• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะบำบัด(๑)

โยคะบำบัด(๑)


ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่ศึกษาโยคะทุกคนเข้าใจสาระทางจิตของโยคะเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาโยคะจำนวนมากทำงานอยู่ในแวดวงสาธารณสุข และมีคำถามเรื่อง "โยคะบำบัด" มาก จึงขออนุญาตทยอยแปลหนังสือโยคะบำบัด โดยสวามีกุลวัลยนันท์ และดอกเตอร์วินาคาร์ มาให้อ่านกัน

Yoga Therapy : its Basic Principles and Methods* ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ โดยรัฐบาลอินเดียเป็นผู้สนับสนุนการพิมพ์ เรียกว่าเป็นตำราที่ได้รับการยอมรับในระดับนโยบาย ถือกันว่าตำราเป็นตำราโยคะบำบัดที่มีความเป็นวิชาการอย่างยิ่ง และเป็นตำราที่ใช้อ้างอิงสำหรับโยคะบำบัด ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

คำนำ

หากว่ากันตามจริง การบำบัดไม่ใช่เรื่องของโยคะ แต่กระนั้น โยคะก็ส่งผลต่อสุขภาพมาก โยคะกับสุขภาพเกี่ยวเนื่องกันได้อย่างไร? ในทางใด? นี่เป็นสิ่งที่เราจะมาพิจารณากัน คำศัพท์ "โยคะ" ใช้ใน ๒ ความหมาย ทั้งหมายถึงเป้าหมายและทั้งหมายถึงวิถีทางไปสู่เป้าหมาย
ในความหมายแรก โยคะ หมายถึง องค์รวม หรือบูรณาการในระดับสูงสุด 
ในความหมายที่สอง เทคนิคการฝึกปฏิบัติทั้งหลาย ที่จะช่วยนำเราไปสู่สภาวะแห่งความเป็นองค์รวม ก็เรียกว่าโยคะ หรือยุคติ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคขั้นสูงหรือเทคนิค พื้นฐาน หากมันทำให้ผู้ฝึกมีความก้าวหน้าพัฒนาไปสู่ความเป็นบูรณาการ ล้วนเรียกรวมว่า โยคะ
โยคะเป็นศาสตร์บูรณาการที่มองมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม ไม่ได้แยกเป็นส่วนๆ ว่ากาย ว่าจิต ว่าจิตวิญญาณ เป็นต้น

ในกระบวนการไปสู่ความเป็นองค์รวม จำเป็นที่จะต้องหาหนทาง และวิธีปฏิบัติเพื่อที่จะต่อกรกับอุปสรรคต่างๆ ในทุกรูปแบบที่จะทำให้เกิดการแยกส่วน เช่น ความป่วยกาย ป่วยใจ พูดได้ว่า สุขภาพกายที่ดี สุขภาพจิตที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการฝึกโยคะขั้นสูง และเพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ศาสตร์แห่งโยคะได้แนะนำ เทคนิคเพื่อสุขอนามัยทั้งกายและใจ ซึ่งเรียกว่า กริยาโยคะ สำหรับผู้ฝึกโยคะที่ยังไม่อยู่ในสภาวะแห่งความสมดุล จำเป็นที่จะต้องฝึกกริยาโยคะเสียก่อน ที่จะก้าวขึ้นสู่การฝึกโยคะขั้นสูง ถึงกับเป็นคำเตือนเลยว่า หากไม่ทำเช่นนี้ ผู้ฝึกอาจเกิดอันตราย ไม่ทางกายก็ทางจิต ตัวอย่างของผู้ประสบปัญหาจากการผลีผลามไปฝึกโยคะขั้นสูง โดยไม่มีความพร้อมก็มีปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในตำราโยคะ

คำว่ากริยาหรือกรรมะ โดยรากศัพท์หมายถึงการ กระทำ แต่สำหรับโยคะ กริยามีความหมายที่เฉพาะเจาะจง หมายถึง การชำระล้างหรือการฟื้นฟูสภาพให้คืนดังเดิม แม้ในภควัทคีตา ก็ใช้คำว่ากริยาไปในความหมายของการชำระล้าง ส่วนคำว่ากรรมะ หมายถึง การกระทำทั่วๆ ไป ที่ควร ทำในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ รวมทั้งการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติไปสู่ความมีจิตใจที่สะอาด

แม้ในอายุรเวท คำว่ากรรมะก็มีความหมายเดียวกัน ได้แก่ โสธนากรรมะที่หมายถึง กระบวนการชำระล้างที่อยู่ในส่วนของปัญจกรรมะจิกิจสา (การชำระล้างทั้ง ๕)  ในโยคะเอง คำว่ากริยาหรือกรรมะ ใช้ในการชำระล้างอันหลากหลาย เช่น ชำระล้างด้วยน้ำ ด้วยอากาศ เป็นต้น กริยาโยคะเป็นขั้นของการเตรียมโดยรวม ซึ่งช่วยให้การฟื้นฟูสภาพทั้งกายและจิตเป็นไปโดยสมบูรณ์ ตลอดจนการขยายศักยภาพที่จะปรับตัว รวมถึงการยกระดับความสามารถในการตอบสนอง ถ้าจะกล่าวให้ชัดในกริยาโยคะ มีการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ทั้งในระดับของกายภาพและจิตใจ ความพยายามนี้จะเป็นตัวสร้างภูมิต้านทาน ทำให้เกิดศักยภาพที่จะต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบทั้งทางกายและทางใจ ทั้งจากภายนอก และจากภายในเอง ปราการทางกาย ทางใจนี้ถือว่าสำคัญมากในการสร้างพฤติกรรมที่สมดุล และบุคลิกภาพ อันมั่นคงซึ่งเป็นเป้าหมายอันแท้จริงของโยคะ เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า ทั้งสุขภาพกายที่ดี จิตใจที่เป็นสุขนั้นมีระดับขีดขั้นของมัน แม้จะยังไม่อาจระบุระดับกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างชัดเจนนักก็ตาม กริยาโยคะเป็นไปเพื่อยกระดับของสุขภาพกาย สุขภาพใจนี้ให้สูงขึ้นมากเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งเป้าหมายนี้ ก็มีการกำหนดหลักการที่แน่นอน ได้แก่ การเลือกกินอาหาร การอยู่อาศัย และการพัฒนาทัศนคติที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นไปในเชิงบวกต่อสังคมและผู้คนรอบตัว

ประเด็นก็คือการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ระหว่างการฝึกโยคะขั้นสูง และเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย จึงต้องมีกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงทางกาย-ใจ เพื่อปรับฟื้นสภาพของกาย-ใจ ในกรณีที่ระบบอุดตันไปด้วยพิษและของเสีย ก็จะใช้เทคนิคกริยาที่เฉพาะเจาะจงต่อกรณีนั้นๆ ทั้งหมดก็เพื่อสร้างความสมดุลต่อร่างกาย และระหว่างร่างกายกับจิตใจ  ดังนั้นทุกเทคนิคของกริยาโยคะ จะออกแบบให้สอดคล้องต่อผู้ฝึกต่อวิถีชีวิตของผู้ฝึกเพื่อพัฒนาระบบกาย-จิตสัมพันธ์บุคลิกภาพให้ผู้ฝึกมีศักยภาพ ที่จะเผชิญกับความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างไม่มีปัญหา ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ โดยพัฒนาเนื้อเยื่อ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของอวัยวะของระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำให้เนื้อเยื่อเหล่านี้ไม่มีปัญหา ไม่ป่วยเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามากระทบระบบประสาทกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่รับรู้และตอบสนองโดยอัตโนมัติ และการตอบสนองของระบบต่อมไร้ท่อ เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว แต่ก็ยังต้องประกอบด้วยการกิน ระบบหายใจ การปรับทัศนคติของตนให้เป็นคนมองในแง่บวก ทั้งหมดเพื่อส่งผลไปยังการเปลี่ยนแปลงของการสันดาปในร่างกายโดยรวม กลไกการสันดาป ซึ่งทำงานโดยของเหลวในร่างกายจะปรับเปลี่ยนโดยอาจเกิดกับระบบต่างๆ เช่น ต่อมไร้ท่อ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท ระบบขับถ่าย เป็นต้น อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนทั้งหมดของทั้งร่างกาย ก่อนที่จะไปฝึกโยคะขั้นสูงต่อไป ดังนั้นโยคะบำบัดไม่ใช่เพียงการชำระล้าง การออกกำลังกาย แต่ยังหมายรวมไปถึงการควบคุมอาหาร ทัศนคติต่อสังคม นิสัยส่วนตัว เพื่อทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นองค์รวมของกลไกการสันดาป

ข้อมูลสื่อ

316-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์