• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกับงานเบาๆ...เป็นไปได้หรือ

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกับงานเบาๆ...เป็นไปได้หรือ


หมอนรองกระดูกเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังทุกข้อ ตั้งแต่คอถึงเอว มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของร่างกาย ลดแรงกระแทก และทำให้หลังสามารถเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ชื่อของโรคนี้คงไม่มีใครอยากเป็น หรืออยากให้คนรู้จัก เป็นเพราะจะมีอาการเจ็บและทรมานมาก หรืออาจส่งผลถึง การเสียสภาพการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำให้ไม่สามารถทำงาน หรือดำรงชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ บางคนอาจจินตนาการความเจ็บนั้นไม่ได้และคิดว่าคนที่เป็นแสดงความเจ็บมากเกินไปหรือเปล่า หากจะให้เปรียบเทียบถึงความเจ็บแล้ว ให้ลองคิดถึงเมื่อเราเผลอเอาศอกไปกระแทกขอบโต๊ะแล้วรู้สึกเหมือนไฟช็อตวิ่งไปที่แขน ซึ่งเป็นอาการที่เราทนไม่ได้ ทั้งๆ ที่อาการนั้นเกิดจากเส้นประสาทแขนถูกกระทบกระเทือนเพียงแค่ครั้งเดียว เสี้ยววินาทีเดียว แต่ผู้ที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น เส้นประสาทถูกกดทับจนกระทั่งอักเสบ ทำให้ปวดมากและปวดตลอดเวลา สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทคือ การยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ป่วยหลายรายที่ไม่ได้ยกของหนักแต่ก็มีอาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้

กายวิภาคศาสตร์ของหมอนรองกระดูกสันหลัง
หมอนรองกระดูกเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังทุกข้อ ตั้งแต่คอถึงเอว มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของร่างกาย ลดแรงกระแทก และทำให้หลังสามารถเคลื่อนไหว ในทิศทางต่างๆ หากไม่มีหมอนรองกระดูกสันหลังก็จะทำให้ก้ม เงย หรือเคลื่อนไหวหลังได้ไม่สะดวก ลองจินตนาการว่าหากกระดูกสันหลังของคนเราเป็นแท่งยาวๆ ที่ยาวตั้งแต่เอวจนถึงคอ โดยไม่เป็นชิ้นๆ และไม่มีหมอนรองกระดูก เราจะไม่สามารถก้มได้สะดวกหรือเคลื่อนไหวตัวได้สะดวก แต่กระดูกสันหลังของคนเราเป็นท่อนๆ ทำให้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ซึ่งต้องแลกกับความแข็งแรงเพราะเคลื่อนไหวมากหลายทิศหลายทาง ความแข็งแรงก็ลดลงไปเปรียบเหมือนกับร่มพับ เช่น ร่มพับ ๓ ตอนไม่แข็งแรงเหมือนร่มตอนเดียวหลายๆ คนลืมนึกถึงข้อนี้ และเคยชินกับการยกมักใช้การก้มไปยกของตรงๆโดยไม่คำนึงถึงการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น

ลองมาดูโครงสร้างของหมอนรองกระดูกกัน
จากภาพตัดแนวตรง ด้านหน้ามาหลังของกระดูกสันหลัง พบว่าหมอนรองกระดูกมีลักษณะเป็นของเหลวหนืดอยู่ด้านใน ขณะที่ด้านนอกเป็นเนื้อเยื่อเหนียวหนาแข็งแรงล้อมรอบ เมื่อมีแรงกระแทกจากด้านบน หมอนรองกระดูกก็จะยุบตัวลงเหมือนลูกโป่งที่ถูกกดลง หากก้มตัวหรือแอ่นตัว เนื้อเยื่อที่อยู่ด้านตรงข้ามกับทิศทางที่เคลื่อนไปก็จะตึง เช่น ถ้าก้มตัว ด้านหลังของหมอนรองกระดูกก็จะตึง ของเหลวภายในจะดันมาด้านหลัง ถ้าแอ่นตัวเนื้อเยื่อของหมอนรองกระดูกที่อยู่ด้านหน้าก็จะตึง ของเหลวภายในจะดันตัวมาด้านหน้า ดังนั้นถ้าก้มมากๆ หรือเร็วๆ ก็จะมีแรงกระชากต่อเนื้อเยื่อด้านหลังของหมอนรองกระดูก ซึ่งถ้ารุนแรงก็จะทำให้หมอนรองกระดูกนั้นฉีกขาด ส่งผลทำให้ของเหลวที่อยู่ด้านในโป่งดันเนื้อเยื่อที่ล้อมรอบไปทางด้านหลัง ทำให้ไปกดทับเส้นประสาท หรือถุงหุ้มไขสันหลังได้



จากภาพที่ ๒
เส้นใยของเนื้อเยื่อเหนียวๆ ที่หุ้มรอบของเหลวหนืดๆ นั้น จะพบว่าวางตัวเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นวางตัวเฉียงต่อกันประมาณ ๑๒๐ องศา ซึ่งการวางตัวตามแนวเฉียงสลับไปมานี้จะมีผลเพิ่มความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้ดี แต่การหมุนตัวจนมากเกินไปอาจทำให้เกิดการฉีกขาดได้ ดังนั้นจากการวางตัวของหมอนรองกระดูกสันหลังและลักษณะการวางตัวของเส้นใยของเนื้อเยื่อบ่งบอกได้ว่า การก้มตัวและการบิดตัวเป็นทิศทางที่ส่งเสริมการฉีกขาดของเนื้อเยื่อด้านหลังของหมอนรองกระดูก
 
งานเบาๆ กับหมอนรองกระดูกปลิ้น
ประสบการณ์ของผู้เขียน มีผู้ป่วยที่มีอาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่เกิดจากงานเบาๆ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักของที่ยกเลย ประวัติของผู้ป่วยรายนี้คือ เป็นชายอายุประมาณ ๓๓ ปี ก่อนเกิดอาการ ผู้ป่วยนั่งทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์ประมาณ ๔ ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยมีอาการไม่สบายอยู่แล้ว จึงสั่งน้ำมูกแล้วจึงโยนลงถังขยะซึ่งอยู่ข้างๆ เก้าอี้ ปรากฏว่าทิ้งไม่ลงถัง จึงก้มลงไปเก็บทิ้งใหม่แล้วดึงตัวขึ้น จากนั้นก็เกิดมีอาการแปล๊บที่หลัง แล้วก็มีอาการปวดร้าวลงขาตามมา จากการวิเคราะห์พบว่า เมื่อผู้ป่วยนั่งอยู่นานๆ ถึง ๔ ชั่วโมง โดยอาจนั่งอยู่ในท่าหลังโค้ง ซึ่งเป็นลักษณะท่าที่หลายๆ คนนั่งทำงาน หรือแม้กระทั่งอาจเป็นท่าของผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความนี้ ซึ่งการนั่งในท่าลักษณะนี้ จะมีการยืดต่อด้านหลังของหมอนรองกระดูกสันหลัง การยืดอยู่นานๆ จะมีผลต่อสภาพความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อด้านหลังของหมอนรองกระดูกสันหลัง คือทำให้ความยืดหยุ่นและความแข็งแรงลดลงไป เมื่อร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ จะส่งผลทำให้เกิดการยึดตัว และการสังเกตได้จากในตอนเช้าๆ หลังตื่นนอนร่างกายก็มีความตึงไม่ยืดหยุ่นต้องทำการบิดขี้เกียจหรือขยับตัวไปมาก่อน

รถยนต์ที่จอดไว้นานๆ ไม่ได้ใช้งานยางรถก็สามารถแตกลายงาได้ คุณสมบัติความยืดหยุ่นของยางก็สูญเสียไป หรือเหมือนกับยางวง ซึ่งใช้รัดถุง หากทำการยืดเอาไว้นานๆ แล้วออกแรงกระตุกเพียงเล็กน้อยยางนั้นก็ขาดออกได้อย่างง่ายดาย ผู้ป่วยรายนี้มีการก้มตัวลงไป การก้มตัวนั้นก็เหมือนกับการกระชากยางยิ่งถ้าก้มเร็วก็เหมือนกับการกระชากแรงๆ ขณะเดียวกันการก้มตัวของผู้ป่วยรายนี้ก็ไม่ใช่การก้มลงตรงๆ เพราะต้องเอี้ยวตัวไปด้านข้างด้วย ส่งผลต่อการกระชากเส้นใยของหมอนรองกระดูกในแนวเฉียงตามการหมุนตัว ด้วยเหตุทั้งหมดนี้สามารถทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทได้

สรุปได้ว่าการประกอบกันของการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ การก้มเอี้ยวตัวด้วยความรวดเร็วถือเป็นความเสี่ยง จึงทำให้แม้งานเบาๆ ก็สามารถทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ และถ้าหากมีเรื่องน้ำหนักของสิ่งของที่ยกว่าหนักมาก จะสามารถทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่ายมากขึ้น เหตุการณ์ในลักษณะนี้มีให้เห็นบ่อยมาก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานนั่งเย็บเสื้อผ้าอยู่นาน หลอดด้ายหล่นจึงก้มไปเก็บ พอยกตัวขึ้นก็เกิดปัญหาขึ้นได้ทันที ปัญหาการเกิดอาการปวดหลังในลักษณะนี้เป็นปัญหาที่หลายคนไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้นมีสาเหตุมาจากการยกของหนัก ทำให้พนักงานโรงงานมีปัญหาเรื่องการเรียกร้องค่ารักษาหรือชดเชยจากการบาดเจ็บ เพราะตัวลักษณะงานไม่ได้บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงจากการยกของไม่น่าจะมีผลต่อการทำให้เกิดปวดหลังจากการยกของ

การแก้ไขทำได้ง่ายมาก นั่นคือ ใช้วิธีการระมัดระวังตัวโดยเมื่อนั่งทำงานควรนั่งในท่านั่งที่หลังตรง หรืออาจนั่งพิงพนักพิงก็ได้ และถ้านั่งหรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง นานๆ แล้วจะทำการเคลื่อนไหวให้ทำการขยับตัวไปมาก่อน เช่น บิดตัวไปมาช้าๆ และถ้าจะก้มตัวยกหรือหยิบของให้พยายามหลีกเลี่ยง ท่าก้ม บิดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีแรงกระชากร่วมด้วย หากต้องยกของหนักให้ใช้หลักการที่เคยลงไว้ในคอลัมน์คนกับงานที่ผ่านมา นั่นคือ ใช้กล้ามเนื้อขาแทนกล้ามเนื้อหลัง งอเข่า งอสะโพก พยายามให้หลังตรงเสมอขณะยกของ ทั้งนี้ผู้เขียนมุ่งหวังให้ผู้อ่านระมัดระวังและดูแลตัวเอง ไม่ต้องการให้เกิดความกลัวแต่ประการใด หวังว่าทุกท่านจะห่างไกลจากโรคปวดหลัง

ข้อมูลสื่อ

325-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 325
พฤษภาคม 2549
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา