• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา"คน"ให้ได้ก่อน"ไข้"

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา"คน"ให้ได้ก่อน"ไข้"

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๓๑
ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีเทศกาล "รับน้องใหม่" ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้มีความรุนแรงและวิธีการรับน้องที่ดุเดือด ลามกอนาจาร จนถึงขั้นข่มขืนน้อง "ชักเย่อจู๋" และซ้อมเชียร์จนถึงตาย เป็นต้น

นางสาวสุพัตรา มหาอุดม (น้องหญิง) นิสิตชั้นปี ที่ ๑ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ถูกรุ่นพี่พาไปซ้อม "อเมริกันเชียร์" มีการโยนน้อง ขึ้นไปตีลังกากลางอากาศ แล้วรุ่นพี่รอรับอยู่ข้างล่าง ศีรษะของน้องหญิงคงได้รับการกระทบกระแทกหลายครั้ง จนครั้งสุดท้าย เมื่อเธอตกลงมาศีรษะฟาดกับร่างของคนที่รอรับอยู่ แล้วก็หมดสติ ถูกหามส่งโรงพยาบาล แพทย์ระบุว่า ศีรษะของน้องหญิงถูกกระแทกอย่างแรง สมองบวมช้ำ แกนสมองไม่สั่งงาน ทำให้หยุดหายใจ และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว (ช็อก) จึงต้องใส่ท่อหลอดลมคอ (endotracheal tube) และใช้เครื่องช่วยหายใจ และใช้ยากระตุ้นหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดเพื่อรักษาภาวะช็อก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมอง แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ (๑ วันหลังจากเข้าโรงพยาบาลชลบุรี โดยย้ายมาจากโรงพยาบาลประภาศรีที่บางแสน) ว่า สมองบวมช้ำมาก โอกาสที่ผู้ป่วยจะรอดชีวิตคงจะยาก โดยปกติแล้วจะเสียชีวิตภายใน ๗๒ ชั่วโมง หรือไม่เกิน ๗ วัน เพราะ "สมองตาย" แล้ว การที่เป็นเช่นนั้น เพราะศีรษะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง (เช่น ตกลงมาจากที่สูง) แล้วกระทบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เช่น ลูกกระเดือก หรือร่างกายของเพื่อน) จนสะท้อนกลับอย่างรุนแรง สมองซึ่งเป็นก้อนเนื้อนุ่มๆ ในกะโหลกศีรษะจะกระเด็นกระดอนไปกระทบกับกระดูกกะโหลกศีรษะที่หุ้มอยู่ ทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรง คล้ายกับที่เราเอาเต้าหู้นิ่มๆ ใส่ในขวดแล้วเขย่าเต้าหู้ก็จะเละหมด เป็นต้น

สมองของมนุษย์ประกอบด้วย ๓ ส่วนใหญ่ๆ  คือ

๑. สมองใหญ่ (cerebrum) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่ด้านการคิดอ่าน (สติปัญญา) ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ยกเว้นกล้ามเนื้อของหลอดเลือดและอวัยวะภายในรับรู้ความรู้สึกต่างๆ (เย็น-ร้อน, หอม-เหม็น, อร่อย-ไม่อร่อย, เจ็บ-ไม่เจ็บ, โกรธ-ไม่โกรธ, ดีใจ-เสียใจ เป็นต้น) สั่งการให้ร่างกายส่วนอื่นทำตามความต้องการของสมอง เช่น ตบตีคนอื่น เลียนแบบคนอื่น เป็นต้น

๒. สมองน้อย (cerebellum) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เล็กกว่าสมองใหญ่มาก และอยู่ทางด้านล่างและด้านหลังของสมองใหญ่ ทำหน้าที่ด้านการทรงตัว ทำให้เดินตรงทาง ไม่โซเซเปะปะ ไม่เวียนหัวบ้านหมุน ใช้มือและแขนขาได้อย่างไม่เปะปะ เป็นต้น

๓. แกนสมอง หรือก้านสมอง (brain stem) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เล็กที่สุด เป็นส่วนที่เชื่อมต่อสมองใหญ่และสมองน้อยเข้ากับไขสันหลัง เป็นเส้นทางให้คำสั่งจากสมองใหญ่และสมองน้อยผ่านไปสู่เส้นประสาทสมองและเส้นประสาทสันหลังทั้งหมด แล้วยังมีศูนย์ควบคุมการหายใจ ศูนย์ควบคุมหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดและอื่นๆ ในสมองส่วนนี้ แกนสมองหรือก้านสมอง จึงมีความสำคัญมากสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าแกนสมองหรือก้านสมองถูกกระทบกระแทกหรือถูกกดด้วยอะไรก็ตาม ผู้ป่วยมักจะหยุดหายใจ หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดจะล้มเหลว รูม่านตาจะไม่ตอบสนองต่อแสง ลูกตาจะไม่กลอกไป-มาเมื่อหมุนศีรษะไป-มา เป็นต้น ดังนั้น ทางการแพทย์จึงถือว่า ถ้าแกนสมองตาย (แกนสมองทำงานไม่ได้) ผู้ป่วยก็จะตาย ถ้าไม่ช่วยหายใจ และไม่ช่วยหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดให้ทำงานต่อไป

ภาวะสมองตาย จึงถือเรื่องแกนสมองตายเป็นสำคัญ เพราะสมองใหญ่และสมองน้อย แม้จะตาย (ทำงานไม่ได้) และฝ่อแฟบลงจนเหลือไม่ถึงครึ่งของเนื้อสมองเดิม ผู้ป่วยก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่จะไม่รับรู้หรือสื่อสารอะไรได้ ไม่สามารถขยับเขยื้อนอะไรได้นอกจาก ลูกตาและใบหน้าบางส่วน (เช่น กะพริบตา กระดิกลิ้น ไอ) ดังกรณี "บิ๊ก ดีทูบี" นางเทอร์รี่ ไชอ์โว (ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๒๘ ใน "มาเป็นหมอกันเถิด" ในหมอชาวบ้าน เดือนมิถุนายน ๒๕๔๘) เป็นต้น

ส่วนนางสาวสุพัตรา มหาอุดม (น้องหญิง) ในช่วงแรกแกนสมองอาจจะถูกกระทบกระเทือนมากจนเธอหยุดหายใจและช็อก และแพทย์คิดว่า "สมองตาย" แต่เมื่อช่วยหายใจและช่วยให้หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดทำงานต่ออย่างปกติหรือใกล้ปกติได้แล้ว แกนสมองที่ช่วงแรกหยุดทำงานก็เริ่มกลับฟื้นตัวและทำงานใหม่โดยอัตโนมัติได้ ถ้าผู้ป่วยเริ่มหายใจเองใหม่ได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และไม่ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด นั่นคือ "สมอง (แกนสมอง) ไม่ตาย" แล้ว แต่ที่สำคัญก็คือ สมองใหญ่และสมองน้อยอาจจะตายและไม่ฟื้นกลับเป็นปกติ ทำให้เธอไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักพ่อแม่ของเธอ ไม่สามารถรับรู้หรือสื่อสารอะไรได้ และช่วยตนเองไม่ได้เลย จนต้องเจาะคอไว้เพื่อช่วยหายใจและดูดเสมหะ เจาะท้องไว้เพื่อใส่ท่อให้อาหารและน้ำเข้าไปในกระเพาะอาหาร ทนทุกข์ทรมานต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด คล้ายกรณีนางเทอร์รี่ ไชอ์โว ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ถึง ๑๕ ปี กว่าศาลจะยอมสั่งให้ดึงท่อให้อาหารและน้ำออกจากกระเพาะของเธอ และปล่อยให้เธอได้ตายตามธรรมชาติอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘

ในบ้านเรา ที่ปรากฏเป็นข่าวในคราวเดียวกันคือ เด็กหญิงปนันญา สุรินทร์ (น้องมิ้น) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนมารดานฤมล อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ลื่นล้มศีรษะฟาดพื้นขณะวิ่งออกจากแถวเพื่อไปแนะนำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนอื่น (เพราะเก็บกระเป๋าสตางค์ได้แล้วนำไปให้ครู) หลังจากนั้น เธอก็หมดสติและเป็น "เจ้าหญิงนิทรา" มา ๔ ปีแล้ว แม้ว่าในปัจจุบันเธอสามารถยิ้มและขยับได้บ้าง แต่ช่วยตนเองไม่ได้เลย พ่อแม่ต้องพาเธอมาด้วยความยากลำบากไปถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเปลี่ยนท่อให้อาหารและน้ำที่เจาะคาไว้ในกระเพาะอาหาร และท่อดูดเสมหะที่เจาะคาไว้ในคอ ทุก ๓ เดือน แม่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านคอยดูแลน้องมิ้น เหลือพ่อซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานร้านอะไหล่เพียงคนเดียว พี่ชายน้องมิ้นก็กำลังเรียนชั้นมัธยมอยู่ ทำให้ครอบครัวลำบากมาก เพราะต้องเสียค่ายาสำหรับน้องมิ้นเดือนละเกือบ ๕,๐๐๐ บาท โดยไม่มีหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือ และครอบครัวก็ไม่สามารถหารายได้เพิ่มอีก ที่เป็นข่าวเพราะพ่อแม่น้องมิ้นได้เดินทางไปเยี่ยม ให้กำลังใจนางสุมาลี (แม่ของ "น้องหญิง") ทำให้ "น้องมิ้น" ได้เป็นข่าวขึ้นมาในช่วงเดียวกัน แต่เป็นข่าวเล็กๆ และสั้นๆ แทบไม่มีคนสนใจ เช่นเดียวกับ "น้องมิ้น" ถ้าแพทย์สามารถ "ยื้อ" ชีวิตของ "น้องหญิง" ได้อีกสักพักจนแกนสมองเริ่มทำงานใหม่ เธออาจจะมีชีวิตแบบ "ผัก" เหมือน "น้องมิ้น" หรือนางเทอร์รี ไชอ์โว ต่อไป

ทำไมหนอมนุษย์เราจึงอยากให้คนอื่นมีชีวิตอยู่แบบ "ผัก" แต่ตนเองไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น? 

ข้อมูลสื่อ

317-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์