• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุรากับการพัฒนา


แม้พระจะให้ศีล "สุราเมระยะมัชชะปะมา..." วันละหลายหมื่นเที่ยว แต่การดื่มสุราในประเทศไทยกลับมียอดพุ่งสูงกว่าประเทศต่างๆ เป็นอันมาก
แม้ประเทศฝรั่งเศส การพูดถึงโทษภัยต่างๆ ของการดื่มสุรา เช่น ต่อสุขภาพของตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อสังคม ต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจร
อย่างไรๆ การดื่มสุราก็ไม่ลดลง

สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งมีภารกิจหลักในการลดการบริโภคบุหรี่และสุราลงให้ได้
ก็ยังมองไม่เห็นแสงว่าจะลดการบริโภคสุราลงได้อย่างไร

ฉะนั้น ก่อนอื่นควรจะยอมรับว่าการลดการบริโภคสุราลงเป็นเรื่องยากมาก ยังไม่มีวิธีที่จะทำให้สำเร็จอย่างยั่งยืน จะได้ไม่ทึกทักเอาอย่างง่ายๆ
ว่าทำอย่างโน้นอย่างนี้แล้วจะสำเร็จ

ตั้งคำถามในทางกลับกันด้วยว่าทำไมคนจึงดื่มเหล้า ดื่มแล้วดีอย่างไร ทำไมจึงดื่ม ทำไมยุโรปจึงดื่มไวน์กันทั้งทวีป ทวีปยุโรปจะปราศจากไวน์ได้ไหม

ในทางยุทธศาสตร์อาจต้องแยกผู้ดื่มเล็กน้อยกับผู้ดื่มหนักแบบหัวราน้ำ หรือขี้เหล้าออกจากกัน เพราะต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในขณะที่วิถีชีวิตปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียดทั้งโลก ถ้าไม่ลดความเครียดคงลดการดื่มสุราไม่ได้ การลดความเครียดเป็นระเบียบวาระของมนุษยชาติทีเดียว
มนุษย์ต้องการวิถีชีวิตใหม่ การสร้างดุลยภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งทางกาย ทางใจ และทางสังคม การทำให้การเจริญสติเป็นวิถีชีวิต
เป็นกุญแจของการแก้ปัญหาทั้งปวง

การโฆษณาประชาสัมพันธ์ลดแลกแจกแถมให้คนดื่มเหล้ามากๆ เป็นการผิดศีลธรรม ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ
การส่งเสริมให้มีสัมมาอาชีวะเต็มพื้นที่คือรากฐานของความสุขความเจริญ สัมมาอาชีวะคืออาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ถ้าทุกหมู่บ้านทุกตำบลมีสัมมาอาชีวะเต็มพื้นที่ อบายมุขทั้งหลายจะหมดไปหรือเหลือน้อยเต็มที
การพัฒนาจึงจะสุดแต่ให้ได้เงินไม่ได้ แบบนั้นเขาเรียกว่าเงินนิยม จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรม เป็นมิจฉาพัฒนา
สัมมาพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีสัมมาอาชีวะเต็มพื้นที่ ซึ่งมีประเด็นทางนโยบายให้ทำมากทีเดียว

ข้อมูลสื่อ

308-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
ศ.นพ.ประเวศ วะสี