• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์พาณิชย์

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๙๐

ผู้ป่วยรายนี้เป็นชาวออสเตรเลีย ที่อยู่ในประเทศไทยมานานจนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณีและอุปนิสัยของคนไทยเป็นอย่างดี จนสามารถเป็นพิธีกรทางวิทยุโทรทัศน์ เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ และเป็นนักเขียน ที่คนไทยทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี

ผู้ป่วยรายนี้ คือ คุณแอนดรูว์ บิกส์ (Andrew Biggs) ซึ่งเขียนเล่าเรื่องการป่วยของเขาในสหรัฐอเมริกาขณะที่เขาไปเที่ยว (พักร้อน) หรือทำงานอดิเรกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔

คุณบิกส์เขียนเรื่องการป่วยของเขาไว้ใน Brunch Magazine ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งแนบมากับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ประจำวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ โดยมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

“สิ่งที่ผมกลัวที่สุดในชีวิต คือ การเจ็บป่วยในสหรัฐอเมริกา แล้วผมก็เจอเข้าจนได้ ทั้งที่ผมเป็นคนแข็งแรง และไม่ต้องใช้ยาอะไรเป็นประจำเลย

หลังจากที่ผมเที่ยวและดื่มจนเมาเป็นครั้งคราวกับเพื่อนในแคลิฟอร์เนีย เช้าวันจันทร์วันหนึ่ง ผมเริ่มรู้สึกเจ็บคอ ผมจึงกินยาแก้อักเสบ/แก้ปวด Ibuprofen ที่ซื้อไปจากเมืองไทย แต่มันไม่ดีขึ้น จนผมกลืนอาหารไม่ค่อยได้เพราะเจ็บคอหอยมาก

ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีร้านหมอ (คลินิก) ที่จะเดินเข้าไปหาหมอได้อย่างง่ายดายผิดกับในประเทศไทย ผมจึงต้องไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งโดยไม่ได้นัดไว้ก่อน

เมื่อผมขับรถเข้าไป ผมเริ่มรู้สึกกลัว เพราะรู้สึกว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นใหญ่และหรูหรา ผมไม่สามารถขับรถไปหาที่จอดในโรงพยาบาลเองได้ เพราะโรงพยาบาลมีคนที่จะมาขับรถไปหาที่จอดให้ เรียกว่า valet parking หรือคนรับใช้ในการจอดรถ (ที่จริงในโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยก็มีบริการนี้ แต่ก็ไม่ได้บังคับ คือจะขับไปหาที่จอดเองก็ได้) ซึ่งในสหรัฐฯ จะคิดค่าบริการจอดรถให้นี้ตั้งแต่ ๘-๒๐ ดอลลาร์ (๒๕๐-๖๐๐ บาท) แล้วเวลาเขานำรถมาให้ท่านตอนท่านจะขับกลับออกไปจากโรงพยาบาล ท่านยังต้องให้สินน้ำใจ (tip) แก่คนขับเป็นค่าบริการเพิ่มเติมจากค่าจอดรถ ๒.๕ ดอลลาร์ ทุกๆ ๑๕ นาที อีกด้วยสำหรับศูนย์แพทย์นี้

ผมจึงรีบวิ่งเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจ แต่ต้องไปพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับก่อน ผมบอกเธอว่า “ขอความกรุณาให้ผมได้ตรวจเร็วหน่อย เพราะผมมีธุระต้องรีบไป” (จะได้ไม่เสียค่าจอดรถมาก)

เธอส่งกระดาษให้ผมกรอกประวัติต่างๆ รวมทั้งประวัติอาการป่วย ๒ หน้ากระดาษ แล้วยื่นกลับให้เธอ เธอจึงถามว่า “ผมมีประกันสุขภาพกับบริษัทใด” ผมตอบว่า “ผมจ่ายเงินสด”

เธอมองหน้าผมเหมือนกับว่าผมเป็นโรคเรื้อนระยะสุดท้าย แล้วถามว่า “ผมมีบัตรเครดิต (credit card) ไหม” ซึ่งผมมี แต่เธอยังขอรายละเอียดอื่นๆ เช่น ญาติสายตรงเพื่อการติดต่อในกรณีที่ผมเจ็บหนักหรือเสียชีวิต การเซ็นใบอนุญาตให้มีการตรวจรักษาได้โดยผมจะไม่ฟ้องโรงพยาบาลถ้าการตรวจรักษาเกิดผิดพลาด เป็นต้น

กว่าผมจะได้พบหมอ ค่าจอดรถของผมก็ตกประมาณ ๗.๕ ดอลลาร์แล้ว และผมก็ตกใจมากขึ้น เพราะคนที่ผมพบไม่ใช่หมอ เธอแนะนำตนเองว่า เธอเป็นเวชกรฉุกเฉินระดับสูง (paramedic) ผมอยากจะตะโกนดังๆ ว่า ผมต้องการพบหมอ แต่ตะโกนไม่ออกเพราะเจ็บคออยู่ จึงได้แต่พูดกับเธอเบาๆ ว่า ผมเจ็บคอ สงสัยจะเป็นสเตร็ป (streptococcal sorethroat, strep throat) เพราะต่อมน้ำเหลืองใต้คางด้านขวาโตด้วย

เธอบอกให้ผมอ้าปากและแลบลิ้น แล้วออกเสียง “อา” แล้วเธอก็พยักหน้า บอกว่าน่าจะใช่สเตร็ป แล้วก็เขียนใบสั่งยา Augmentin ให้ผม แล้วโบกมือน้อยๆ ของเธอในขณะที่พูดว่ากู๊ดบาย (goodbye) เพื่อให้ผมกลับได้แล้ว ผมต้องเสียค่าตรวจในเวลาไม่กี่นาทีนี้ถึง ๑๓๐ ดอลลาร์ (ประมาณ ๔,๐๐๐ บาท) และผู้ตรวจผมก็ไม่ใช่หมอด้วย

ผมเสียเวลาไปกับพิธีการต่างๆ ไปเกือบชั่วโมง แต่พบคนที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นหมอตรวจผมไม่กี่นาที แล้วก็วินิจฉัยโรคของผมเหมือนกับที่ผมบอกเธอไป ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้องไหม

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไปซื้อยา คนขายยาถามผมว่า จะเอายาตามชื่อการค้า Augmentin หรือจะเอาตามชื่อยาจริง amoxicillin + potassium clavulanate (เพราะยาตามชื่อการค้าดังๆ จะมีราคาแพงกว่ายาตามชื่อยาจริงหลายเท่าตัว)

หลังจากผมเสียเงินค่าตรวจไปกว่า ๔,๐๐๐ บาท ผมจึงตอบว่า ขอรับยาตามชื่อยาจริงก็แล้วกัน คนขายยาจึงบอกว่า “ค่ายา ๙๕ ดอลลาร์” ผมตกใจและบอกว่า “ผมต้องการยาตามชื่อยาจริงนะ ไม่ใช่ชื่อการค้า Augmentin นะ” เขาบอกว่า “ถูกต้องแล้ว ๙๕ ดอลลาร์ คุณประกันสุขภาพไว้กับใคร” ผมตอบว่า “ผมไม่มีประกัน” เขาตะคอกว่า “แล้ว Triple A ล่ะ” ผมถามกลับว่า “อะไรหรือ Triple A” เขาตอบว่า “สโมสรรถยนต์ AAA ไงล่ะ คุณเป็นสมาชิกหรือเปล่า” ผมถามกลับ “มันเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องคอเจ็บของผมหรือ” เขามองผมเหมือนกับว่าผมเป็นผู้ก่อการร้าย แล้วพูดห้วนๆ ว่า “อีก ๒๐ นาที คุณกลับมาใหม่” (เพื่อรับยา)

โดยรวมแล้ว ผมเสียเงินสำหรับการเจ็บคอเล็กๆ น้อยๆ นี้ไป ๒๕๐ ดอลลาร์ (ประมาณ ๗,๕๐๐ บาท) เป็นค่าตรวจ ๑๓๐ ดอลลาร์ ค่าจอดรถ ๑๑ ดอลลาร์ ค่าทิปสำหรับคนจอดรถ ๒ ดอลลาร์ ค่ายา ๒ อย่าง : ยาปฏิชีวนะ ๙๕ ดอลลาร์ และยาแก้ปวด ibuprofen ๒๐ ดอลลาร์ มันเป็นการเจ็บคอที่แพงที่สุดเท่าที่ผมเคยประสบมา”

นี่คือตัวอย่างของ “การแพทย์พาณิชย์” ที่สุดโต่งที่สุดแห่งหนึ่งหรือแห่งเดียวของโลก ดังที่เคยมีภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง “SICKO” (sick แปลว่า ป่วย) ใน ค.ศ.๒๐๐๗ โดยผู้กำกับหนังทางเลือกชื่อดัง “ไมเคิล มัวร์” ซึ่งเคยได้รับรางวัลจากหนังอีกเรื่องที่โด่งดังมากคือ “ฟาเรนไฮต์ ๙/๑๑”

หนังเรื่อง “SICKO” (น่าจะแปลว่าผู้ป่วย) ได้ตีแผ่ความเลวร้ายของระบบการแพทย์อเมริกัน ที่มุ่งประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าประโยชน์ของผู้ป่วย (เช่นเดียวกับโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยในปัจจุบัน)

ระบบประกันสุขภาพในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด หากำไรเกินควรจากความเจ็บไข้และชีวิตคน แม้แต่คนที่มีประกันสุขภาพจำนวนมากก็ยังล้มละลายได้อย่างง่ายดายเมื่อเจ็บป่วย

ผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าประกัน หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ซื้อประกัน เพราะอ้วนเกินไป ผอมเกินไป แก่เกินไป มีโรคนั้นโรคนี้หรือพ่อแม่พี่น้องมีโรคที่อาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ เป็นต้น จึงสูงถึง ๕๐ ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ ๓๐๘ ล้านคน คนกลุ่มนี้จะถูกดูหมิ่นดูแคลนจากสถานพยาบาลต่างๆ เพราะจะไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจรักษา จึงไม่ค่อยกล้าไปหาหมอ นอกจากจะเจ็บหนักหรือทนไม่ไหวแล้ว

แม้ประธานาธิบดีโอบามาจะสามารถเข็นกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ได้สำเร็จในปี ๒๕๕๓ เพื่อให้ประโยชน์แก่คนอเมริกันอีก ๓๐ ล้านคน ที่ยังไม่มีการประกันสุขภาพ แต่กฎหมายนี้ยังไม่มีผลอย่างจริงจังในทางปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะแรงต่อต้านจากหลายฝ่ายรวมทั้งสมาคมแพทย์อเมริกันซึ่งมีพลังมาก (เนื่องจากให้เงินสนับสนุนนักการเมืองจำนวนมาก) และเพราะภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ของสหรัฐฯ ด้วย เป็นต้น

ในกรณีของคุณบิ๊กส์ นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่สุดแสนจะหฤโหดสำหรับการเจ็บคอธรรมดาๆ แล้ว ยังมีข้อสังเกตว่าการตรวจรักษาครั้งนั้นอาจไม่ได้มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เช่น
๑. คุณบิ๊กส์ไม่น่าจะเป็นโรคคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส เพราะไม่มีไข้ ไม่มีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน หรือได้อยู่ใกล้ชิดกับคนเป็นโรคนี้
๒. โรคคอเจ็บ (sorethroat) ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส การจะวินิจฉัยโรคคอเจ็บจากสเตร็ปจึงควรต้องตรวจหาเชื้อแบคทีเรียจากคอหอย หรือตรวจหาภูมิต้านเชื้อสเตร็ปจากเลือดของผู้ป่วย เป็นต้น แต่ในกรณีคุณบิ๊กส์ คุณ “หมอ” รีบให้การวินิจฉัยตามคำสันนิษฐานของผู้ป่วย (ผู้ป่วยที่ไปหาหมอ จึงไม่ควรไปบอกหมอว่า ตนสงสัยว่าจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ คุณหมอที่ “ใจง่าย” อาจ “ตามใจ” ผู้ป่วยได้ดังกรณีนี้) จากการอ้าปากแลบลิ้นของคุณบิ๊กส์เท่านั้น
๓. สมมุติว่าคุณบ๊กส์เป็นโรคคอเจ็บจากสเตร็ปจริง ยาที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้คือ “Pen-V” ไม่ใช่ Augmentin อย่างแน่นอน การใช้ยาปฏิชีวนะแบบครอบจักรวาล เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเชื้อโรคดื้อยาอย่างกว้างขวางมากขึ้นๆ จนในที่สุด อาจไม่มียาสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อได้อีกในอนาคต
 

ข้อมูลสื่อ

393-047
นิตยสารหมอชาวบ้าน 393
มกราคม 2555
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์