• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พู่ระหง :ดอกไม้แห่งศักดิ์ศรีจากพญาหงส์

พู่ระหง : ดอกไม้แห่งศักดิ์ศรีจากพญาหงส์


"สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย        งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
ดั่งหงส์ทรงพรหมินทร์         ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม"


กาพย์เห่เรือบทที่ยกมาขึ้นต้นบทความตอนนี้ เขียนขึ้นจากความทรงจำช่วงเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว จึงอาจจะผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เหตุที่ยังท่องจำบทกาพย์เห่เรือนี้ได้ นอกจากจะเป็นบทอาขยานแล้ว ยังเนื่องจากมีความไพเราะและให้ภาพลักษณ์ถึงความสง่างามของเรือสุพรรณหงส์ ยามลอยเลื่อนไปบนผิวน้ำ ดูคล้ายพญาหงส์ซึ่งเป็นพาหนะขององค์พระพรหมเลยทีเดียว และส่วนหนึ่งที่ทำให้เรือสุพรรณหงส์มีความงามสง่าได้อย่างนั้นก็คือ "พู่ห้อย" ที่อยู่ด้านหน้านั่นเอง
พู่ที่ห้อยอยู่หน้าเรือสุพรรณหงส์นั้นคนไทยเรียกกันว่า "พู่เรือหงส์" นับเป็นเครื่องประดับที่สำคัญและเด่นที่สุดของเรือสุพรรณหงส์เลยทีเดียว  ผู้อ่านลองจินตนาการดูก็ได้ว่า หากเรือสุพรรณหงส์ไม่มีพู่ห้อยอยู่ด้านหน้าแล้ว ความสง่างามจะลดน้อยลงสักเพียงไหน
ด้วยเหตุที่ว่า "พู่เรือหงส์" เป็นภาพลักษณ์ของความสง่างามและศักดิ์ศรีของเรือสุพรรณหงส์ คนไทยจึงนำมา ตั้งเป็นชื่อของดอกไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับพู่ของเรือหงส์ว่า ดอก "พู่เรือหงส์" กลายเป็นไม้มงคลอย่างไม่เป็นทางการอีกชนิดหนึ่งของไทย

พู่ระหง : ชื่อใหม่ที่กลายมาจากพู่เรือหงส์
พู่ระหง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus schizopetalus Hook. f. อยู่ในวงศ์ Malvaceae เช่นเดียวกับชบา ฝ้าย กระเจี๊ยบ เป็นต้น พู่ระหงเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขารอบต้น เปลือกและใบมียางเหนียว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับไปตามกิ่งก้าน ก้านใบยาว ใบบาง ผิวใบเรียบเป็นมัน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย รูปมนรี ปลายใบแหลม สีเขียว กว้าง ๔-๖ เซนติเมตร ยาว ๖-๑๒ เซนติเมตร

ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามส่วนยอดของกิ่ง ครั้งละหลายดอก แต่ทยอยกันบานติดต่อไป แต่ละดอกมีก้านดอกยาว ๖-๑๐ เซนติเมตร กลีบดอกมีสีแดงจำนวน ๕ กลีบ โคนกลีบแคบ ปลายกลีบกว้างออกและงอโค้งขึ้นหาก้านดอก พู่ระหงมีกลีบดอก ๒ ชนิด คือ ชนิดกลีบเต็มเป็นแผ่น และชนิดกลีบแยกเป็นริ้วเล็กๆ ตรงกลางดอกมีก้านเกสรยื่นยาวออกมายาว ๘ เซนติเมตร ส่วนปลายมีแขนงเกสรตัวผู้แผ่ออกไปโดยรอบ เกสรตัวผู้มีสีเหลือง ตอนปลายเป็นเกสรตัวเมียแยกแขนงออกไป ๕ แฉก ดอกพู่ระหงห้อยคว่ำหน้าลงพื้น มีส่วนก้านเกสรห้อยลงต่ำสุด ลักษณะคล้ายพู่เรือหงส์สมชื่อที่ชาวไทยเรียกแต่เดิม ความกว้างของดอกเมื่อบานเต็มที่ประมาณ ๑๐ เซนติเมตร

แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของพู่ระหงสันนิษฐานว่าอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา และคงจะเข้ามาในประเทศไทยช่วงไม่เกิน ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา เพราะไม่พบมีการเอ่ยถึงชื่อพู่ระหงในวรรณคดีไทยเรื่องใดเลย และไม่ปรากฏรายชื่อในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ คำพู่ระหงปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ.๒๔๙๓ อธิบายว่า "พู่ระหง น. ชื่อต้นไม้ จำพวกชบา ดอกสีแดง เป็นพู่ห้อยลงมา"
หากเชื่อว่า คำพู่ระหงกลายมาจากคำว่า "พู่เรือหงส์" ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ พู่ระหงคงเข้ามาเมืองไทยได้หลายสิบปีแล้ว ชื่อเรียกอื่นๆ ของพู่ระหง คือ พู่เรือหงส์ พู่ระโหง (กลาง) หางหงส์ (เหนือ) และชุมบาห้อย (ปัตตานี)
ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Fringed hibicus
พู่ระหงเป็นพืชที่ปลูกง่าย แข็งแรง ทนทาน โตเร็ว ขึ้นในดินทุกชนิด ชอบแดดจัด ต้องการน้ำพอประมาณ ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการตัดกิ่งปักชำลงแปลงปลูกโดยตรง เด็กนักเรียนสมัย ๔๐ ปีก่อนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ปลูกพู่ระหงโดยวิธีปักชำกันมาแล้ว เพราะในสมัยนั้นโรงเรียนส่วนใหญ่นิยมปลูกพู่ระหงกันทั่วไป เพราะความที่ปลูกและดูแลรักษาง่ายนั่นเอง

ประโยชน์ของพู่ระหง
คนไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกพู่ระหงมาสระผม เช่นเดียวกับดอกอัญชัน และผลมะกรูดย่างไฟ เชื่อกันว่าทำให้ผมดกดำ และไม่ร่วงหรือแตกปลาย เป็นต้น
รากของพู่ระหงนิยมนำมาเผาไฟใช้ในการทำน้ำตาลเมาหรือเหล้า เชื่อว่าทำให้ได้น้ำตาลเมาหรือเหล้าที่มีคุณภาพสูง และแรงขึ้น (ดีกรีเพิ่มขึ้น)
พู่ระหงในฐานะไม้ประดับ ได้รับความนิยมจากชาวไทยตั้งแต่ อดีตมาจนปัจจุบัน เพราะนอกจากปลูกดูแลรักษาง่าย ให้ดอกงดงาม ตลอดปี และยังถือเป็นไม้มงคลอย่างหนึ่งอีกด้วย เพราะเกี่ยวข้อง กับเรือสุพรรณหงส์นั่นเองทำให้มีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกพู่ระหงเป็นรั้วบ้านจะประสบสิ่งสิริมงคล และมีฐานะดีเป็นเศรษฐีได้

ข้อมูลสื่อ

314-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 314
กรกฎาคม 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร