• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคจากภัยน้ำท่วม : วิธีป้องกันและรักษาเบื้องต้น

โรคติดต่อทางเดินหายใจ : ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ
อาการสำคัญ
มีอาการไข้ (ตัวร้อน) เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ
สำหรับไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการปวดเมื่อยมากและเบื่ออาหารร่วมด้วย
สำหรับปอดอักเสบ มักมีอาการไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว เจ็บหน้าอก หายใจหอบร่วมด้วย

วิธีป้องกัน

  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้งอยู่เสมอ และสวมเสื้อผ้าให้หนาพอหากอากาศเย็น
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัด ปิดปากและจมูกด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชูหากจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเดินผ่านผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย
  • ในช่วงที่มีไข้หวัดเกิดขึ้น ทั้งผู้ป่วยและคนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ชโลมมือ
  • สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า ๖๕ ปี ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ หืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง เอดส์ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีภาวะอ้วน ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกัน

การรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เป็นไข้หวัด (มักเกิดจากไวรัส มีน้ำมูกและเสมหะใสหรือขาว)

  • ควรนอนแยกต่างหากและอยู่ห่างจากคนอื่น
  • ใช้ผ้าปิดปากหรือสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการไอ/จามใส่ผู้อื่น
  • ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ดื่มน้ำมากๆ
  • กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย ดื่มนม น้ำผลไม้ น้ำหวาน
  • กินยาแก้ไข้พาราเซตามอล เวลามีไข้สูง
  • ถ้าไอมาก จิบน้ำอุ่น หรือฝานมะนาวบางๆ จิ้มเกลืออม หรือใช้ขิงฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือเล็กน้อยจิบบ่อยๆ
  • ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ ถ้า (๑) มีไข้เกิน ๔ วัน หรือน้ำมูกมีสีเขียวหรือเหลืองเกิน ๒๔ ชม. หรือไอมีเสมหะสีเขียวหรือเหลือง หรือเจ็บคอมาก หรือไอมาก หรือปวดหู หูอื้อ (แสดงว่ามีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรือ อีริโทรไมซิน) หรือ (๒) ปวดเมื่อยมาก เบื่ออาหาร นอนซม (อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ แพทย์อาจต้องให้ยาต้านไวรัสในบางราย) หรือ (๓) เจ็บหน้าอก หายใจหอบ (อาจเป็นปอดอักเสบ) หรือ (๔) มีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่ทำให้วิตกกังวล

โรคติดต่อทางเดินอาหาร : ท้องเดิน อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาต์ ไข้ไทฟอยด์
อาการสำคัญ
ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้ร่วมด้วย
สำหรับไข้ไทฟอยด์ มักมีไข้สูงตลอดเวลา นานเป็นสัปดาห์ๆ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนซม

วิธีป้องกัน

  • กินอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ไม่บูดเสีย ไม่กินอาหารที่มีแมลงวันตอมหรือทิ้งค้างคืน หรือมีกลิ่นบูด
  • ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำขวด น้ำต้มสุก
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่ก่อนปรุงและเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย (ทั้งผู้ป่วยและคนทั่วไป)
  • ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำโดยตรง ควรถ่ายลงส้วมที่ดัดแปลงเฉพาะ หรือให้ถ่ายลงในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวจำนวนพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงดำ (ถุงขยะ)

การรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเดิน

  • ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) หรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ หรือน้ำอัดลมใส่เกลือ โดยใส่เกลือ ๒.๕ มล. (ครึ่งช้อนยาเด็กหรือครึ่งช้อนชาที่มีขนาด ๕ มล.) ในน้ำข้าวหรือน้ำอัดลม ๗๕๐ มล. หรือ ๓ แก้ว หรือสารน้ำที่ปรุงเองโดยใส่น้ำตาลทราย ๓๐ มล. (๖ ช้อนยาเด็ก หรือ ๒ ช้อนโต๊ะที่มีขนาด ๓๐ มล. เกลือครึ่งช้อนยาเด็ก) ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ ครั้งละประมาณ ๑/๓ ถึง ๑/๒ แก้ว ให้ได้มากพอกับที่ถ่ายออกไป โดยสังเกตเห็นมีปัสสาวะออกมากและใส
  • ให้ยาแก้ไข้พาราเซตามอลถ้ามีไข้สูง
  • สำหรับเด็กเล็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมแม่ได้ตามปกติ ถ้ากินนมผงให้ผสมนมจางลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยดื่ม จนกว่าอาการเริ่มทุเลา สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ให้กินอาหารอ่อน (เช่น ข้าวต้ม) งดอาหารรสจัดและย่อยยาก จนกว่าจะทุเลา
  • ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ ถ้าปวดท้องรุนแรง อาเจียนมาก ถ่ายเป็นน้ำมากและบ่อย มีอาการหน้ามืด เป็นลม ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไม่ได้ มีอาการขาดน้ำรุนแรง (ปากแห้ง คอแห้ง ตาลึกโบ๋ ปัสสาวะออกน้อย ใจหวิวใจสั่น) ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด มีไข้สูงหรือมีไข้เกิน ๔๘ ชม. ซึมมาก หรืออาการท้องเดินไม่ทุเลาใน ๒๔ ชม. หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโรคบิดหรืออหิวาต์ระบาด หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่ทำให้วิตกกังวล แพทย์อาจต้องให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) เช่น โคไตรม็อกซาโซล หรือนอร์ฟล็อกซาซิน (สำหรับบิดชิเกลล่า) ดอกซีไซคลีน หรือ นอร์ฟล็อกซาซิน (สำหรับอหิวาต์)

โรคติดต่อจากยุง : ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย
อาการสำคัญ
มีไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนซม มักไม่มีน้ำมูกหรือไอ
สำหรับไข้เลือดออก (เกิดจากยุงลายกัด พบในชุมชนทั่วไป) มักมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดงตาแดง ปวดท้อง อาเจียน มีผื่นขึ้น หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
สำหรับไข้มาลาเรีย (เกิดจากยุงก้นปล่องกัด พบในเขตป่าเขา) มักมีอาการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลา ทุกวันหรือวันเว้นวัน

วิธีป้องกัน

  • ระวังอย่าให้ยุงกัดทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยนอนในมุ้ง ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ห่มผ้าหนาๆ ใช้กับดักยุง ทายากันยุง หรือใช้ตะไคร้หอมหรือใบกะเพราตำ คั้นน้ำนำมาทาตัว
  • กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณบ้าน โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำ คว่ำหรือทำลายภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง ใช้ผงซักฟอกโรยในภาชนะ/วัสดุที่มีน้ำขัง เช่น กระถาง จานรองตู้กับข้าว ในสัดส่วน ๑ ช้อนโต๊ะ (๑๕ มล.) ต่อน้ำ ๒ ลิตร หรือปล่อยปลาหางนกยูงหรือปลากัดลงในบ่อน้ำและภาชนะที่ใส่น้ำที่ไม่ได้ใช้ดื่มกิน
  • กำจัดยุงโดยใช้ผงซักฟอก สบู่เหลว แชมพู หรือน้ำยาล้างจาน ๑ ช้อนโต๊ะ (๑๕ มล.) ผสมน้ำ ๑ ลิตร ค่อยๆ คนอย่าให้เป็นฟอง แล้วใส่กระบอกฉีดน้ำ นำไปฉีดยุงที่เกาะตามบริเวณบ้าน

การรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เป็นไข้ (ตัวร้อน)

  • ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ดื่มน้ำมากๆ
  • กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย ดื่มนม น้ำผลไม้ น้ำหวาน
  • กินยาแก้ไข้พาราเซตามอล เวลามีไข้สูง (หากสงสัยไข้เลือดออก ห้ามใช้แอสไพรินแก้ไข)
  • ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ ถ้ามีไข้สูงตลอดเวลา จับไข้หนาวสั่น เบื่ออาหาร นอนซม ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนังหรือมีเลือดออก หน้าตาซีดเหลือง ตาแดง ตาเหลือง ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้) หรือชักเกร็ง หรือมีไข้นานเกิน ๔ วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู หรือไข้มาลาเรียระบาด หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่ทำให้วิตกกังวล แพทย์อาจต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาฆ่าเชื้อ

โรคติดต่ออื่นๆ : ไข้ฉี่หนู โรคตาแดงระบาด
ไข้ฉี่หนู (เล็ปโตสไปโรซิส)
อาการสำคัญ
มีไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่อง ตาแดง ตาเหลือง

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น
  • หากจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • หากจำเป็นต้องแช่น้ำ อย่าแช่นาน เมื่อขึ้นจากน้ำ ควรรีบชำระร่างกายให้สะอาดและซับให้แห้งทันที
  • เก็บอาหารในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติกหรือถังขยะที่ปิดมิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
  • ดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่พักของหนู

การรักษาเบื้องต้น
ให้การดูแลผู้ที่มีไข้เช่นเดียวกับไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย

โรคตาแดงระบาด (เยื่อตาขาวอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส)
อาการสำคัญ
ระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตา หนังตาบวม ตาแดง อาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้างหนึ่ง บางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย มักพบว่ามีการระบาด

วิธีป้องกัน

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่
  • ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตาแดง

การรักษาเบื้องต้น

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่
  • ควรนอนแยกจากคนอื่น และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
  • ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ ถ้าปวดตามาก ตามัว ขี้ตาเหลืองหรือเขียว หรือไม่ทุเลาใน ๑ สัปดาห์

โรคผิวหนัง
ผื่นคัน เกิดจากการย่ำน้ำ หรือถูกยุงกัด แล้วเกิดระคายเคืองหรือแพ้สัมผัส
โรคเชื้อรา เกิดจากการติดเชื้อรา
โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการแช่เท้าในน้ำนานๆ คือครั้งละเกิน ๑ ชม. และบ่อยๆ ผิวหนังที่ง่ามนิ้วเท้าเปื่อยยุ่ย มีการติดเชื้อตามมา
อาการสำคัญ
ผื่นคัน : มีผื่นหรือตุ่มคันที่บริเวณที่สัมผัสน้ำ หรือถูกยุงกัด มักขึ้นพร้อมกันหลายจุด
โรคเชื้อรา : มีอาการเป็นผื่นเปื่อยยุ่ย สีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า อาจมีอาการคันร่วมด้วย
โรคน้ำกัดเท้า : ผิวหนังเปื่อยยุ่ย ลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น คันตามซอกนิ้วเท้า ต่อมามีผื่นพุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง เป็นหนอง (ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน)

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น กำจัดยุง ระวังอย่าให้ยุงกัด
  • ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ
  • หากต้องย่ำน้ำโดยไม่สวมรองเท้าบู๊ต ก่อนลงน้ำควรใช้ขี้ผึ้งวาสลิน ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือจาระบีทาเท้าและง่ามนิ้วเท้าให้ทั่วทั้งสองข้าง เมื่อขึ้นจากน้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่และซับให้แห้งทันที

การรักษาเบื้องต้น
ผื่นคัน

  • ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบ แล้วทาด้วยครีมสตีรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลน วันละ ๒-๓ ครั้ง และทาซ้ำหลังย่ำน้ำและทำความสะอาดเท้า เมื่อผื่นหายดีแล้วควรหยุดยา หรือใช้ใบตำลึงสด หรือเสลดพังพอนสด ๑ กำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาน้ำนำมาทาบริเวณผื่นคัน
  • ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ ถ้าเท้ามีอาการปวด บวม แดงร้อน เป็นตุ่มหนอง หรือไม่ทุเลาใน ๑ สัปดาห์ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แพทย์อาจต้องให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรือ ไดคล็อกซาซิลลิน


โรคเชื้อรา โรคน้ำกัดเท้า

  • ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือครีมฆ่าเชื้อรา วันละ ๒-๓ ครั้ง นาน ๒-๔  สัปดาห์
  • ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการปวด บวม แดงร้อน เป็นหนอง ไข่ดันบวม หรือมีไข้ หรือไม่ทุเลาใน ๑ สัปดาห์ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แพทย์อาจต้องให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรือ ไดคล็อกซาซิลลิน

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อ เนื่องจากการอั้นปัสสาวะเพราะความไม่สะดวก การพะวงกับงาน การสู้ภัยหรือเดินทางไกล หรือความกลัวจากสัตว์ร้ายที่หนีเข้าในห้องน้ำ พบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย
อาการสำคัญ
ถ่ายปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย ปวดท้องน้อย อาจมีไข้ร่วมด้วย

วิธีป้องกัน

  • ไม่อั้นปัสสาวะ ถ้ากลางคืนไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ ควรถ่ายลงกระโถน
  • รักษาบริเวณก้นให้สะอาด เช็ดชำระก้นให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระ

การรักษาเบื้องต้น

  • ดื่มน้ำมากๆ ถ่ายปัสสาวะบ่อย อย่าอั้นปัสสาวะ
  • ใช้ตะไคร้ลำต้นแก่หรือเหง้าสดหรือแห้ง ครั้งละ ๑ กำมือต้มกับน้ำ ดื่มวันละ ๓  ครั้ง ครั้งละ ๑ ถ้วยชา (๗๕ มล.) ก่อนอาหาร หรือใช้กลีบเลี้ยงและรองกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงตากแห้ง บดเป็นผง ครั้งละ ๑ ช้อนชา (๕ มล.) ชงในน้ำเดือด ๑ ถ้วย (๒๐๐ มล.) ดื่มวันละ ๓ ครั้ง
  • ควรพบหรือปรึกษาแพทย์ ถ้ามีไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลังมาก ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะออกเป็นเลือด หรืออาการไม่ทุเลาใน ๓ วัน แพทย์อาจต้องให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรือโคไตรม็อกซาโซล
     

ข้อมูลสื่อ

392-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 392
ธันวาคม 2554
เครือข่ายแพทย์ยุคใหม่