• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยี่โถ : ความงาม หอม ทนทาน

ยี่โถ : ความงาม หอม ทนทาน


ดอกไม้ที่จะเขียนถึงตอนนี้ ผู้เขียนย้อนความจำไปถึงช่วง พ.ศ.๒๕๐๕ ก็คือ ๔๓ ปีมาแล้ว เมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กบ้านนอก อยู่บ้านริมแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) เขตอำเภอบางปลาม้า ขณะนั้นบ้านหลังใหม่ที่เป็นตึกคอนกรีตเพิ่งสร้างเสร็จ หลังจากอยู่บ้านไม้ (สัก) มาตั้งแต่รุ่นปู่ นับเป็นตึกขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดของท้องถิ่นในขณะนั้น สิ่งที่ตามตัวตึกมาก็คือการจัดบริเวณรอบๆ บ้านแบบใหม่ที่มีการปูหญ้าปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ไม่เคยปลูกมาก่อนหลายชนิด โดยเฉพาะบริเวณรั้วด้านติดแม่น้ำที่เป็นด้านหน้าบ้าน เพราะสมัยนั้นยังเดินทางโดยทางเรือ ผู้ที่เดินทางต้องนั่งเรือผ่านหน้าบ้านจึงเลือกดอกไม้ที่งดงามเป็นพิเศษปลูกแนวรั้วติดแม่น้ำ เช่น กุหลาบชนิดต่างๆ เป็นต้น

เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ดอกไม้ที่ยังคงขึ้นอยู่ได้อย่างงดงามที่แนวรั้วด้านแม่น้ำก็เหลือเพียงไม่กี่ต้น ที่จำได้ก็คือกุหลาบมอญที่แสนหอมและทนทาน แม้ดอกจะไม่งดงามเท่ากุหลาบฝรั่ง (ที่ตายไปหมดแล้ว) และดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่จำได้แม่นยำว่ายังคงงดงามเสมอต้นเสมอปลายก็คือยี่โถ ซึ่งทนทานกว่ากุหลาบมอญเสียอีก แม้ว่าดอกจะสีแดงน้อยกว่า และกลิ่นหอมน้อยกว่าก็ตาม

ยี่โถ : ต้นไม้ต่างแดนสัญชาติไทย
ยี่โถ เป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nerium in-dicum Mill. อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงราว ๒ เมตร เปลือกต้นเรียบสีเทา มียาง สีขาวคล้ายน้ำนมในเปลือกและใบ แตกกิ่งก้านไม่มาก

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตามข้อรอบลำต้น จุดละ  ๓-๔ ใบ ใบรูปรีแกมขอบขนาน คล้ายใบหอก ปลายและ โคนใบแหลม ยาวราว ๑๕-๑๗ เซนติเมตร กว้าง ๑.๗-๒.๐ เซนติเมตร ขอบใบเรียบไม่มีจัก เนื้อใบหนาแข็ง เขียวเข้ม ก้านใบสั้น

ดอก ออกตามปลายยอด ปลายกิ่ง ออกเป็นช่อ หรือเป็นกระจุก ราว ๒๐-๕๐ ดอก เส้นผ่าศูนย์กลางดอก ราว ๔-๕ เซนติเมตร มีทั้งดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว (ดอกลา) ดอกที่มีกลีบชั้นเดียวจะมีกลีบดอก ๕ กลีบ ลักษณะดอกจะเป็นรูปกรวยหรือปากแตร กลีบดอกบาน ออกจากกัน กลีบดอกมีสีชมพูและขาว มีกลิ่นหอม ชนิดดอกซ้อนสีชมพูจะดอกโตและกลิ่นหอมกว่าดอกกลีบชั้นเดียวหรือดอกสีขาว ยี่โถออกดอกได้ทั้งปี

ผล เมื่อดอกผสมเกสรและร่วงไปแล้วจะติดผลเป็นรูปฝักยาว ดอกละ ๒ ฝัก เมื่อแก่เปลือกแข็งจะแตกออก เมล็ดที่มีอยู่ภายในจำนวนมาก จะมีขนคล้ายเส้นไหมติดอยู่ทำให้ลอยลมไปได้ไกลๆ

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของยี่โถอยู่บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น โปรตุเกส ไปถึงอิหร่าน (เปอร์เซีย) และอินเดีย ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ยี่โถในประเทศไทยสันนิษฐานว่าถูกนำเข้ามาโดยชาวจีนช่วงปลายรัชกาลที่ ๒ หรือต้นรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๕๒-๒๓๖๔) ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ กล่าวถึงยี่โถว่า "ยี่โถ : เป็นชื่อต้นไม้ย่อมอย่างหนึ่ง มีดอกเป็นช่อ ดอกมีกลิ่น คนปลูกไว้เอาดอก ไม่มีลูก" สันนิษฐานว่า ยี่โถคงได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างรวดเร็ว เพราะดอกงดงามคล้ายกุหลาบ มีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี และปลูกง่ายทนทานมาก จึงปรากฏว่า นิยมปลูกกันทั้งในบ้านและในวัด ปรากฏในนิราศของสุนทรภู่ว่า สมัยรัชกาลที่ ๓ วัดในกรุงเทพฯ นิยมปลูกยี่โถไว้ตามกุฏิของพระแล้ว ดังนี้

" เห็นทับทิมริมกุฎีดอกยี่โถ   สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย"
                                                                    รำพันพิลาป (สุนทรภู่)

นอกจากคนไทยสมัยนั้นจะนิยมปลูกยี่โถแล้ว ยังนิยมนำดอกยี่โถไปบูชาพระอีกด้วย คงเพราะมีทั้งความงดงาม กลิ่นหอม และหาง่ายนั่นเอง

คนไทยเรียกยี่โถว่า ยี่โถ ยี่โถไทย ยี่โถจีน ยี่โถดอกขาว ยี่โถดอกแดง (ภาคกลาง) และอินโถ (ภาคเหนือ) ภาษาอังกฤษเรียก Oleander, Sweet Oleander และ Rose Bay

ประโยชน์ของยี่โถ
ในด้านสมุนไพรนั้น เนื่องจากน้ำยางของยี่โถตามส่วนต่างๆ ของลำต้นเป็นพิษต่อสัตว์และมนุษย์ จึงนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้จำกัดมาก มีรายงานว่าแพทย์แผนไทยนำใบยี่โถมาปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับชีพจรให้เดินเป็นปกติ แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีรายงานว่าผู้ที่กินใบยี่โถเข้าไปจะเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาพร่า มองไม่ชัด เพ้อคลั่ง หัวใจเต้นอ่อน ความดันเลือดลดลง อาจเสียชีวิตได้ ในอินเดีย สัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ ม้า แกะ ที่กินใบยี่โถแล้ว เป็นพิษถึงตาย คนกินเนื้อย่างที่เสียบด้วยไม้ยี่โถก็เป็นพิษถึงหมดสติ แม้แต่น้ำผึ้งจากดอกยี่โถก็ยังเป็นพิษด้วย ใบยี่โถใช้เป็นยาเบื่อหนู และยาฆ่าแมลงได้

ปัจจุบันคนไทยรู้จักยี่โถในฐานะไม้ดอกไม้ประดับที่ได้ รับความนิยมอย่างแพร่หลายชนิดหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมีการนำยี่โถชนิดใหม่เข้ามาอีกคือชนิด Nerium oleander Linn. ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีดอกสีงดงามกว่าเดิม ดอกดก โดยเฉพาะดอกกลีบชั้นเดียว แต่ดอกไม้มีกลิ่นหอม

เนื่องจากยี่โถปลูกง่าย ทนทาน ทั้งสภาพดินทราย ดินเค็ม ความแห้งแล้ง โรคแมลงไม่รบกวน มีดอกเป็นช่อขนาดใหญ่งดงามตลอดปี ขนาดต้นไม่ใหญ่เกินไปจึงปลูกได้หลายสถานที่ แม้จะมีพื้นที่น้อยก็ปลูกได้ ยี่โถสมัยใหม่ได้รับการปรับปรุงให้มีสีสันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงยังคงได้รับความนิยมตลอดมา

ข้อมูลสื่อ

316-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร