• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)


ผู้ถาม : ผดุง/กรุงเทพฯ
ปัจจุบันผมอายุ ๑๘ ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ปวส. ปี ๑ มีปัญหาจะขอเรียนปรึกษาคุณหมอคือ ผมมีอาการเจ็บคอมาก (โดยเฉพาะเวลากลืนน้ำลาย) เพื่อนบอกว่าน่าจะเป็นอาการของต่อมทอนซิลอักเสบ ผมจึงอยากทราบว่า

  • ต่อมทอนซิลอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร 
  • ถ้าเป็นแล้วมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน
  • ควรปฏิบัติตัวอย่างไรในขณะที่เกิดอาการ
  • สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม

ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ

 

ผู้ตอบ : นพ.ดำรงค์ เลาหะพรสวรรค์
ต่อมทอนซิล (tonsils) เป็นต่อมน้ำเหลือง (lymphoid tissue) กลุ่มหนึ่งในร่างกาย ประกอบด้วยต่อมทอนซิลหลังโพรงจมูก (หรือต่อม adenoid), ต่อมทอนซิลที่โคนลิ้น (lingual tonsil) และต่อมทอนซิลที่อยู่ในช่องปากที่เราเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก โดยเฉพาะเวลากลืน อาการปวดในบางรายจะร้าวขึ้นไปถึงหู เวลาตรวจในช่องปากจะพบต่อมทอนซิลบวมแดงขนาดใหญ่ขึ้น และมีเยื่อขาวๆ ปกคลุม

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบระยะเฉียบพลันควรปฏิบัติตัว ดังนี้

๑. ใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ที่มีประสิทธิภาพดี โดยแพทย์ควรเป็นผู้สั่งให้ ปัจจุบันเชื้อแบคทีเรียมีปัญหาดื้อยาได้บ่อย

๒. ดื่มน้ำมาก เนื่องจากผู้ป่วยเจ็บคอมากมักจะดื่มน้ำค่อนข้างน้อย

๓. พักผ่อนให้เต็มที่

๔. ในรายที่ให้ยาปฏิชีวนะแบบกินแล้วไม่ได้ผล อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เป็นฝีข้างต่อมทอนซิล (peritonsillar abscess) ซึ่งจำเป็นต้องเจาะระบายหนองออกและให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด

การผ่าตัดต่อมทอนซิลออกมีข้อพิจารณา เช่น

๑. ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย เช่น มากกว่าปีละ ๒-๓ ครั้ง หรือการอักเสบแต่ละครั้งมีอาการรุนแรง

๒. ผู้ป่วยมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจจากต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่

๓. ผู้ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคคอตีบ (diptheria)

การผ่าตัดต่อมทอนซิล ขั้นตอนการผ่าตัดไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ทั้งแบบยาชาเฉพาะที่ หรือดมยาสลบ

การผ่าตัดจะผ่าในช่องปาก (คล้ายถอนฟันคุด) หลังผ่าตัดจะพักในโรงพยาบาล ๑ คืน ก็สามารถกลับบ้านได้ ใช้เวลาพักฟื้นที่บ้าน ๔-๕ วัน ก็สามารถทำงานได้ตามปกติ หลังผ่าตัด ช่วงแรกผู้ป่วยจะกินอาหารเหลวในช่วง ๒-๓ วันแรก เนื่องจากจะเจ็บคอจากแผลผ่าตัด หลังจากนั้นจะกินได้ตามปกติ

การผ่าตัดต่อมทอนซิลออกไม่ทำให้เสียงขาดหายไป เนื่องจากไม่ได้ทำการผ่าตัดที่บริเวณกล่องเสียง และภูมิต้านทานของร่างกายไม่ได้ลดลง เนื่องจากต่อมทอนซิลที่ควรจะผ่าตัดนั้นมักมีการอักเสบเรื้อรังมาก และมีเชื้อโรคสะสมภายในเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถจะทำหน้าที่ช่วยกรองเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และเชื้อโรคกับหินปูนที่สะสมอยู่ในต่อมทอนซิลยังเป็นต้นเหตุสำคัญของกลิ่นปากแต่การผ่าตัดก็จะทำเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้นครับ
 

ข้อมูลสื่อ

315-008-8
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
นพ.ดำรงค์ เลาหะพรสวรรค์