• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วย ที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน" ไข้"

ตัวอย่างผู้ป่วย ที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน" ไข้"


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๓๒
มีตัวอย่างผู้ป่วยต่างประเทศที่เป็นข่าวไปทั่วโลก อีกรายในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๘ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นกรณีศึกษาและน่าติดตามต่อไปในอนาคตว่า
เด็กที่เกิดจากผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และ "สมองตาย" (แล้วถูกเลี้ยงไว้ด้วยเครื่องช่วยหายใจและวิธีการต่างๆ) จะสามารถเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ปกติหรือไม่

นางซูซาน ทอร์เรส (Susan Torres) นักวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ อายุ ๒๖ ปี ป่วยด้วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง (mePanoma) โดยเธอไม่รู้ตัว จนกระทั่งมะเร็งลุกลามไปที่สมอง ทำให้หลอดเลือดสมองแตกจนเลือดคั่งในสมอง ผู้ป่วยหมดสติ (coma) และไม่สามารถหายใจด้วยตนเอง เพราะก้านสมองหรือแกนสมอง (brain stem) ถูกกดจนไม่สามารถทำงานได้  หรืออาจเรียกว่า "สมองตาย" เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๘

แพทย์ได้ปรึกษากับครอบครัวของนางซูซาน ทอร์เรส ว่าจะ "ยืดการตาย" (บางคนเรียกว่า "ยืดชีวิต") ด้วยเครื่องช่วยหายใจและวิธีการ "เลี้ยงการตาย" (ประคองไว้ไม่ให้ตาย) แบบต่างๆ หรือไม่ ครอบครัวของนางซูซานปรึกษาและตกลงกันขอให้แพทย์ "ยืดการตาย" ของนางซูซานออกไป เพราะนางกำลังตั้งครรภ์ได้ ๔ เดือน และหวังว่าถ้าสามารถ "ยืดการตาย" ออกไปนานพอที่ทารกในครรภ์จะสามารถรอดชีวิตนอกครรภ์มารดาแล้ว จึงจะยุติการ "เลี้ยงการตาย" ไว้ แพทย์ตกลงตามคำขอ และ "เลี้ยง" ผู้ป่วยไว้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ และวิธีการวิจิตรพิสดารต่างๆ หลังจาก "เลี้ยงการตาย" ไว้ได้ ๓ เดือน แพทย์ตัดสินใจว่า ทารกในครรภ์น่าจะรอดชีวิตนอกครรภ์มารดาได้แล้ว และการ "ลากยาว" ต่อไปอาจจะทำให้โรคมะเร็งและสารพิษต่างๆ ในร่างกายมารดาลุกลามสู่ทารกในครรภ์ได้ จึงได้ "ผ่าท้องคลอด" ให้นางซูซานเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม และคลอดทารกน้ำหนัก ๘๒๐ กรัม (ทารกปกติขณะคลอดน้ำหนักประมาณ ๓,๐๐๐ กรัม) และยาว ๓๔ เซนติเมตร (ทารกปกติหลังคลอดจะยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร) โดยทารกมีลักษณะภายนอกต่างๆ ปกติและดูแข็งแรงดี แต่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในตู้อบสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด (premature infant) ในหออภิบาลพิเศษสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด (prematureneo-natal intensive care unit)

หลังผ่าท้องคลอดได้ ๑ วัน แพทย์ก็ถอนเครื่องช่วยหายใจและการรักษาเพื่อ "ยืดการตาย" ออก และนางซูซาน ทอร์เรส ก็ได้จากไปตามธรรมชาติของเธอในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ หลังจากที่เธอต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ ๓ เดือน โดยครอบครัวของเธออ้างว่า ถ้าเธอมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ในวันที่สมองตาย เธอคงมีความเห็นเช่นเดียวกับพวกเขาที่ขอยอมทุกข์ทรมาน เพื่อให้แพทย์ยืดการตายออกไปจนกว่าทารกในครรภ์จะคลอดแล้วมีชีวิตอยู่ได้ มันง่ายที่จะอ้างว่าผู้ป่วยต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ ในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีสติสัมปชัญญะพอที่จะโต้เถียงคัดค้านได้ เพราะคงไม่มีใครอยากจะเจ็บปวด หรืออยากจะต้องทุกข์ทรมานโดยไม่มีความหวังว่าจะหาย หรือรอดพ้น จากความทุกข์ทรมานในอนาคต นอกจากพวกมาโซคิสต์ (masochist) หรือคนโรคจิตที่เกิดความรู้สึกสุดยอด (climax) เมื่อถูกผู้อื่นทำให้เจ็บปวด แต่ในกรณีนี้ ความเป็นแม่ย่อมทำให้เธอยอมทุกข์ทรมานเพื่อลูกได้ตามคำอ้างของญาติ

บางคนอาจเถียง (ข้างๆ คูๆ) ว่า ผู้ป่วย "ผัก" (vegetative state) หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวจะไปเจ็บปวดหรือทรมานอะไรกัน นอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงทั้งวัน มีคนป้อนอาหารและน้ำให้ทางท่ออุจจาระปัสสาวะก็ถ่ายบนเตียง มีคนจัดการให้ไม่ต้องออกกำลังเดินไปห้องน้ำ น่าจะสบายกว่าคนปกติด้วยซ้ำ แต่เมื่อถามว่า ถ้าอย่างนั้นให้คุณลองปฏิบัติตัวแบบผู้ป่วย "ผัก" ดูสัก ๒-๓ วัน จะเอาไหม ให้นอนนิ่งๆ บนเตียง ไม่ต้องขยับเขยื้อนเอง (จะมีคนขยับเขยื้อนให้ ทุก ๑-๒ ชั่วโมง) มีคนป้อนอาหารและน้ำให้ทางท่อ (ไม่ต้องเคี้ยวและกลืนเอง) ปัสสาวะอุจจาระบนเตียงมีคนจัดการให้เหมือนผู้ป่วย "ผัก" ก็ไม่เห็นมีใครยอมลองทำดูสักราย จะได้รู้ว่ามันทรมานอย่างไร

อย่างไรก็ตาม กรณีของนางซูซาน ทอร์เรส ต่างจากกรณีของนางเทอร์รี ไชอ์โว (ดูตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๒๘ ในหมอชาวบ้านเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘) ที่ทุกข์ทรมานถึง ๑๕ ปี โดยไม่มี "ประโยชน์" อะไรเกิดขึ้น และกลับก่อให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวและในสังคมอเมริกันอย่างมาก แต่ในกรณีของนางซูซาน ทอร์เรส ยังมี "ประโยชน์" เกิดขึ้น คือชีวิตอีกชีวิตหนึ่งได้ลืมตามาดูโลก และไม่สร้างความร้าวฉานให้แก่ครอบครัวและสังคมอเมริกัน เธอได้รับการตั้งชื่อว่า ด.ญ.ซูซาน แอนน์ แคเทรีน ทอร์เรส (Susan Anne Catherine Torres) เพื่อเป็นอนุสรณ์ของมารดา

แม้การอภิบาลทารกคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยกว่า ๑,๐๐๐ กรัม แต่มากกว่า ๗๕๐ กรัม จะมีอัตรารอดสูงในสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์พิเศษต่างๆ แต่ความกังวลว่า โรคร้ายที่ทำลายชีวิตของมารดาจะถ่ายทอดไปสู่ลูกในครรภ์หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป

กรณีของนางซูซาน ทอร์เรส จึงเป็นกรณีศึกษา หรือถ้ามองในอีกมุมหนึ่งอาจเรียกว่า เป็น "หนูทดลอง" ทั้งของแพทย์และของครอบครัวทอร์เรสด้วยการทดลองที่วิจิตรพิสดารใดๆ ย่อมเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล  แม้แต่การทดลองรักษา "น้องภูมิ" (ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๒๙ ในหมอชาวบ้านเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘) ที่เป็นไข้เลือดออกรุนแรง แล้วพยายาม "ยืดการตาย" ไว้ยังเสียค่ารักษาพยาบาลไปเกือบ ๒ ล้านบาท ในเวลาไม่กี่วัน และเป็นการเสียเปล่าเพราะ "น้องภูมิ "เสียชีวิต

ขอให้ ด.ญ.ซูซาน ทอร์เรส อยู่รอดปลอดภัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ปกติเถิด 

ข้อมูลสื่อ

318-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์