• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้เลือดออกป้องกันได้

ไข้เลือดออกป้องกันได้


นายแพทย์สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โรคไข้เลือดออก และมาตรการป้องกันว่า ตั้งแต่ ๒ มกราคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๘ มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ๑๓,๑๕๘ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๒๑.๒๓ ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต ๒๓ ราย

นายแพทย์สุชัย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งสถานการณ์การเกิดโรคขณะนี้ในภาพรวมสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดได้ คืออัตราป่วยไม่เกิน ๕๐ ต่อประชากรแสนคน "ในด้านการรักษานั้น ได้จัดอบรมพัฒนาความรู้ให้กับแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐ และเอกชนทั่วประเทศแล้วกว่า ๘๐๐ คน มั่นใจว่าจะให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน และจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจากมาถึงมือแพทย์ช้าเกินไป ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนว่าในฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก หากมีไข้สูง เกินกว่า ๒ วัน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สำคัญอย่าซื้อยากินเองเด็ดขาด" นพ.สุชัยกล่าว

นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นวิธีที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุด ทั้งนี้ ร้อยละ ๙๕ ของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกนั้น จะอาศัยอยู่ในบ้านโดยวางไข่ในน้ำนิ่งและใสสะอาด เช่น อ่างเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองขาตู้กับข้าว แจกันดอกไม้ เป็นต้น คณะนักวิจัยยืนยันยังไม่พบผู้ติดเชื้อมาลาเรียจากลิงสู่คนในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างแน่นอนจึงไม่ควรวิตกกังวล

กองโรคมาลาเรีย กรมควบคุมโรค เตือนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของไข้มาลาเรียที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้อันเนื่องมาจากประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนของโลก ซึ่งมีภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญพันธุ์ของยุงก้นปล่อง จากรายงานในปี พ.ศ.๒๕๔๗ มีผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียถึง ๓๐,๐๐๐ ราย โดยจังหวัดที่พบมาลาเรียสูงสุด ได้แก่ จังหวัดตาก และการระบาดพบมากที่สุดในจังหวัดแถบ ชายแดนไทย-พม่า อันเนื่องมาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนมากตลอดจน นักท่องเที่ยวที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย หรือได้รับยาที่ไม่ถูกต้อง

โรคมาลาเรียถือเป็นโรคติดต่อที่มีความร้ายแรงติดอันดับ ๑ ใน ๔ โรคติดต่อบางชนิดสามารถก่อโรคได้กับคนและสัตว์หลายประเภท จากการถ่ายทอดไปมาระหว่างกัน เนื่องจากคนกับลิงมีความใกล้ชิดทางสายวิวัฒนาการโดยมีโครงสร้างของร่างกายหน้าที่ทางสรีรวิทยาและลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกัน จึงทำให้เชื้อมาลาเรียบางชนิด ของลิงซึ่งมียุงก้นปล้องเป็นพาหะสามารถติดต่อกันได้ 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย จงวุฒิเวศย์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากที่ได้ทำการศึกษาวิจัยได้ตรวจพบผู้ป่วยเพียง ๑ รายเท่านั้นที่มีการติดเชื้อมาลาเรียจากลิงสู่คน โดยเชื้อที่ตรวจพบนั้นเป็นเชื้อพลาสโมเดียม โนว์ลิไซ ที่เกิดจากเชื้อของลิงแสมหรือลิงหางยาว เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งโดยปกติสายพันธุ์ที่พบได้แก่ เชื้อมาลาเรียชนิดโนว์ลิไซ (P.knowlesi)  ชนิดไซโนมอลจิ  (P.cynomolgi) ชนิดอินนูไอ (P.inui)  ซึ่งทั้ง ๓ ชนิดนี้จะพบในลิงแสมแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนเชื้อมาลาเรียชนิดบราซิเลียนุม (P.braslianum) และชนิดไซเมียม  (P.simium)  พบในทวีปอเมริกาใต้

ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่นอนว่าพบอุบัติการณ์ของเชื้อมาลาเรียในลิงสู่คน จึงไม่ควรตื่นตระหนก แต่ควรป้องกันในกรณีที่จำเป็นต้องเข้าไปในป่า แนะนำขอให้สวมเสื้อผ้าปกปิดให้มิดชิด นอนในมุ้ง มุ้งลวด และทายาป้องกันยุงบ่อยๆ แทนการกินยาเนื่องจากมีผู้แพ้ยาและดื้อยา จึงไม่ควรเข้าป่าในเวลาที่ยุงออกหากิน หรือช่วงเวลาเย็นยามโพล้เพล้ และไม่นอนค้างคืนในในป่า

เส้นทางของโรคมาลาเรีย

๑. เมื่อยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคน เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าไปแฝงตัวอยู่ในเซลล์ตับ

๒. เชื้อจะเจริญในเซลล์ตับจนเป็นตัวแก่เกิดการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนขึ้น จากนั้นเซลล์มาลาเรียที่มีเชื้อจำนวนมากอยู่ภายในจะแตกออก ปล่อยเชื้อมาลาเรียจำนวนมากเข้าสู่กระแสเลือด

๓. เชื้อจะเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง และใช้ชีวิตในเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมทั้งแบ่งตัวอยู่ภายใน

๔. ทุกๆ ระยะ ๔๘ ชั่วโมง เซลล์เม็ดเลือดแดงจะแตกออก ปล่อยเชื้อเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือด

๕. เชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดจะวิ่งเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดงเซลล์ อื่นๆ เพื่อเพิ่มจำนวน

๖. เชื้อมาลาเรียบางส่วนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย

๗. เมื่อเซลล์มาลาเรียเป็นเพศผู้หรือเพศเมียออกสู่กระแสเลือด หากมียุงก้นปล่องมาดูดเลือดจากผู้ป่วย (หรือพาหะ) เชื้อมาลาเรียก็จะมีโอกาสแพร่ไปยังคนอื่นๆ ผ่านยุงที่เป็นพาหะของตัวนั้นต่อไป

ข้อมูลสื่อ

315-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร
กองบรรณาธิการ