• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สร้างความเข้าใจต่อทัศนคติทางด้านจิตอย่างถูกต้อง

สร้างความเข้าใจต่อทัศนคติทางด้านจิตอย่างถูกต้อง


การพัฒนาทัศนคติทางจิตวิทยาที่ถูกต้องคือสาระในโยคะบำบัด ทัศนคติที่มีในเรื่องทั่วๆ ไป ทัศนคติที่มีต่อสิ่งรอบตัวที่เฉพาะเจาะจงมีความสำคัญยิ่งไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่เพียงต่อด้านกายจิตสัมพันธ์ ต่ออาการเรื้อรัง ต่อกลไกการสันดาป ต่อความเจ็บป่วย แต่ยังรวมไปถึงต่อการอักเสบด้วย 

มองมนุษย์เป็นองค์รวม
โยคะไม่ได้มองมนุษย์ว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่แยกจากกัน แต่มองมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม และถ้ากล่าวให้ถึงที่สุด มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่ง (ที่แยกไม่ได้) ขององค์รวมที่ใหญ่กว่า อันได้แก่ จักรวาล การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าแพทย์แผนปัจจุบันมองไม่เห็นเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนแพทย์แผนปัจจุบันจะจัดการโรคอย่างเจาะจง ยกตัวอย่างเช่น มองว่าปอดบวมเป็นเรื่องของปอด ไม่ใช่ของร่างกายทั้งหมด การรักษา ความใส่ใจ ล้วนมุ่งไปยังปอด มองว่าปฏิกิริยาของร่างกายจนทำให้เกิดอาการนั้นเนื่องมาจากปอด เนื่องมาจากการโจมตีของจุลชีพบางชนิดที่ปอด และเมื่อปอดปลอดภัยจากการโจมตี ปฏิกิริยาของร่างกายก็จะหยุดลงเอง และโรคของคนไข้ก็หาย 

แพทย์แผนปัจจุบันอธิบายกระบวนการเช่นนี้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยยาจะเป็นตัวช่วยให้คนไข้ขับไล่การโจมตี การทำลาย หรือทำให้การโจมตีนั้นอ่อนกำลังลง ไม่มีอะไรผิดในวิธีคิดเช่นนี้ โดยข้อเท็จจริงแพทย์แผนปัจจุบันประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการรักษาโรคด้วยกระบวนการนี้ แต่อย่างที่ทราบกันดีในแพทย์ทุกคน ไม่มียาหรือวิธีการใดที่จะทำลายเฉพาะสิ่งแปลกปลอมโดยไม่ไปทำลายส่วนอื่นๆ ที่เป็นปกติอยู่ด้วย จึงไม่แปลกใจ ว่าหลังจากการรักษาแล้ว คนไข้จะอยู่ในสภาพเปราะบาง อ่อนแอ ภูมิต้านทานของตนเองลดลง ศักยภาพในการป้องกันตนเองลดลงมากด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากความเจ็บป่วยที่สาเหตุมาจากความผิดปกติของร่างกายแล้วยังมีกลุ่มของโรคอีกประเภทหนึ่งที่เป็นความผิดปกติทางด้านกายจิตสัมพันธ์ เพราะในกลุ่มนี้ นอกจากมีความผิดปกติทางด้านกายแล้ว ยังมีความผิดปกติทางด้านจิตซึ่งเกี่ยวเนื่องกันด้วย ดังนั้นแพทย์แผนปัจจุบันยอมรับว่า จิตมีส่วนในโรคอย่างน้อยก็บางโรค
ดูเหมือนโยคะจะก้าวหน้ากว่า โยคะเชื่อว่าจิตมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงเรื่องของโรคทางด้านกายจิตสัมพันธ์ แต่รวมถึงโรคปัจจุบันทันด่วนด้วย จิตที่ถูกรบกวน ทำให้ร่างกายถูกโจมตีได้ง่ายขึ้น โดยการที่ความต้านทานลดลง การประสานกันของระบบภายในผิดพลาดประสิทธิภาพของร่างกายและจิตเองลดน้อยลง 
    
ปฏิกิริยาลูกโซ่
ทุกๆ จิต-กายที่ถูกรบกวน (วิกเสปะ) ทุกๆ อารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นลบ ทุกข์ โทมนัส ล้วนรบกวนจังหวะของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของเลือดทำให้เกิดอาการสั่นเทิ้มทางกาย (อังกะเมจยตวา) และเกิดการรบกวนระบบหายใจ (สวาสะ ปสวาสะ) การรบกวนกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของเลือดที่ โยคะเรียกว่าอังกะเมจยตวานี้ ได้รับการศึกษาและยอมรับแล้วว่า เป็นต้นตอของปฏิกิริยาลูกโซ่  แม้การหายใจที่ติดขัด ก็เป็นผลมาจากอังกะเมจยตวานี้ด้วยเช่นกัน

กล้ามเนื้อของคนเราเมื่อทำงานมากขึ้นก็ส่งผลไปยังการไหลเวียนของเลือด ระบบหายใจ การสันดาปด้วยน้ำตาล และการสันดาปอื่นๆ เพื่อป้อนกล้ามเนื้อที่ทำงานมากขึ้นนี้ ในขณะเดียวกัน การไหลเวียนของเลือดกลับถูกจำกัดเพราะอารมณ์ที่ขุ่นมัว ก็จะส่งผลไปยังหัวใจและปอดที่ต้องทำงานหนัก เพราะต้องทำงานมากขึ้นขณะที่หลอดเลือดตีบแคบลง ระบบประสาทอัตโนมัติและระบบต่อมไรท่อก็ต้องปรับตามไปด้วย หากกระบวนการนี้ใช้เวลานาน ต่อมไทรอยด์ก็จะทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ห่วงโซ่ของการรบกวนไม่ได้จบลงแค่นี้ มันไม่เพียงรบกวนเฉพาะส่วนของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหวร่างกาย แต่กล้ามเนื้อที่เป็นส่วนของอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้ หัวใจ ปอด หลอดลม หลอดเลือด ฯลฯ ก็ล้วนได้รับผลกระทบเช่นกัน เรียกว่ารบกวนร่างกายทั้งหมด มันทำให้พฤติกรรมของอวัยวะภายในเปลี่ยนไป ทำให้โครงสร้างโดยรวมของบุคลิกของมนุษย์เปลี่ยนไป

โยคะมองว่า อัง-กะเมจยตวา คือ ภาวะเบื้องต้นของความไม่ปกติก่อนจะเป็นโรค และมีกระบวนการจัดการอย่างเหมาะสม โยคะพยายามที่จะสืบไปยังรากเหง้าของปัญหา โยคะจึงใส่ใจไปที่ความพยายามที่จะป้องกัน ขณะเดียวกันก็พยายามจัดปรับพื้นฐานปัจจัยเบื้องต้นให้เหมาะสม
 
ครั้งหนึ่งแพทย์ยุคใหม่มองกระบวนการของโรคอย่างแยกส่วนเป็นอวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ ดังที่ดอกเตอร์ไวส์ และดอกเตอร์อิงลิช ระบุว่า ทัศนคติจากศตวรรษที่ ๑๙ ครอบงำ วิธีคิดทางการแพทย์เป็นสูตรสำเร็จ ดังนี้

โรคระดับเซลล์   ไปสู่  การเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง  ไปสู่ กายภาพถูกรบกวน (หรือการทำหน้าที่)
   
ครั้นถึงศตวรรษที่ ๒๐ สูตรสำเร็จนี้ ไม่สามารถใช้ได้ในหลายๆ กรณี เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคทางหลอดเลือด สูตรจึงถูกจัดปรับเสียใหม่ เป็น

การทำหน้าที่ถูกรบกวน  ไปสู่  โรคทางเซลล์    ไปสู่  การเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง

ผู้เขียนยังระบุต่อไปว่า เรายังคงมืดบอดต่อประเด็นที่ว่าอะไรทำให้การทำหน้าที่ถูกรบกวน ดังตัวอย่างที่ยกมา เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคทางหลอดเลือด ดูเหมือนว่า การศึกษาในอนาคตจะอนุญาตให้เรากล่าวได้ว่า การรบกวนทางจิตคือสาเหตุของการทำหน้าที่ที่ผิดปกติ ดังนั้น สูตรควรจะเขียนเสียใหม่ว่า

การรบกวนทางจิต  ไปสู่  การทำงานเสียไป   ไปสู่  โรคทางเซลล์  ไปสู่  การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง
   

ข้อมูลสื่อ

318-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์