• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกรดไหลย้อนมั่วๆ

ปัจจุบันยาลดกรดในกระเพาะอาหารขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่วนใหญ่มีการโฆษณากันอย่างแพร่หลาย  พร้อมกันนั้นก็เกิดโรคกรดไหลย้อนแพร่ระบาดไปทั่ว แม้แต่ชาวบ้านที่ห่างไกลความเจริญก็พบว่ามีไม่น้อยที่ต้องกินยาลดกรดอย่างแรงเป็นประจำ เพราะแพทย์สั่งให้และบอกว่าเป็นโรคนี้ แต่พอให้ผู้ป่วยอธิบายว่าโรคกรดไหลย้อนคืออะไรและมีอาการอย่างไร ทำไมต้องกินยาแบบนี้ ตัวผู้ป่วยเองก็มักจะตอบไม่ได้

โรคกรดไหลย้อน (GERD) คือ ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนหน้าอกหรือจุกเสียดลิ้นปี่ แสบคอ บางครั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่เหตุใดจึงมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกยิ่งกว่าไข้หวัดนกและโรคซาร์สเสียอีก ในทรรศนะของผู้เขียนคิดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของการตลาดที่ผ่านการจัดการอย่างแยบยลของบริษัทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายยาลดกรดอย่างแรงกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งราคาก็แรงตามไปด้วย)

เริ่มจากบริษัทยาขนาดใหญ่ร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์และแพทย์ที่มีชื่อเสียง ทำการวิจัยและเผยแพร่ความรู้ไปสู่แพทย์ทั่วโลกโดยกระทำการหลายอย่าง เช่น รายงานผลการวิจัย การเขียนบทความทางวิชาการ การประชุมวิชาการ การอบรมเพิ่มเติมความรู้ และการทุ่มแจกตัวอย่างยาให้แพทย์นำไปใช้ฟรี (แต่มักจะคิดเงินจากผู้ป่วย)

หลังจากครอบงำความคิดของแพทย์ส่วนใหญ่ได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะปั่นหัวประชาชนทั่วไปให้รู้จักโรคนี้ ซึ่งก็เหมือนกับพวกหนังเร่ขายยาสมัยก่อน คือ ขู่ให้กลัวโรคแล้วเสนอยาที่ใช้รักษา เมื่อการตลาดของบริษัทยาเป็นเช่นนี้ โรคนี้จึงกลายเป็นโรคฮิตอีกโรคหนึ่งเพราะคนส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะเกิดอาการแบบนี้ ทำให้ยากลุ่มลดกรดอย่างแรงจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มยาขายดีหรือ Best seller (เรื่องลึกๆ ของธุรกิจยา ผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ” โดย Dr. Marcia Angell จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน ซึ่งจะตีแผ่เล่ห์เหลี่ยมและอุบายอันซับซ้อนแยบยลของบริษัทยา ซึ่งมุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงว่าผู้บริโภคจะตกเป็นเหยื่อ)

ทีนี้มาดูว่า ความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน

ภาวะที่เกิดกรดหรือน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหารจนทำให้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนนั้นพบได้น้อยมาก เพราะธรรมชาติได้กำหนดวิธีการป้องกันที่ดีไม่ให้กรดและน้ำย่อยในกระเพาะสามารถไหลย้อนขึ้นมาข้างบนได้

แต่บางครั้งกรณีเกิดธาตุพิการอาหารไม่ย่อย เช่นจากการกินอาหารย่อยยากหรือเคี้ยวไม่ละเอียด ทำให้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว จะเกิดแรงดันในกระเพาะเพิ่มสูงขึ้น ร่วมกับมีการขย้อน ทำให้น้ำย่อยที่มีกรดไหลย้อนขึ้นมา เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก และถ้าขย้อนขึ้นมาถึงคอก็จะรู้สึกเปรี้ยวหรือแสบคอเล็กน้อย ถ้ารุนแรงกว่านั้นก็จะอาเจียน สภาพเช่นนี้มักจะเป็นกันแทบทุกคนเพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นบ่อย แต่ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ (โดยเฉพาะถ้าไม่มีอาการของธาตุพิการอาหารไม่ย่อย) จึงจะเรียกว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างหรือเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้คือ ผู้ป่วยอ้วนลงพุง ผู้ที่กินอาหารครั้งละมากๆ ชอบกินอาหารมันๆ (เช่น ของทอด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู หรือขนมที่มีกะทิ)

นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่กินอาหารเสร็จใหม่ๆ แล้วรีบนอน ผู้ที่ชอบดื่มน้ำอัดลม ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงและเกิดอาการดังกล่าวข้างต้นนานๆ ครั้ง (ไม่บ่อย) ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาลดกรดอย่างแรง

โรคกรดไหลย้อนมั่วๆ อีกแบบหนึ่งก็คือ ผู้ป่วยที่มักจะเจ็บคอบ่อยๆ เสียงแหบ ชอบกระแอมหรือเค้นขากเสมหะในคอเป็นประจำ ไอบ่อยๆ (โดยที่ไม่มีอาการแสบร้อนหน้าอก หรือเรอเปรี้ยวในคอเป็นประจำ) บางครั้งไปพบแพทย์ก็บอกว่าคอแดง กล่องเสียงอักเสบแดง ซึ่งอันที่จริงการแยกแยะสีมันไม่ง่ายขนาดใช้ตาดูแล้วบอกได้แม่นยำ เพราะตามธรรมชาติในลำคอคนปกติทั่วไปก็มีสีชมพูอมแดงอยู่แล้ว (ยกเว้นเป็นโรคโลหิตจางมากหรือใกล้เสียชีวิตสีจะซีด)

ผู้ป่วยบางคนได้ยาแก้อักเสบมากิน บางคนได้ยาลดกรดที่ใช้รักษากรดไหลย้อน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมากจนทำให้ยาลดกรดอย่างแรงขายดีเกินควร เพราะผู้ป่วยมักคิดว่าต้องใช้ยาเป็นประจำ และหลายครั้งที่แพทย์สั่งยากลุ่มนี้ให้ใช้อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ควรตระหนักคือ อันตรายจากยาจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะธรรมชาติของร่างกายนั้นมีการสร้างกรดในกระเพาะอาหารเพื่อช่วยย่อยอาหาร ฆ่าเชื้อโรค และทำลายสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เชื้อโรคต่างๆ พยาธิ สารพิษ สารก่อมะเร็ง เป็นต้น

การใช้ยาลดกรดอย่างแรงเป็นประจำทำให้ไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร จึงเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมา

ในทางการแพทย์ การที่ไม่มีกรดจะทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดธาตุพิการอาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อได้ง่าย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดอย่างแรงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
 

ข้อมูลสื่อ

389-050
นิตยสารหมอชาวบ้าน 389
กันยายน 2554
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์