• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร


การปลูกทำได้หลายวิธี ได้แก่

๑. แบบหว่าน สิ้นเปลืองเมล็ด ให้ผลผลิตน้อย

๒. แบบโรยเมล็ดเป็นแถว ประมาณ ๕๐-๑๐๐ เมล็ดต่อความยาวร่อง ๑ เมตร

๓. แบบหยอดหลุม ระยะระหว่างต้น ๒๐-๓๐ ซม. ระหว่างแถว ๔๐ ซม. หยอดเมล็ดหลุมละ ๕-๑๐ เมล็ด

๔. ปลูกโดยใช้กล้าให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าการปลูกโดย ๓ วิธีแรก

การเก็บเกี่ยว
ช่วงที่พืชออกดอกนับตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบานร้อยละ ๕๐ เพื่อให้มีปริมาณสารสำคัญสูง ซึ่งพืชจะมีอายุประมาณ ๑๑๐-๑๕๐ วัน

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
การทำความสะอาด นำฟ้าทะลายโจรมาล้างน้ำให้สะอาดตัดให้มีความยาว ๓-๕ ซม. ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาเกลี่ยบนกระด้งหรือถาดที่สะอาด การทำให้แห้ง อบที่อุณหภูมิ ๕๐ องศาเซลเซียส ใน ๘ ชั่วโมงแรก ต่อไปใช้อุณหภูมิ ๔๐-๕๐ องศา-เซลเซียส อบจนแห้งสนิท หรือตากแดดจนแห้งสนิท ควรคลุมภาชนะด้วยผ้าขาวบาง

สารสำคัญ
ส่วนเหนือดินฟ้าทะลายโจร มีสารสำคัญจำพวกไดเทอร์พีนแล็กโทน (diterpene lactones) หลายชนิด ได้แก่ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) นีโอแอนโดร-กราโฟไลด์ (neoandrographolide) ดีออกซีแอนโดร-กราโฟไลด์ (deoxyandrographolide) ดีออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (deoxy-didehydro andrographolide) วัตถุดิบฟ้าทะลายโจรที่ดีควรมีปริมาณแล็กโทนรวมคำนวณเป็นแอนโดรกราโฟไลด์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖ ไม่ควรเก็บวัตถุดิบไว้ใช้นานๆ เพราะปริมาณสารสำคัญจะลดประมาณร้อยละ ๒๕ เมื่อเก็บไว้ ๑ ปี

ผลการศึกษาทางเภสัชวิทยา
การศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดหรือสารสำคัญของฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางยาหลายประการ ดังนี้
๑. ฤทธิ์ลดการบีบหรือหดเกร็งตัวของทางเดินอาหาร
๒. ฤทธิ์ลดอาการท้องเสีย โดยทำให้การสูญเสียน้ำทางลำไส้จากสารพิษของแบคทีเรียลดลง
๓. ฤทธิ์ลดไข้และต้านการอักเสบ
๔. ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
๕. ฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษหลายชนิด เช่น  จากยาแก้ไข้ พาราเซตามอลหรือเหล้า
๖. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
๗. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

ประสิทธิผลในการรักษาโรคจากรายงานการวิจัยทางคลินิก

๑. รักษาอาการไข้เจ็บคอ (Pharyngotonsillitis)
ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรขนาด ๖ กรัม/วัน หรือพาราเซตามอล ๓ กรัม/วัน หายจากไข้ และอาการเจ็บคอได้มากกว่ากลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจรขนาด ๓ กรัม/วัน อย่างมีนัยสำคัญในวันที่ ๓ หลังรักษา แต่ผลการรักษาไม่มีความแตกต่างกันในวันที่ ๗

๒. การรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิดแบคทีเรีย (Bacilliary dysentery) 
ผู้ป่วยที่ได้รับฟ้าทะลายโจรทั้งขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัมทุก ๖ ชั่วโมง และขนาด ๑ กรัม ทุกๆ ๑/๒ ชั่วโมง  เทียบกับ ยาเตตราไซคลีน พบว่าสามารถลดจำนวน อุจจาระร่วง (ทั้งความถี่และปริมาณ) และจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิดแบคทีเรียได้อย่างน่าพอใจ ลดการสูญเสียน้ำได้มากกว่ากลุ่มที่ได้ยาเตตราไซคลีน

๓. การศึกษาประสิทธิผลในการบรรเทาอาการหวัด (Common cold)
ผลการทดลองให้ยาเม็ดสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่ควบคุมให้มีปริมาณของแอนโดรกราโฟไลด์ และดีออกซีแอนโดรกราโฟไลด์รวมกันไม่น้อยกว่า ๕ มิลลิกรัม/เม็ด ครั้งละ ๔ เม็ด วันละ ๓ เวลา ในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด พบว่า วันที่ ๒ หลังได้รับยา ความรุนแรงของอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ในกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญและในวันที่ ๔ หลังได้รับยา ความรุนแรงของทุกอาการได้แก่ อาการไอ เสมหะ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหู นอนไม่หลับ เจ็บคอ ในกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

ขนาดที่ใช้และวิธีที่ใช้
กินครั้งละ ๑,๕๐๐-๓,๐๐๐ มิลลิกรัม ของผงยาวันละ ๔ ครั้ง หลังอาหาร ๓ เวลา และก่อนนอน (จำนวนเม็ดหรือแคปซูลที่กินแต่ละครั้งให้ปรับตามขนาดของผงยาที่บรรจุในแต่ละเม็ด)

ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับแก้เจ็บคอในกรณีต่างๆ ต่อไปนี้

๑. ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A
๒. ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบเนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A
๓. ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูมาติก
๔. ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียและมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น

ข้อควรระวัง
๑. ฟ้าทะลายโจรอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน ปวดเอว หรือวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจร
๒. หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชา หรืออ่อนแรง
๓. หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน ๓ วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์
๔. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร

ข้อมูลสื่อ

318-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548
สถาบันการแพทย์แผนไทย