• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคผิวหนัง... ผลพวงจากน้ำท่วม

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า โรคที่เกิดจากน้ำท่วมที่พบบ่อยที่สุดคือโรคผิวหนัง โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจ  

โรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในภาวะน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม
โรคผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วมคือโรคน้ำกัดเท้าและโรคเชื้อราที่เท้า 

ภาพที่ ๑ น้ำกัดเท้าและเชื้อราที่เท้า

โรคน้ำกัดเท้าในช่วงแรกเกิดเพราะเท้าที่แช่น้ำนานๆ ซึ่งน้ำจะทำให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ย ลอกเป็นแผ่น ทำให้เชื้อโรคต่างๆ ที่ปะปนอยู่กับสิ่งสกปรกในน้ำเข้าสู่รอยแผลเปื่อย แผลจึงอักเสบ บวมแดง มีหนอง อาจเจ็บระบมที่เท้า ร่วมกับมีไข่ดันที่ขาหนีบบวมโต บางครั้งอาจเป็นไข้


ภาพที่ ๒ เชื้อราที่เท้าและมีผื่นภูมิแพ้ที่มือและแขน

โรคน้ำกัดเท้านี้อาจพบร่วมกับโรคเชื้อราที่เท้าซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อย (ภาพที่ ๑ น้ำกัดเท้าและเชื้อราที่เท้า) ทั้งนี้เพราะเชื้อราที่เท้าทำให้ผิวหนังลอกเปื่อยยุ่ยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดภาวะน้ำกัดเท้าได้ง่ายขึ้น หรือบางครั้งเชื้อราที่เท้าเกิดเองจากการเดินย่ำน้ำไปมาจนเท้าชื้นแฉะ ทำให้เชื้อราของผิวหนังที่ชอบเจริญเติบโตในบริเวณที่อับชื้นขยายตัวแพร่พันธุ์จนเกิดโรคเชื้อราที่เท้าได้  

อาการของการติดเชื้อราที่เท้ามักเห็นเป็นผื่นเปียกยุ่ยสีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า บางทีก็เป็นที่ฝ่าเท้า หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนก็จะเกิดเป็นหนอง บางคนเป็นเชื้อราที่เท้า แต่จะเกิดภูมิแพ้เป็นผื่นคันหรือเห่อเป็นตุ่มน้ำที่มือหรือที่ตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกาย (ภาพที่ ๒ เชื้อราที่เท้าและมีผื่นภูมิแพ้ที่มือและแขน) ยังพบโรคติดเชื้อราที่ขาหนีบหรือ "สังคัง" มักติดเชื้อมาจากที่เท้า เมื่อสวมกางเกงในจะทำให้ติดเชื้อจากเท้าไปขาหนีบ มีอาการคันมาก

โรคผิวหนังที่อาจพบได้ในภาวะน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม
ยังอาจพบโรคเท้าเหม็น (pitted keratolysis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดรูพรุนเล็กๆ ที่เท้า มีกลิ่นเหม็นมาก โรคเท้าเหม็นนี้ไม่ใช่โรคใหม่ พบมานาน ๙๐ ปีแล้ว พบบ่อยที่สุดในผู้ที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำ เมื่อผิวหนังชั้นขี้ไคลของฝ่าเท้าเปียกชื้นจากเหงื่อหรือน้ำที่เจิ่งนองจะทำให้ผิวหนังยุ่ยและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย

โรคเท้าเหม็นพบมากในประเทศเขตร้อน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่พบในผู้ชายได้บ่อยกว่า เพราะมีเหงื่อออกที่ฝ่าเท้ามากกว่า และผู้ชายมักสวมถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา  

อาการสำคัญของโรคนี้ที่พบบ่อยสุดถึงร้อยละ ๙๐ คือ เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก นับเป็นการทำลายบุคลิกภาพ

อาการรองลงมาที่พบร้อยละ ๗๐ คือ เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยคือร้อยละ ๘

ลักษณะของโรคเท้าเหม็นจะเห็นเป็นหลุมเล็กๆ ที่ฝ่าเท้า บางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ ดูคล้ายแผนที่ มักพบหลุมเหล่านี้ตามฝ่าเท้าที่รับน้ำหนัก และง่ามนิ้วเท้า ถ้าขูดผิวหนังและย้อมเชื้อจะพบเชื้อแบคทีเรียติดสีน้ำเงิน  

โรคนี้ดูจากลักษณะภายนอกก็บอกได้ การป้องกันต้องระวังให้เท้าแห้งอยู่เสมอ อาจใช้แป้งฝุ่นฆ่าเชื้อโรยบ้าง การรักษาพบว่ายารักษาโรคสิวที่ใช้กันบ่อยคือ เบนซอยล์ เพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) ก็นำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ผลดี รวมถึงยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อราชนิดทาก็รักษาโรคเท้าเหม็นได้

นอกจากนั้น ยังอาจพบแผลพุพองเป็นตุ่มหนอง (impetigo) ฝี และโรคฉี่หนู (leptospirosis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากฉี่หนู ทำให้เป็นไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด

ในช่วงน้ำท่วมน้ำขังยังอาจพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส เช่น อีสุกอีใส หัด หัดเยอรมัน ส่วนที่แสดงอาการที่ผิวหนังโดยตรง เช่น หูด หูดข้าวสุก และโรคเริม (herpes simplex) ซึ่งเป็นผื่นแดง มีหย่อมของตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง มีอาการเจ็บร่วมด้วย อาจมีไข้ และมีต่อมน้ำเหลืองโต พบบ่อยที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และผิวหนังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เริมนั้นส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรง อาจเพียงทำให้ครั่นเนื้อครั่นตัว เสียบุคลิกภาพ แต่อาจมีบางรายที่เชื้อลุกลามเข้าสู่สมองทำให้เป็นโรคสมองอักเสบ

การที่ต้องอพยพมาอยู่ร่วมกันในช่วงที่น้ำท่วมสูง ยังอาจทำให้เกิดการระบาดของหิดและเหา ยังพบโรคพยาธิปากขอ เป็นการติดเชื้อพยาธิจากการเดินผ่านน้ำท่วมขัง พยาธินี้จะดูดเลือด และอาจทำให้เกิดโรคเลือดจางได้ บางครั้งเดินย่ำน้ำอาจเกิดบาดแผลสกปรกและติดเชื้อแบคทีเรียได้ ที่พบบ่อยและอาจมีอันตรายถึงชีวิตคือโรคบาดทะยัก (tetanus) หากเกิดบาดแผลอาจต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้

บางพื้นที่มีปัญหาแมลง สัตว์ กัด ต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

การป้องกันและรักษา “น้ำกัดเท้าและเชื้อราที่เท้า”
ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการป้องกันโรคน้ำกัดเท้าและโรคเชื้อราที่เท้าคือ ถ้าเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่ไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้รองเท้าบู้ตชนิดยางกันน้ำ
ก่อนย่ำน้ำให้ใช้ขี้ผึ้งวาสลิน (vaseline) ซึ่งเป็นขี้ผึ้งสีขาวขุ่นๆ เป็นมัน ทาที่เท้า และตามง่ามนิ้วเท้า จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวเปียกน้ำ ลดน้ำกัดเท้าได้ หากไปย่ำน้ำสกปรกมาควรล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำเปล่าจนสะอาด ซับเท้าให้แห้ง อาจใช้แป้งฝุ่นสำหรับโรยตัว โรยที่เท้าและซอกเท้า หากมีบาดแผลให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์เบตาดีน

ส่วนการป้องกันโรคเชื้อราที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสังคังนั้น ไม่ควรสวมใส่กางเกงหนา บางคนชอบนุ่งกางเกงยีนส์ ผ้ายีนส์จะแห้งยากมาก หลังย่ำน้ำถ้ามีผิวหนังเปื่อย โดยเฉพาะที่ง่ามนิ้วเท้า อาจเป็นเชื้อราที่เท้า ให้ใช้ขี้ผึ้งขจัดเชื้อรา เช่นขี้ผึ้งวิตฟิลด์ (Whitfield's ointment) หรือยาทาฆ่าเชื้อราตัวอื่น เช่น คีโตโคนาโซล (ketoconazole) ไมโคนาโซลครีม (miconazole) โคลไตรมาโซล (clotrimazole) และทอลนาฟเทต (tolnaftate)

การใช้ยาทาฆ่าเชื้อราอาจต้องทาต่อเนื่องนานเป็นเดือน  แต่ก็ควรระวังเพราะยาทาบางตัว เช่น ขี้ผึ้งวิตฟิลด์มีฤทธิ์ทำให้ผิวลอกมาก หากนำมาใช้ขณะน้ำกัดเท้าอาจยิ่งก่อให้เกิดการระคายเคือง เจ็บแสบ และผิวถลอกมากขึ้น หากใช้ยาทาฆ่าเชื้อราไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพราะอาจต้องกินยาแทนซึ่งยาบางตัวเป็นอันตรายต่อตับ

กรณีที่แผลน้ำกัดเท้าลอกมาก มีการอักเสบ มีน้ำเหลืองไหล จะต้องดูแลเท้าดังนี้
อาจต้องล้างแผลหรือแช่แผลไปพลางๆ ก่อน โดยใช้วิธีแช่เท้าด้วยน้ำด่างทับทิม นั่นคือใช้เกล็ดด่างทับทิม ๒-๓ เกล็ดละลายน้ำให้ได้สีชมพูจางๆ แช่อย่างน้อย ๑๕ นาที
ใส่แผลด้วยยาโพวิโดนไอโอดีน (povidone iodine) ๘ หยด ผสมน้ำประมาณ ๑ ลิตรคือ ๑,๐๐๐ มิลลิลิตร

การประคบเท้าที่มีแผล ด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำด่างทับทิมหรือน้ำเกลืออ่อนๆ โปะทิ้งไว้ตั้งแต่ผ้ายังเปียก ทิ้งไว้นานจนผ้าหมาดหรือใกล้จะแห้งจึงเอาผ้าออก ทำเช่นนี้ซ้ำบ่อยๆ จะช่วยลดอาการอักเสบน้ำเหลืองไหลลงได้  

การทำน้ำเกลือง่ายๆ คือใช้เกลือครึ่งช้อนชาผสมในน้ำอุ่น ๑ ถ้วย (ใส่เกลือ ๒.๕ กรัมลงในน้ำอุ่น ๑/๔ ลิตรหรือ ๒๕๐ มิลลิลิตร) แล้วคนให้เกลือละลาย

น้ำกัดเท้ามากขนาดไหน จึงควรไปพบแพทย์
ถ้าแผลน้ำกัดเท้ากำเริบมาก มีอาการอักเสบ ปวด กดเจ็บมาก บวม แดงร้อน มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลมาก หรือมีผิวแดงลุกลามแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ไข่ดันบวมมาก มีไข้สูง หรือผิวกลายเป็นเนื้อตายสีดำ หรือกดแล้วได้ยินเสียงกรอบแกรบ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งบางชนิดอาจรุนแรงถึงชีวิต

กรณีผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพราะอาจต้องได้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมมากิน หรือรายที่เป็นมากอาจได้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือต้องให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดเนื้อตายออกโดยเร็ว
 

ข้อมูลสื่อ

392-044
นิตยสารหมอชาวบ้าน 392
ธันวาคม 2554
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร