• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาลดไขมัน เพิ่มโอกาสเบาหวาน ยาลดเบาหวาน เพิ่มโอกาสปอดบวม

การรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติ ด้วยการกินยาควบคุมอย่างเดียว เป็นการแก้ปลายเหตุ นอกจากจะต้องกินยาไปตลอดชีวิตแล้ว ผลเสียของการกินยาระยะยาวอาจเกิดตามมา เพราะยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง ทั้งที่รู้ และไม่รู้

ยาลดไขมัน กลุ่มสแตติน เพิ่มโอกาสเป็นเบาหวาน
(Statins and risk of incident diabetes: a collaborative meta-analysis of randomised statin trials. Sattar N. Lancet 2010;375:735. Risk of incident diabetes with intensive-dose compared with moderate-dose statin Therapy. A Meta-analysis.  Preiss D. JAMA 2011;305:2556)

จากการคัดเลือกการศึกษายาลดไขมันกลุ่มสแตติน ในการศึกษา randomized controlled trials ที่มากกว่า ๑ พันคน ติดตามมากกว่า ๑ ปี ตั้งแต่ปี ๑๙๙๔-๒๐๐๙ ได้การศึกษาคุณภาพดี ๑๓ การศึกษา (รวม ๒ พันกว่าคนที่ได้ยาสแตติน เทียบกับกลุ่มควบคุมอีก ๒ พันกว่าคน) ติดตามเฉลี่ย ๔ ปี พบว่ายากลุ่มสแตตินเพิ่มโอกาสเป็นเบาหวานร้อยละ ๙ โดยมีความแตกต่างในแต่ละการศึกษาน้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โอกาสเป็นเบาหวานจะสูงกว่าคนอายุน้อย

ทุกๆ ๒๕๕ คน ที่กินยาลดไขมันสแตติน จะเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น ๑ คน ในเวลา ๔ ปี

อีกการคัดเลือกรวบรวมการศึกษา (meta-analysis) การศึกษา randomized controlled trials แบบเดียวกับการศึกษาข้างต้น เปรียบเทียบการกินยาสแตตินขนาดสูง เทียบกับ กินยาในขนาดต่ำ ได้การศึกษาคุณภาพดี ๕ การศึกษา ประชากรทั้งหมด ๓ หมื่น ๒ พันกว่าคน เป็นเบาหวานขึ้นใหม่ ๒ พัน ๗ ร้อยกว่าคน

ในระหว่างการติดตาม พบว่าการกินยาสแตตินขนาดสูง เพิ่มโอกาสเป็นเบาหวาน ร้อยละ ๑๒ ไม่มีความแตกต่างในแต่ละการศึกษา (I2=0) และลดโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ ๑๖ แต่มีความแตกต่างในแต่ละการศึกษามาก (I2 = 74%) แปลว่า ผลของการเพิ่มเบาหวาน น่าเชื่อถือกว่าผลของการลดโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และทางการแพทย์ถือว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงพอๆ กับผู้ที่เกิดเป็นโรคหัวใจแล้ว  

ดังนั้น การกินยาลดไขมันสแตตินผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ ไม่เคยมีอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน เป็นต้น อาจไม่คุ้มกับโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น

ยาเบาหวานตัวใหม่เพิ่มโอกาสปอดบวม
(Long-term use of thiazolidinediones and the associated risk of pneumonia or lower respiratory tract infection: systematic review and meta-analysis. Sonal S. Thorax 2011;66:383-8)

เบาหวานเป็นโรคที่คนไทยเราเป็นมากที่สุดโรคหนึ่ง สาเหตุการตายของผู้ป่วยเบาหวานอันดับหนึ่งคือ การติดเชื้อ และการติดเชื้อที่พบบ่อยที่ทำให้เสียชีวิตคือ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือเรียกอีกอย่างว่า ปอดบวม

ดังนั้น อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นปอดบวม ก็เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเหตุปัจจัยเป็นยาควบคุมระดับน้ำตาลที่ผู้ป่วยเบาหวานกินเป็นประจำจะทำอย่างไรดี

จากการคัดเลือกรวบรวมการศึกษายาเบาหวานกลุ่มใหม่ ที่เรียกว่า ยากลุ่ม Thiazolidinediones หรือยา Rosiglitazone และ Pioglitazone (ยาที่ลงท้ายด้วยคำว่า glitazone)*

*ในบ้านเรา มีจำหน่ายเฉพาะยา Pioglitazone เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี ง. ใช้เป็นยาชนิดที่ ๓ เพิ่มเติมหลังจากใช้ยา Sulfonylureas และ metformin แล้วเกิด secondary failure หรือใช้เมื่อแพ้ยา ๒ ชนิดดังกล่าวข้างต้น ชื่อการค้า มี Actos, actosmet,gitazone-forte, glucbosil, piozone, senzulin, utmost, piozone

ในการศึกษาแบบ randomized controlled trials ที่เปรียบเทียบยากลุ่มนี้กับยาหลอกหรือยาเบาหวานอื่น และมีการติดตามอย่างน้อย ๑ ปี โดยดูการรายงานผลข้างเคียงเกี่ยวกับการติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดขึ้น ได้การศึกษาคุณภาพดี ๑๓ การศึกษา ในประชากรรวม ๑ หมื่น ๗ พันกว่าคน (๘ พันกว่าคนได้ยากลุ่ม glitazone เทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอกหรือยาเบาหวานอื่น อีก ๙ พันกว่าคน) ระยะเวลาการติดตามในแต่ละการศึกษา ระหว่าง ๑-๕.๕ ปี พบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่กินยากลุ่มนี้นานกว่า ๑ ปีขึ้นไป เพิ่มโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือปอดบวมร้อยละ ๔๐ โดยไม่มีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา (I2=0%)

แปลว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ๘ พันกว่าคนที่กินยาดังกล่าว ๑-๕ ปี จะเป็นปอดบวมเพิ่มขึ้น ๓๐ คน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้กินยานี้ และเพิ่มโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างหรือปอดบวมอย่างรุนแรง ร้อยละ ๓๙ โดยไม่มีความแตกต่างกันในการศึกษา เมื่อดูในรายละเอียดเปรียบเทียบการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของยา Rosiglitazone และ Pioglitazone (การศึกษายาละ ๒ พันกว่าคน) พบว่า Pioglitazone มีผลเพิ่มโอกาสปอดบวมมากว่า Rosiglitazone เล็กน้อย แต่ไม่มีความสำคัญทางสถิติ ดังนั้น ยากลุ่มนี้ที่มีขายในบ้านเรา ก็เพิ่มโอกาสเกิดปอดบวมในผู้ป่วยเบาหวานที่กินยานี้เป็นประจำเกินกว่า ๑ ปี

ทำไมยาเบาหวานตัวใหม่นี้ เพิ่มโอกาสปอดบวม เราต้องทราบว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มนี้ มีผลต่อการทำงานของสตีรอยด์ในทางเดินหายใจ ทำให้สตีรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใช้งาน ทำงานมากขึ้นในทางเดินหายใจ ซึ่งจะลดการอักเสบ กดภูมิคุ้มกันบริเวณหลอดลม (เหมือนกับเรากินสตีรอยด์ในยาชุดบ้านเรา ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง) หลอดเลือดของเราจึงติดเชื้อง่ายขึ้นจนปอดบวม ถ้ารักษาไม่ทันท่วงที หรือเชื้อรุนแรงมาก ผู้ป่วยเบาหวานก็เสียชีวิตจากปอดบวมได้

แล้วเราจะทำอย่างไรดี ยาเบาหวานก็ต้องกิน มิฉะนั้น น้ำตาลในเลือดที่สูงๆ อยู่นานๆ เราก็จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ขาดเลือด อัมพาต หรือแม้แต่มะเร็ง

ทางออกและทางเลือกสำหรับปัญหานี้ก็อยู่ที่ตัวเราเอง ที่เป็นเหตุปัจจัยทำให้น้ำตาลในเลือดเราสูงขึ้นจนต้องกินยาเบาหวานเพื่อแก้ปลายเหตุ

ต้นเหตุอยู่ที่การใช้ชีวิต กินอร่อยเกิน อยู่สบายเกิน แล้วก็เครียดเกิน อ้วนเกิน เห็นแก่ตัวเกิน  เราก็จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยใช้ยาเบาหวานตัวเก่าแก่ที่ใช้มานาน เพียง ๒ กลุ่มก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มใหม่เป็นตัวที่ ๓ ในการควบคุมเบาหวาน เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นปอดบวม

นอกจากนี้แล้ว การกินยาลดการสร้างกรดในกระเพาะอาหารเป็นประจำ ก็เพิ่มโอกาสปอดบวมทั้งที่เกิดในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล (Use of acid-suppressive drugs and risk of pneumonia: a systematic review and meta-analysis. Eom CS. CMAJ 2011;DOI:10.1503/cmaj.092129) จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น บางครั้งการใช้ยา กินยามาก ๆ หลายตัว อาจเกิดผลเสียมากกว่า (Less is more) เพราะยาทุกชนิดมีทั้งผลดีและผลข้างเคียงเป็นธรรมดา ใช้ได้พอเหมาะพอควรก็เป็นประโยชน์มากกว่าโทษ
 

ข้อมูลสื่อ

391-036
นิตยสารหมอชาวบ้าน 391
พฤศจิกายน 2554
นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์