• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คนกรุงแพ้ยาง่าย?

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีโอกาสได้พบผู้ป่วยและได้ตรวจรักษาทั้งชาวกรุงและชาวบ้านในชนบท โดยมีงานประจำที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทำอยู่ ๔ วันต่อสัปดาห์ ส่วนช่วงวันหยุดอีก ๓ วันนั้น ก็มีโอกาสได้ไปตรวจรักษาผู้ป่วยชนบทที่ต่างจังหวัด เรียกว่าทุกสัปดาห์ได้สัมผัสความเหมือนและความแตกต่างของผู้ป่วยทั้ง ๒ กลุ่มนี้

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่พบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ถ้าเป็นชาวกรุงอย่างเช่นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มักมีประวัติแพ้ยา บางรายแพ้หลายอย่างหลายขนาน เรียกได้ว่าหายาเพื่อใช้รักษาค่อนข้างยาก ตรงข้ามกับคนในชนบทคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ปฏิเสธการแพ้ยา

ประวัติการแพ้ยาจัดว่ามีความสำคัญมากเพราะแพทย์จะไม่ใช้ยานั้นรวมทั้งยาอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มหรือตระกูลเดียวกัน

บรรดายาที่ใช้บ่อยและมีความสำคัญกลุ่มหนึ่งคือ ยาปฏิชีวนะและสารสังเคราะห์ที่มีสรรพคุณฆ่าเชื้อโรค แม้ว่าจะมีมากมายหลายขนานแต่ถ้าจัดเป็นตระกูลแล้วกลับมีไม่กี่ตระกูล

ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาขนานใดขนานหนึ่งก็มักจะถูกห้ามใช้ยาที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน เช่น

ถ้าแพ้ยาพวกเพนิซิลลิน ห้ามใช้ยาแอมพิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน โค-อะม็อกซิคลาฟ คล็อกซาซิลลิน เมทิซิลลิน พิเพอราซิลลิน และซัลตามิซิลลิน รวมถึงยาในตระกูลใกล้เคียงกันก็ควรหลีกเลี่ยงหรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น ตระกูลเซฟาโรสปอรินและตระกูลบีตาแล็กแทม

กรณีที่แพ้ยากลุ่มอีริโทรไมซิน ห้ามใช้ยาร็อกซิโทรไมซิน อะซิโทรไมซิน คลาริโทรไมซิน เทลิโทรไมซิน เป็นต้น

ส่วนคนที่แพ้ไซโพรฟล็อกซาซิน ห้ามใช้ยานอร์ฟล็อกซาซิน ม็อกซิฟล็อกซาซิน ลีโวฟล็อกซาซิน โอฟล็อกซาซิน และรูฟล็อกซาซิน

จะเห็นว่าแค่เพียงยาฆ่าเชื้อยอดนิยม ๓ ตระกูลตามที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำให้มึนแล้ว ไม่นับยาในท้องตลาดที่จัดอยู่ใน ๓ กลุ่มนี้อีกมากกว่า ๑๐๐ ขนานโดยใช้ชื่อการค้าต่างกัน ใครที่แพ้ยาชื่ออะไรก็ควรจดบันทึกไว้ประจำตัว ถ้าทราบชื่อสามัญของยาหรือชื่อตระกูลยาก็จะดีมาก แต่ถ้าไม่ทราบก็ไม่เป็นไรบอกชื่อการค้าและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

การที่ผู้ป่วยบอกว่าแพ้ยาตัวใดตัวหนึ่ง หากแพ้จริงๆ แพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกใช้ยา หรือเลี่ยงไปใช้ตัวอื่นที่ไม่แพ้ซึ่งบางครั้งผลลัพธ์อาจไม่ดีเท่าที่ควร บางคนไม่แพ้แต่บอกว่าแพ้เพราะไปคิดว่าอาการข้างเคียงของยาเป็นการแพ้ยาก็อาจทำให้เสียโอกาสการใช้ยาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพดีไป ก่อนที่จะบอกแพทย์ว่าแพ้ยาตัวไหนให้เข้าใจเสียก่อนว่า ยาเกือบทุกชนิดจะมีฤทธิ์ข้างเคียงหรือฤทธิ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่การแพ้ยาและไม่ใช่เป็นข้อห้ามในการใช้ยา เช่น ถ้ากินยาอีริโทรไมซินแล้วคลื่นไส้อาเจียนก็ยังสามารถใช้ยาอื่นในตระกูลเดียวกันได้ หรือให้ยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนก่อนอาหารแล้วจึงกินยานี้ตามหลังอาหาร

ผู้ป่วยที่ชอบบอกว่าแพ้ยาหลายขนาน แพทย์ควรสอบถามให้แน่ชัดว่าอาการแพ้นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่มักได้คำตอบที่มุ่งไปทางฤทธิ์ข้างเคียงเสียมากกว่า เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตาลาย ใจสั่น ปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก ซึ่งแตกต่างจากลักษณะการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ ผิวหนังไหม้ ผื่นพุพอง หน้าบวม ลิ้นบวม หายใจลำบาก ถ้าหนักมากอาจช็อกได้

ถ้าผู้ป่วยรายใดที่มีบันทึกประวัติ “แพ้ยา” ปฏิชีวนะทั้ง ๓ ตระกูลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อป่วยเป็นโรคติดเชื้อในระบบต่างๆ เช่น ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หรือระบบอื่นๆ จะเหลือยาให้แพทย์เลือกใช้น้อยมาก บางครั้งแพทย์บางท่านแทบไม่กล้าสั่งยาปฏิชีวนะให้เลย กรณีนี้ถ้าโชคร้ายเป็นโรคร้ายแรงโรคนั้นอาจลุกลามอย่างรวดเร็วจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

แนะนำว่าเมื่อเกิดอาการผิดปกติจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์และสอบถามให้แน่ชัดว่าอาการนั้นบ่งว่าแพ้ยาหรือเป็นฤทธิ์ข้างเคียงของยา ถ้าเป็นอาการแพ้ยาก็ควรจดชื่อยาเก็บติดตัวไว้ แต่ถ้าเป็นอาการข้างเคียงก็ให้จดจำไว้ หากจำเป็นต้องใช้ในคราวต่อไปจะได้ระมัดระวัง

สำหรับประเด็นที่ว่าคนกรุงมักจะแพ้ยาง่ายกว่าคนชนบททั้งที่ก็เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน ยาก็เหมือนๆ กัน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความใส่ใจในอาการผิดปกติต่างๆ มีการสังเกตและกังวลมากน้อยต่างกัน บางส่วนก็เกิดจากความเข้าใจผิดและวิตกกังวลในฤทธิ์ข้างเคียงมากเกินไป และการที่คนกรุงมีความใส่ใจในสุขภาพมากเมื่อเกิดอาการผิดปกติใดๆ กับร่างกายก็มีการใช้ยามากขึ้น มีการจดบันทึกความผิดปกติจากการใช้ยามากกว่า เป็นต้น ส่วนเหตุผลอื่นก็คงแล้วแต่มุมมองของแต่ละท่าน

สิ่งสำคัญที่อยากแนะนำก็คือ ถ้าไม่แพ้ยาแล้วคิดว่าตัวเองแพ้จะทำให้เสียโอกาสในการเลือกใช้ยา แต่ถ้าแพ้ยาแล้วจำไม่ได้หรือไม่คิดว่าแพ้ก็จะเสี่ยงต่ออาการที่เกิดจากการแพ้ยาซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
 

ข้อมูลสื่อ

390-044
นิตยสารหมอชาวบ้าน 390
ตุลาคม 2554
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์