• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส

เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด บางชนิดสามารถติดเชื้อได้ง่ายและระบาดรวดเร็ว เรียกว่า “โรคตาแดงระบาด”
โรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน ๑-๓ สัปดาห์
ส่วนน้อยที่อาจเป็นรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน หรือจำเป็นต้องแยกจากสาเหตุอื่น

  • ชื่อภาษาไทย
    เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส โรคตาแดงระบาด
  • ชื่อภาษาอังกฤษ
    Viral conjunctivitis, Epidemic Keratoconjunctivitis/EKC
  • สาเหตุ
    เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มไวรัสอะดิโน (adenovirus) และกลุ่มไวรัสพิคอร์นา (picornavirus) ซึ่งแต่ละกลุ่มประกอบด้วยไวรัสชนิดย่อยๆ อีกหลายชนิด
    โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น แว่นตา แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หมอน สบู่ ขันน้ำ ลูกบิดประตู ประตูตู้เย็น โทรศัพท์ เป็นต้น) ที่แปดเปื้อนเชื้อ (โดยที่ผู้ป่วยใช้มือขยี้ตาข้างที่อักเสบ แล้วไปสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้เหล่านั้น) หรืออาจติดต่อจากการเล่นน้ำในสระที่มีเชื้อปนเปื้อนจากผู้ป่วยที่ลงเล่นน้ำ
    ในรายที่มีอาการเจ็บคอร่วมด้วย ก็อาจติดต่อโดยการที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดหน้า หรือสัมผัสถูกน้ำลายหรือเสมหะในช่องปากของผู้ป่วย
    ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส ส่วนใหญ่ ๕-๑๒ วัน
    ไวรัสที่มีชื่อว่า แอนเทอโรชนิด ๗๐ (enterovirus type 70) และ ไวรัสค็อกแซกกีเอ ชนิด ๒๔ (coxsackie virus A type 24) ที่ทำให้เยื่อตาขาวอักเสบร่วมกับเลือดออกใต้ตาขาว มีระยะฟักตัว ๑-๒ วัน
  • อาการ
    มีอาการตาแดง เคืองตาคล้ายผงเข้าตา กลัวแสง น้ำตาไหล มีขี้ตาเล็กน้อยลักษณะสีขาว อาจมีอาการหนังตาบวม ลืมตาไม่ค่อยขึ้น
    บางรายอาจมีอาการตาแดงเป็นปื้น (จากการที่มีเลือดออกที่ใต้ตาขาว)
    บางรายอาจมีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยร่วมด้วยคล้ายไข้หวัด
    อาการตาแดง ตาอักเสบจะเริ่มเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามมาอีกข้างหนึ่งภายใน ๒-๓ วัน
    ส่วนมากอาการจะทุเลาในไม่กี่วัน และจะหายได้เองภายใน ๑-๓ สัปดาห์
  • การแยกโรค
    ๑.อาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
    • สิ่งแปลกปลอมเข้าตา ทำให้มีอาการเคืองตา ตาแดงขึ้นทันที ภายหลังมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น ผงฝุ่น เศษเหล็ก แมลง สารระคายเคือง เมื่อล้างหรือเขี่ยออกอาการก็จะ ทุเลาได้ภายใน ๑-๒ วัน
    • เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง หนังตาบวม มีขี้ตาแฉะ ลักษณะสีเหลืองหรือเขียว มักเป็นที่ตาทั้ง ๒ ข้าง โดยเป็นข้างหนึ่งก่อนแล้วค่อยลามมาอีกข้างหนึ่ง
    • เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันตามาก มักจะคันตรงหัวตา ต้องขยี้ ยิ่งขยี้ก็ยิ่งคัน ถ้าขยี้มากๆ หนังตาจะบวมและช้ำ ผู้ป่วยมักมีน้ำตาไหล ตาขาวมีสีแดงเรื่อๆ มักมีประวัติเป็นคนที่แพ้อะไรง่าย หรืออาจมีโรคภูมิแพ้ (เช่น ลมพิษ หวัด ภูมิแพ้) ร่วมด้วย
    • เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัสเริมหรืองูสวัด ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหลแบบเดียวกับเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส แต่มักมีประวัติว่ามีผื่นเริมหรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณใบหน้าหรือบริเวณใกล้ตาก่อนจะมีอาการตาอักเสบ
    • แผลกระจกตา มักมีประวัติถูกใบหญ้าหรือพืชผักบาดตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือมีการใช้เลนส์สัมผัส (ไม่ถูกวิธี) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหลต้อหินเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาข้างหนึ่งอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว ซึ่งเกิดขึ้นเฉียบพลัน จะพบว่า ตาขาวข้างนั้น มีลักษณะแดงเรื่อๆ กระจกตาบวมและขุ่น
    ๒. อาการตาขาวแดงเป็นปื้น (แบบรอยห้อเลือด) อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ (เช่น ถูกแรงกระแทก ถูกต่อย) หรือจากการไอแรงๆ ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ใต้ตาขาวแตกเป็นรอยห้อเลือด ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปภายใน ๑-๒ สัปดาห์

 

  • การวินิจฉัย
    แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล (โดยไม่มีอาการคันตา ปวดตามาก ตาพร่ามัว หรือมีขี้ตาลักษณะสีเหลืองหรือเขียว) และมักจะเป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วค่อยลามมาอีกข้างหนึ่ง และบางครั้งพบว่ามีการระบาด
    หากไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น นำสิ่งคัดหลั่งในตาไปตรวจหาเชื้อ
  • การดูแลตนเอง
    เมื่อมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล ควรปฏิบัติดังนี้
    • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก
    • ใช้ยาหยอดตาลดอาการอักเสบ มีชื่อการค้า เช่น ฮิสตาออฟ (Histaoph) สเปอร์ซาลเลิร์ก (spersallerge) หยอดตาทุก ๒-๔ ชั่วโมง
    • ถ้ามีไข้ให้กินยาพาราเซตามอล
    • ถ้าสงสัยหรือแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส ผู้ป่วยควรหยุดเรียนหรือหยุดงานนาน ๒ สัปดาห์ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำกับสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ชโลมมือ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในสระ และห้ามใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายให้ผู้อื่น
    ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการปวดตามาก ตาพร่ามัว ขี้ตาแฉะ ขี้ตามีลักษณะเหลืองหรือเขียว มีผื่นเริมหรืองูสวัดที่บริเวณใกล้ตา สงสัยมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา มีอาการแขนขาอ่อนแรงตามมา หรืออาการตาอักเสบ ไม่ทุเลาภายใน ๔-๗ วัน
  • การรักษา
    เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไข้ (ถ้ามีไข้) และให้ยาหยอดตา ซึ่งอาจให้ยาหยอดตาชนิดที่เข้ายาปฏิชีวนะหยอดทุก ๒-๔ ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
    ถ้าตรวจพบว่า มีการอักเสบของเยื่อตาขาวอย่างรุนแรง หรือมีการอักเสบของกระจกตาจนทำให้สายตามัวลงอย่างมาก แพทย์จะพิจารณาให้ยาหยอดตาสตีรอยด์ ซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
  • ภาวะแทรกซ้อน
    พบได้น้อย ที่อาจพบได้ เช่น มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือสายตาพร่ามัว เนื่องจากกระจกตาอักเสบ (ซึ่งอาจนานเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นแรมปี)
    บางรายอาจมีรอยแผลเป็นที่เยื่อตาขาว หรือมีการติดกันของเยื่อตาขาวกับลูกตา
    ในรายที่เกิดจากเชื้อไวรัสแอนเทอโรชนิด ๗๐ อาจทำให้เกิดไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน มีอาการแขนขาอ่อนแรงได้ ซึ่งพบได้น้อยมาก มักพบในคนอายุมากกว่า ๒๐ ปี หลังตาอักเสบ ๕ วัน ถึง ๖ สัปดาห์
  • การดำเนินโรค
    ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน ๑-๓ สัปดาห์ ส่วนน้อยที่อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว
  • การป้องกัน
    ระหว่างที่มีการระบาด ควรหาทางป้องกัน โดยแนะนำให้คนทั่วไประวังการสัมผัสกับผู้ป่วย ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ ห้ามใช้มือขยี้ตา อย่าคลุกคลีหรือนอนร่วมกับคนที่เป็นโรคนี้ ห้ามใช้ของใช้ (เช่น แว่นตา ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หมอน แก้วน้ำ จาน ชาม สบู่ ขันน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในสระ
  • ความชุก
    โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
    อาจพบระบาดในบ้าน ตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน ค่ายทหาร ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม

 

ข้อมูลสื่อ

393-035
นิตยสารหมอชาวบ้าน 393
มกราคม 2555
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ