• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนไม่หลับ-ลิ้นเป็นแผล เรื่องของไฟหัวใจแกร่งเกิน

นอนไม่หลับ-ลิ้นเป็นแผล เรื่องของไฟหัวใจแกร่งเกิน

ผู้ป่วย : "คุณหมอค่ะ ดิฉันมักจะเป็นแผลร้อนในบริเวณช่องปากและลิ้นบ่อยมาก และยิ่งเวลาอดนอนหรือนอนดึกจะเป็นบ่อยยิ่งขึ้น ทายาขี้ผึ้งแก้อักเสบก็หายเป็นพักๆ แล้วก็กลับมาเป็นอีก ไม่ทราบว่าหนูเป็นโรคอะไรคะ"

หลังจากซักประวัติ ตรวจด้วยวิธีการของแพทย์แผนจีน หมอจีนจึงให้ข้อสรุป

หมอจีน : "คุณเป็นคนเครียดง่ายๆ จิตใจว้าวุ่น นอนฝันบ่อย และนอนหลับไม่สนิท บางครั้งก็นอนไม่พอเพราะสภาพการงาน สีหน้าของคุณแดงกระหายน้ำ ปากและลิ้นแห้ง ปลายลิ้นแดงจัด ชีพจรเร็ว ทางศาสตร์แพทย์แผนจีนวินิจฉัยว่า เป็นภาวะไฟหัวใจ มากเกิน (แกร่ง) ครับ"

ผู้ป่วย : "ไม่เข้าใจค่ะ" หมอที่โรงพยาบาลบอกว่าเป็นแผลร้อนในอาจเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความเครียดและไวรัส หรือเกี่ยวกับภูมิต้านทานของหนูต่ำลง มันเกี่ยวอะไรกับหัวใจคะ

หัวใจในทรรศนะแพทย์แผนจีน
หัวใจในทรรศนะแพทย์แผนจีน มีความหมายกว้างเกี่ยวข้องกับความรู้สึก ความมีสติ ความมีชีวิตชีวา การจำ รวมถึงระบบเลือดและหลอดเลือด การที่มีเลือดที่เพียงพอ และมีหลอดเลือดที่ดี รวมทั้งมีพลังของหัวใจที่แข็งแรงจะทำให้การไหลเวียนเลือดสู่ส่วนปลาย โดยเฉพาะบริเวณสมองดีด้วย ทำให้สีหน้า มีชีวิตชีวา มีเลือดมาเลี้ยง มีความรู้สึก ความจำดี เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองดี คนที่มีหัวใจพร่อง (เลือดและพลังน้อย) จะทำให้มีภาวะของร่างกายอ่อนแอ หน้าซีด นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ี้หลงขี้ลืม
คนที่มีหัวใจแกร่ง (เลือดและพลังมากเกิน) จะทำให้เป็นคนหงุดหงิด ว้าวุ่น หน้าแดง คอลิ้นแห้ง นอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม บางครั้งเป็นบ้าคลุ้มคลั่งได้

"หัวใจมีทวารเปิดที่ลิ้น" "ลิ้นเป็นตับอ่อนของหัวใจ" หมายความว่า พลังของหัวใจและเลือดส่งผ่านมายังลิ้น ทำให้ลิ้นเคลื่อนไหวดี มีสีเลือด มีชีวิตชีวาและ มีการรับรสทั้ง ๕ ได้ดี ดังนั้น ถ้าเลือดและพลังของหัวใจมากเกินไป การแสดงออกที่ลิ้นจะพบมีลิ้นแดง โดยเฉพาะบริเวณปลายลิ้นที่เป็นตำแหน่งของหัวใจ หรือมีแผลอักเสบ แผลร้อนในเกิดขึ้น

ไฟหัวใจแกร่ง (มากเกิน)
ไฟหัวใจแกร่ง หมายถึง ไฟหัวใจที่มีการสะสมความร้อนภายใน และมีผลกระทบต่อภาวะทางจิตใจ ประสาท และอารมณ์เป็นหลัก ทำให้เกิดอาการใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ เป็นแผลที่ลิ้นหรือในปาก ปลายลิ้นแดงจัด นอกจากนั้นอาจพบอาการฝันบ่อย ท้องผูก อาเจียนเป็นเลือด หรือเลือดกำเดาออก หรือถ้าเป็นมากอาจเกิดอาการบ้าคลุ้มคลั่งได้ ลักษณะของลิ้นปลายลิ้นแดง หรือมีตุ่มแดงบนลิ้น ชีพจรเร็วมีแรง

สาเหตุของไฟหัวใจมากเกิน
สาเหตุหลักมาจากภาวะทางอารมณ์ ความเครียด ที่รุนแรง และนานเกินไป ทำให้พลังอุดกั้นเปลี่ยนเป็นไฟ เกิดความร้อนและไฟของหัวใจภายในระอุ

  • อาจเกิดจากปัจจัยก่อโรคภายนอกรุกราน ทำให้เกิดความร้อน ไข้สูง และกระทบต่อหัวใจ
  • การบำรุงด้วยอาหารที่กระตุ้นหรืออุ่นร้อนมากเกินไป การกินอาหารรสเผ็ด ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ทำให้ภาวะไฟในหัวใจมากขึ้น
  • การนอนดึก หรือนอนไม่หลับ ร่วมกับความคิดที่ไม่หยุดนิ่งต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

กลไกการเกิดภาวะไฟหัวใจแกร่ง

เกิดจากหัวใจมีไฟสะสมทำให้อาการหงุดหงิดในทรวงอก (บริเวณที่ตัวของหัวใจ) ใจสั่น หงุดหงิด

  • ไฟจะรบกวนถึงสมอง (ความรู้สึก อารมณ์ ความจำ การนอนหลับ) ทำให้นอนไม่หลับ ฝันมาก พูดจาเพ้อเจ้อคลุ้มคลั่ง
  • ความร้อนภายในขึ้นสู่ส่วนบนทำให้หน้าแดง คอแห้ง
  • ความร้อนเคลื่อนลงสู่ล่าง (หัวใจส่งเลือดไป ด้านล่าง หัวใจเกี่ยวข้องกับลำไส้เล็ก การถ่ายปัสสาวะ) ทำให้ท้องผูก ปัสสาวะเหลือง
  • ไฟหัวใจวิ่งตามเส้นลมปราณไปเปิดทวารที่ลิ้น บริเวณปลายลิ้นจะแดง และมีแผลอักเสบเป็นหนองที่ลิ้น บางครั้งจะมีเลือดกำเดาหรืออาเจียนเป็นเลือด
  • ชีพจรจะเร็วและมีกำลัง เนื่องจากภาวะร้อนแกร่ง

ถ้าภาวะไฟหัวใจแกร่งอยู่นานๆ จะมีพัฒนาการของโรคต่อไปอย่างไร

  • ไฟหัวใจที่มากจะทำให้ของเหลวในร่างกายถูกเผาเกิดความเหนียวตัวเป็นเสมหะ เกิดภาวะของเสมหะ และไฟเกาะตัว ถ้าไปอุดกั้นหรือกระทบสมองทำให้เกิดอาการสมอง บ้า คลุ้มคลั่ง
  • ทำลายสารยินในร่างกาย เกิดภาวะไฟและยินหัวใจพร่อง
  • กระทบต่อลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้เล็กร้อนชื้น ปัสสาวะเป็นเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • การทำลายสารยินนานๆ ทำให้ไตยินพร่อง

เกิดความร้อนส่วนบนของร่างกาย ความเย็นส่วนล่างของร่างกาย เรียกว่า ภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน

การวินิจฉัยแยกแยะภาวะของโรค
ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน ไฟหัวใจกำเริบสู่เบื้องบน อาการคล้ายกัน เพียงแต่อาการหลักต่างกัน

  • ไฟหัวใจกำเริบสู่เบื้องบน เป็นภาวะไฟไปกระทบส่วนบน คือภาวะลิ้นและปากเป็นแผล อักเสบเน่าเปื่อย ปวดเป็นหลัก
  • ไฟหัวใจแกร่งเกิน เน้นอาการทางสมองถูกรบกวน มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นหลัก

ยินของหัวใจพร่อง
แม้ว่าจะมีภาวะถูกไฟรบกวนหัวใจเหมือนกัน แต่ยินของหัวใจพร่องเป็นภาวะร้อนพร่อง มีลักษณะร้อนฝ่ามือฝ่าเท้าและหน้าอก แก้มแดง เหงื่อลักออก ชีพจรจะเล็กและเร็ว ภาวะของไฟหัวใจร้อนแกร่ง มีลักษณะเป็นชีพจรเร็วและแรง

ไฟตับกำเริบสู่เบื้องบน
แม้ว่าจะเป็นภาวะของโรคภายในมีความร้อนแกร่ง (ชีพจรเร็วแรง) และอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับเหมือนกัน แต่ภาวะไฟตับกำเริบมักมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู ปวดชายโครง โมโหง่าย เนื่องจากความร้อนที่กระทบต่อทางเดินของเส้นลมปราณตับ ส่วนไฟหัวใจแกร่งเกินมักมีผลต่อเรื่องสมองและลิ้นเป็นส่วนใหญ่

ลำไส้เล็กร้อนแกร่ง
มักพบร่วมกับไฟหัวใจแกร่งเกิน แต่มีภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะร่วมด้วย

หลักการในการรักษาโรคคืออะไร
ใช้ยาตำรับอะไร หลักการรักษาโรคขับไฟหัวใจ
ตำรับยาพื้นฐานที่ใช้

๑. เซี่ย-ซิน-ทัง  : ลดและขับไฟของหัวใจ
ตัวยาหลัก หวงเหลียน หวงฉิน  ต้าหวง

๒. ต้าว-ฉื่อ-ส่าน  : นำไฟหัวใจขับออกทางปัสสาวะ
ตัวยาหลัก เซิง-ตี้   มู่-ทง จู๋-เย่  กัน-เฉ่า

ภาวะไฟหัวใจแกร่งเกิน ความหมายในแพทย์แผนปัจจุบันเกี่ยวกับโรคอะไร
เกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตประสาท โรคบ้าคลุ้มคลั่ง แผลอักเสบในลิ้น แผลร้อนใน (Aptous ulcer) กระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

ภาวะของจิตประสาทเกี่ยวข้องกับสมอง เกี่ยวข้องกับหัวใจ และแสดงออกที่ลิ้น ในทางแพทย์แผนจีน

อารมณ์ทั้ง ๗ เกี่ยวข้องกับจิตใจที่มีผลกระทบต่ออวัยวะภายในที่แน่นอน แต่ทุกอารมณ์ที่มากเกินและนานเกินจะกระทบต่อหัวใจ (สมองคนมีการปรับเปลี่ยนอารมณ์ได้มากกว่าสัตว์อื่นๆ ที่มักตอบสนองตามสัญชาตญาณ) อารมณ์ที่แสดงออกของพลังงานรูปหนึ่ง ซึ่งถ้ามากและอุดกั้นนานๆ จะเกิดไฟในร่างกาย

วิถีชีวิต อาหารการกิน การนอนหลับ สภาพการงาน วิธีคิด เป็นต้น ล้วนมีผลต่อหัวใจทั้งสิ้น (ร่างกายกับจิตใจแยกกันไม่ได้)
ไฟหัวใจแกร่งเกินจึงเป็นโรคที่พบบ่อยสำหรับคนในสังคมที่สับสน วุ่นวาย แข่งขัน แก่งแย่ง เอาเปรียบ เป็นต้น ทางออกที่สำคัญคงต้องหันมาพัฒนาจิตใจ ปัญญา และปรับปรุงตนเองให้เข้าสู่ธรรมะ (ความจริงแห่งธรรมชาติ) ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวร่วมด้วย จึงจะได้ผลดีและมั่นคงถาวร

ข้อมูลสื่อ

316-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล