• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เทคนิคการรักษาฝ้า

เทคนิคการรักษาฝ้า


ฝ้าเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด ความร้อน ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ หรือการกินยาคุมกำเนิด นอกจากนี้ การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารให้กลิ่นหอม หรือสีบางชนิด  ยากันชักบางตัวและการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคตับและขาดวิตามินบี ๑๒ ใครที่มีฝ้าชนิดลึกอยู่ในชั้นหนังแท้จะกินเวลารักษานานกว่าจะเห็นผล บางรายรักษาฝ้าไม่หาย เพราะหลีกเลี่ยงการถูกแดดจัดไม่ได้ 
    
ป้องกันฝ้าอย่างไร
ถึงแม้ว่าฝ้ารักษาไม่หายขาด แต่การหลีกเลี่ยงแสง แดดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดฝ้าใหม่ได้ ซึ่งนอกจากป้องกันฝ้าแล้ว ยังลดผลเสียหน้าที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่นและลดการเกิดมะเร็งผิวหนัง

ยารักษาฝ้า
ฝ้าบนใบหน้าจะค่อยๆ ลดลง แต่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน การทาครีมรักษาฝ้าให้ทาเฉพาะตรงที่เป็นฝ้าเท่านั้น ไม่ต้องทาทั่วหน้า ยาที่ใช้รักษาฝ้ามีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน ยาบางตัวทำให้หน้าแดงจริง แต่อาจมีผลข้างเคียงด้านอื่นตามมา สำหรับยาที่ใช้กันทั่วไป มีดังนี้

๑. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นยารักษาฝ้าที่ใช้บ่อยที่สุด เป็นสารไฮดรอกซีฟีนอลที่ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ซึ่งทำให้การผลิตเม็ดสีน้อยลง และส่วนของไฮโดรควิโนนที่ถูกย่อยสลายก็ยังยับยั้งการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีได้ โดยทั่วไปไฮโดรควิโนน มีอยู่ทั้งในรูปครีมและในรูปสารละลายในแอลกอฮอล์

ในสหรัฐอเมริกาจัดว่าไฮโดรควิโนนความเข้มข้นร้อยละ ๒ หรือน้อยกว่า สามารถวางขายได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ถ้ามีความเข้มข้นเกินร้อยละ ๒ ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้ถือว่าไฮโดรควิโนนทุกระดับความเข้มข้นจัดเป็นยา การใช้ไฮโดรควิโนนขนาดสูง ต่อเนื่องกันนานๆ อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง ฝ้าคล้ำขึ้น จากปฏิกิริยาแพ้แสงแดด หรือเกิดฝ้าถาวรได้ 

๒. เทรทิโนอิน (Tretinoin) เป็นกรดวิตามินเอ ได้ผลพอสมควร แต่ได้ผลน้อยกว่าไฮโดรควิโนนและกินเวลานานกว่า ๖ เดือนจึงจะเห็นผล มีการผสมสูตรยาฝ้าที่มีส่วนผสมของทั้งกรดวิตามินเอ สตีรอยด์และ ไฮโดรควิโนน พบว่าได้ผลเร็วขึ้น

๓. กรดอซีเลอิก (Azelaic acid) อยู่ในรูปของครีมความเข้มข้นร้อยละ ๒๐ ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับไฮโดรควิโนน 4% อาจทำให้ผิวระคายเคือง แต่จะเกิดผิวแพ้แสง

๔. สตีรอยด์อย่างเดียว ทำให้ฝ้าจางได้ แต่ถ้าใช้นานๆ  ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผิวบาง หลอดเลือดฝอยขยาย เป็นสิว และขนใบหน้าดกขึ้น.

๕. ยารักษาฝ้าสูตรใหม่ๆ เช่น กรดโคจิก (Kojic acid ) วิตามินซี สารสกัดชะเอมเทศ เป็นต้น

ยาเหล่านี้ยังต้องรอผลสรุปจากการวิจัยก่อน

เทคนิคเสริมในการรักษาฝ้า
การรักษาฝ้าไม่เฉพาะแต่การใช้ยาเท่านั้น มีวิธีอื่นเสริมอีก เช่น

๑. การใช้ความเย็นจัดลอกหน้า 

๒. การลอกหน้าด้วยสารเคมีในระดับลึกปานกลาง

๓. เลเซอร์ ไอพีแอล คลื่นวิทยุ

วิธีเหล่านี้อาจทำให้ฝ้าจางลงเร็ว แต่ก็มีผลแทรกซ้อนได้เช่นกัน เช่น ทำให้ผิวชั้นหนังกำพร้าตาย มีรอยด่างดำหลังทำ และเกิดแผลเป็นนูนโต  การรักษาฝ้าที่จะได้ผลดี ต้องพยายามหาสาเหตุและแก้ไขต้นเหตุ เช่น การกินยาคุมกำเนิด หรือถูกแสงแดดจัด จึงต้องใช้ยากันแดดร่วมไปด้วย นั่นคือ เลือกใช้ยากันแดดที่กันทั้งรังสียูวีเอ และยูวีบี  มีค่าการป้องกันแสงแดด (SPF) ๑๕ ขึ้นไป

ข้อมูลสื่อ

325-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 325
พฤษภาคม 2549
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร