ มะเร็งตับ
 ๑๒. ไตฝ่อ
 ๑๓. โรคนอนไม่หลับ โรคจิตประสาท

 ๖. ยาสมุนไพรจีนมีสตีรอยด์จริงหรือ
ยาสมุนไพรหลายชนิดมีส่วนประกอบของสตี-รอยด์ธรรมชาติเป็นส่วนประกอบหนึ่ง แต่มีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสตีรอยด์สังเคราะห์ เช่น เขากวางอ่อน มีสารออกฤทธิ์คล้ายเทสโตสเตอโรนที่สร้างจากต่อมอัณฑะ มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ช่วยการทำงานของหัวใจ ทำให้แผลหายเร็ว

ข้อสังเกต

๑. ในสมุนไพรตัวเดียวจะมีสารออกฤทธิ์มากมายหลายตัว อาจมีตัวหลักตัวเดียว แต่มีตัวอื่นไปช่วยเสริมฤทธิ์ในการควบคุมพิษในตัว

๒. ในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะมีสารออกฤทธิ์เด่นตัวเดียว แต่เวลาใช้ในผู้ป่วยมักจะต้องใช้สมุนไพรตัวอื่นประกอบกันเป็นตำรับยา เพื่อเสริมฤทธิ์ ลดผลข้างเคียงทำลายพิษ เพื่อผลการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย

๓. กระบวนการเตรียมยาสมุนไพรจีนเพื่อการใช้ นอกจากจะทำให้ยาแห้ง มีขนาด รสชาติที่เหมาะสม ยังมีวิธีการทำลายพิษ ลดพิษของยาสมุนไพร หรือทำให้ฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ลดลง เสริมฤทธิ์ที่ต้องการ มีการเตรียมยาเพื่อให้ยาเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ

อาหารและพืชโดยธรรมชาติ จำนวนมากก็มีสารโครงสร้างคล้ายสตีรอยด์ แต่การกินการใช้ในชีวิตประจำวันไม่เกิดปัญหา เช่น ข้าวเจ้า ก็พบว่ามีสารคล้ายสตีรอยด์ ถ้าต้องการให้ออกฤทธิ์เหมือนสตีรอยด์ต้องสกัดเฉพาะ และใช้จำนวนมหาศาลซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ และไม่มีคนทำในทางปฏิบัติ ถ้าต้องการปริมาณมากจึงต้องทำการสังเคราะห์ขึ้นเอง ต้นทุนถูกกว่า ง่ายกว่า

ข้อมูลสื่อ

314-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 314
มิถุนายน 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล