• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดีท็อกซ์-สวนล้างลำไส้

ดีท็อกซ์-สวนล้างลำไส้


หลายปีที่ผ่านมา การดูแลสุขภาพของคนเรามีวิธีการที่หลากหลาย รวมถึงการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อชักจูง โน้มน้าว กระตุ้นจิตใจของผู้ที่เจ็บป่วยให้คล้อยตามและทดลองวิธีการรักษาโรคด้วยการแพทย์ทางเลือก (complementary and alternative medicine) การแพทย์ทางเลือกที่คุ้นหูคุ้นตากันมาก เช่น ธรรมชาติบำบัด การแพทย์แบบองค์รวม ดีท็อกซ์ลำไส้ เป็นต้น การดีท็อกซ์ลำไส้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วประมาณ ๑๐ ปีมานี้ จากปากต่อปากของคนที่เคารพนับถือ ผู้มีชื่อเสียงในสังคม ทัวร์ล้างพิษหรือแม้กระทั่งการโฆษณาให้ไปใช้บริการดีท็อกซ์ของสถานพยาบาลเอกชนที่กระตุ้น ตอกย้ำสรรพคุณครอบจักรวาล
      
ดีท็อกซ์ แปลว่าอะไร
ดีท็อกซ์ (detox) เป็นคำเรียกทับศัพท์สั้นๆ มาจากคำว่า detoxification หมายความถึง การกำจัดพิษออกจากร่างกาย De มาจาก delete คือ การลบ ล้าง นำออก Tox มาจาก toxin คือ พิษ ในความเข้าใจของคนทั่วไป การทำดีท็อกซ์ คือ การสวนล้างลำไส้

คนทั่วไปเข้าใจ "ดีท็อกซ์"  อย่างไร
ดีท็อกซ์ตามความเข้าใจของคนทั่วไปคือการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายด้วยวิธีการสวนล้างลำไส้ แต่ทางการแพทย์ไม่เชื่อว่าการสวนล้างลำไส้จะสามารถขับล้างสารพิษออกจากร่างกายได้ และในลำไส้ของคนปกติทั่วไปไม่น่าจะมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายที่จะต้องขับออก ยกเว้นในคนที่เป็นโรคบางชนิด เช่น คนไข้ตับวาย คนไข้ที่เป็นภาวะมีเชื้อแบคทีเรียในลำไส้มากปกติ เป็นต้น

การทำดีท็อกซ์ มีวิธีอื่นๆ หรือไม่
การทำดีท็อกซ์ โดยแพทย์ทางเลือกหรือชาวบ้านสามารถทำได้หลายวิธี นอกเหนือจากการทำสวนล้างลำไส้ ยังมีวิธีอื่นๆ ที่แพทย์ทางเลือกหรือชาวบ้านเชื่อว่าสามารถจะกำจัดพิษออกจากร่างกาย คือ

๑. การสวนลำไส้ (สวนทวาร)

๒. การอบกระโจม หรืออบเซาน่า

๓. การออกกำลังกาย และการนวด

๔. การใช้ยาสมุนไพร

๕. การถ่ายเลือด

การสวนล้างลำไส้ มีกี่วิธี
การสวนล้างลำไส้ที่มีการทำโดยแพทย์ทางเลือกและชาวบ้านมี ๒ วิธี ได้แก่

๑. การสวนล้างด้วยน้ำ หรือน้ำอุ่นธรรมดา

๒. การสวนล้างด้วยน้ำร่วมกับสารอื่นที่เชื่อว่าสามารถดูดซับสารพิษ หรือเร่งการขับถ่ายสารพิษจากลำไส้ เช่น กาแฟ เหล้า เบียร์ น้ำผึ้ง หรือส่วนประกอบของบุหรี่ เป็นต้น

การสวนล้างลำไส้ควรทำภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์หรือพยาบาลที่มีความรู้เท่านั้น เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ก็มีเครื่องมือที่จำหน่ายในท้องตลาดที่สอนให้ประชาชนสวนล้างลำไส้ด้วยตนเองซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ ในการสวนล้างลำไส้อาจมีการสวนด้วยปริมาณน้ำที่แตกต่างกันไป บางคนอาจสวนด้วยน้ำครั้งละ ๑-๒ ลิตร ในขณะที่บางคนอาจสวนล้างด้วยน้ำมากถึง ๕-๒๐ ลิตรต่อครั้ง บางคนใช้น้ำธรรมดา ในขณะที่บางคนใช้น้ำอุ่นหรือร้อน ซึ่งบางครั้งอาจจะร้อนเกินไปจนทำให้ลำไส้เน่าได้
       
ใครบ้างที่ควรทำการสวนล้างลำไส้
ความจริงแล้วการสวนล้างลำไส้ควรจะทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งได้แก่ ในรายที่ท้องผูกเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ในรายที่เป็นโรคตับวาย หรือตับไม่ทำงาน (Hepatic encephalopathy) ในรายที่มีภาวะเชื้อแบคทีเรียในลำไส้มากผิดปกติ (Bacterial overgrowth syndrome) ในรายที่ต้องเตรียมลำไส้ก่อนทำการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ หรือก่อนผ่าตัด เป็นต้น ในคนปกติทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องทำการสวนล้างสำไส้ หากต้องการทำก็ควรทำเป็นครั้งคราวหรือทำเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่ควรทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน

คนปกติจำเป็นต้องสวนล้างลำไส้หรือไม่
คนปกติทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องทำการสวนล้างลำไส้เป็นประจำ ในรายที่มีอาการท้องผูกมากๆ หรือไม่ถ่ายติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน อาจจะทำการสวนล้างลำไส้ได้บ้าง เป็นครั้งคราว หรือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ กรณีของผู้สูงอายุที่มีปัญหาท้องผูกเป็นประจำ อาจจะทำเป็นครั้งคราวแต่ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจากการสวนล้างลำไส้ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
      
การโฆษณาสวนล้างลำไส้ จริงเท็จอย่างไร
การโฆษณาว่าเมื่อสวนล้างลำไส้แล้ว สามารถรักษาโรคได้สารพัดนั้น เป็นการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง เพราะการสวนล้างทำให้เกิด "ความรู้สึกดี" หรือ "สบายตัว" หายแน่นท้องเท่านั้น แต่ไม่ได้รักษาโรคใดๆ ตามที่โฆษณาไว้ เช่น โรคปวดศีรษะ โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันสูงหัวใจ โรคข้อรูมาตอยด์ เกาต์ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบ นอนไม่หลับ เป็นต้น โรคที่ทางการแพทย์ให้ทำการสวนล้างลำไส้รักษาได้แก่ โรคท้องผูก ตับวาย ลำไส้ไม่ทำงาน เป็นต้น ดังนั้นจึงควรใช้วิจารณญาณพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะเชื่อคำโฆษณา และจะต้องทบทวนวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพของตนเองว่าที่ผ่านมาดำเนินชีวิตอย่างไร
      
อายุเท่าไรไม่ควรสวนล้างลำไส้
ความจริงไม่มีอายุใดเป็นข้อห้ามในการสวนล้างลำไส้ ข้อห้ามในการสวนล้างลำไส้เป็นภาวะหรือโรคที่อาจมีอันตรายมากกว่า ได้แก่ ภาวะลำไส้อุดตัน โรคที่มีการอักเสบของลำไส้ โรคที่มีการติดเชื้อในช่องท้อง หรือโรคที่สงสัยว่าจะมีการแตกหรือทะลุของลำไส้ เป็นต้น การสวนล้างลำไส้ควรทำภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น ไม่ควรทำเองโดยไม่จำเป็น ร่างกายของคนเรามีระบบล้างพิษด้วยตัวเองอยู่แล้ว การขับถ่ายของเสียทางปัสสาวะ ระบบรูขุมขน น้ำเหลือง แต่ถ้าวิถีชีวิตไม่สมดุล ก็ควรจะปรับให้สมดุลและใช้วิธีการล้างพิษแบบธรรมชาติ  นั่นคือ กินอาหารที่เส้นใยมากขึ้นและกินให้ครบ ๕ หมู่

กระทรวงสาธารณสุข เตือนอย่าสวนทวารหนักล้างพิษ
การสวนทวารหนักด้วยน้ำเกลือ กาแฟ หวังล้างพิษออกจากร่างกายทำให้ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ โรคไต ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีคนนิยมสวนทวารหนักโดยใช้น้ำ น้ำเกลือ น้ำกาแฟ หวังผลเพื่อรักษาโรคและล้างพิษออกจากร่างกาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีข้อควรระวัง โดยเฉพาะคนที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ หากใส่น้ำหรือของเหลวที่มีความดันเข้าไปทางทวารหนักจะเกิดความระคายเคืองผิวลำไส้ที่บางอยู่แล้ว อาจโป่งพองถึงขั้นแตกได้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคไต กรณีใช้น้ำเกลือ กาแฟสวนทวาร การรับน้ำหรือเกลือมากเกินไปมีผลต่ออวัยวะ ผิวสัมผัสของลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ลำไส้ใหญ่มีหน้าที่ดูดซึมน้ำเข้าสู่ร่างกาย เมื่อสวนน้ำเกลือ กาเฟอีน และผ่านการดูดซึมของลำไส้ใหญ่บางคนที่ไวต่อเกลือ และกาเฟอีนอาจเป็นอันตรายได้

ตามหลักทางการแพทย์การสวนทวารหนักก่อนอื่นแพทย์ต้องตรวจลำไส้ว่า มีความผิดปกติหรือไม่ แพทย์จึงสวนทวารหนักเพื่อขับถ่ายสิ่งที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ออก นอกจากนั้นยังใช้การสวนทวารหนักเพื่อรักษาภาวะลำไส้กลืนกันหรือซ้อนทับสวมกัน ค่อยๆ ดึงลำไส้ให้อยู่ในตำแหน่งปกติ รวมทั้งการสวนทวารหนักในกรณีที่ท้องผูก
จำเป็นต้องสวนทวารหนักหรือไม่ ที่สำคัญคนที่สวนต้องมีความรู้ความชำนาญ ไม่ใช่ใครก็สวนได้ เพราะลำไส้เหมือนลูกโป่ง หากเป่าลมเข้าไปมากลูกโป่งอาจแตกได้ เพราะน้ำมีแรงดัน หากน้ำที่ไหลเข้ามีแรงดันสูงก็เป็นอันตรายได้ ยกตัวอย่างมีผู้สวนทวารหนักด้วยกาแฟ เผชิญน้ำร้อนเกินไปทำให้ลำไส้พองอักเสบ จนต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน สำหรับคนที่เป็นไส้ติ่ง ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน พังผืดรัดลำไส้ มะเร็งลำไส้ ไม่ควรสวนทวารหนัก เพราะทำให้ลำไส้ระบมจากอุณหภูมิของน้ำที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ลำไส้ระคายเนื่องจากน้ำยาหรือสารเคมีที่ใช้สวน ไม่รู้ความเข้มข้น ไม่รู้ว่าจะสวนถี่แค่ไหน ลำไส้ระเบิดจากแรงดันน้ำมากจนทำให้ลำไส้ขยายตัว สิ่งเหล่านี้เป็นข้อควรระวังก่อนจะสวนทวารหนักสวนล้างลำไส้ ถ้าต้องการให้ร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องสวนทวารหนักล้างพิษ ควรกินอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ งดอาหารไขมันสูง หมั่นออกกำลังกาย ดื่มน้ำสะอาด เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ทุกคนควรใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องอืด แน่นท้อง แนะนำให้พบแพทย์ทางเดินอาหารโดยตรง 

การสวนล้างลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันประชาชนและสังคมมีความกระตือรือร้นและสนใจเรื่องการสวนล้างลำไส้ใหญ่เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันมีการโฆษณาและชักชวนให้มีการทำการสวนล้างลำไส้ใหญ่กันอย่างแพร่หลายในสื่อต่างๆ มีการกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์มากมายหลายประการ อีกทั้งมีความหลากหลายของกรรมวิธีในการสวนล้างที่แตกต่างกันในแต่ละสถาบันหรือสถานบริการ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าคำโฆษณากล่าวอ้างเหล่านั้นเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด มีคุณประโยชน์หรือโทษและอันตรายหรือไม่ หากต้องการจะทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาทางการแพทย์ควรจะต้องทำอย่างไร

สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงขอชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ และทราบถึงคุณประโยชน์และโทษที่แท้จริงตามหลักวิชา ทางการแพทย์ของการสวนล้างลำไส้ใหญ่ที่ถูกต้อง โดยมีประเด็นที่ต้องการชี้แจงดังต่อไปนี้

๑. ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน การสวนล้างลำไส้ใหญ่มีข้อบ่งชี้ในโรคหรือสภาวะต่อไปนี้ คือ

 ก. การเตรียมลำไส้ใหญ่เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษา เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การเอกซเรย์ดูลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้ง การเตรียมลำไส้ใหญ่เพื่อการผ่าตัดลำไส้
 ข. การบรรเทาอาการท้องผูกที่ไม่ตอบสนองต่อยาระบายหรือยาถ่ายตามที่แพทย์สั่ง
 ค. การรักษาภาวะตับวายเรื้อรังหรือเฉียบพลัน

๒. ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่หนักแน่น หรือเชื่อถือได้เพียงพอที่จะยืนยันว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่ สามารถรักษาโรคหรือสภาวะต่อไปนี้ เช่น โรคอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคปวดศีรษะ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันเลือดสูง โรคมะเร็ง โรคปวดข้อ โรครูมาตอยด์ โรคหอบหืด โรคปวดหลัง โรคมีกลิ่นในปากหรือในลมหายใจ โรคท้องอืด อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย โรคลำไส้แปรปรวน โรคลิ้นเป็นฝ้า โรคพยาธิลำไส้ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง โรคตับอักเสบจากไขมันแทรกในตับ โรคไข้เรื้อรัง โรคสารพิษจากนิโคติน นอนไม่หลับ โรคทางจิต ขาดความตั้งใจ โรคผิวหนัง เป็นต้น

๓. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันแต่ละครั้งจะใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือประมาณ ๑-๒ ลิตรเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้น้ำหรือน้ำเกลือปริมาณมากๆ เพราะการใช้ปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตราย เช่น ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคไตบางราย

๔. การสวนล้างลำไส้ทางการแพทย์จะกระทำเป็นครั้งคราว เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่มีการแนะนำให้ทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหรือหลายปี

๕. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ทางการแพทย์ที่มีข้อบ่งชี้ ที่ชัดเจนและกระทำอย่างถูกต้องและระมัดระวังเป็นวิธีที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสวนล้างลำไส้ใหญ่ได้ เช่น ท้องเดิน ลำไส้ใหญ่ทะลุ  ระดับเกลือแร่ในร่างกายสูงหรือต่ำผิดปกติ ภาวะน้ำเกินในร่างกาย ภาวะซึม หัวใจล้มเหลว หรือน้ำท่วมปอด นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตหลายรายจากการสวนล้างลำไส้ด้วย

๖. การใช้สารเคมีหรือสารอื่นๆ เช่น น้ำร้อน น้ำผึ้ง น้ำยา สุรา เบียร์ กาแฟ บุหรี่ เป็นต้น ในการสวนล้างลำไส้ใหญ่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเกิดลำไส้ใหญ่อักเสบได้ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่ด้วยสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ดีกว่าการสวนด้วยน้ำหรือน้ำเกลือ และยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ว่า การสวนล้างลำไส้ใหญ่ด้วยกาแฟในคนมีประโยชน์ในการทำลายสารพิษ

๗. การสวนล้างลำไส้ใหญ่อาจทำให้เกิดความรู้สึกสบายขึ้นได้ เป็นเวลาเพียงสั้นๆ ชั่วคราว แต่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดๆ ว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่จะสามารถรักษาโรคให้หายได้

๘. การสวนล้างลำไส้ควรทำภายใต้การกำกับของแพทย์ และ/หรือพยาบาลเท่านั้น ไม่ควรทำเองหรือให้คนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ทำให้

สุดท้ายนี้ท่านที่ต้องการสวนล้างลำไส้ใหญ่จะต้องใช้วิจารณญาณด้วยตนเอง โดยคำนึงถึงประโยชน์และโทษที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ชมรมโรคลำไส้ใหญ่ลำไส้เล็ก ชมรม motility และฝ่ายกิจกรรมสังคมของสมาคมระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลสื่อ

326-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 326
มิถุนายน 2549
บทความพิเศษ
รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์