• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผ่าตัดต้อกระจกเตรียมตัวอย่างไร

ผ่าตัดต้อกระจกเตรียมตัวอย่างไร


ต้อกระจกเป็นภาวะที่ใช้เรียกเลนส์ตาที่มีความขุ่นเกิดขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง การมองเห็นจึงไม่ชัดเจนเกิดอาการตามัว โดยไม่มีอาการปวดตา ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาจะทำให้เกิดต้อหินชนิดเฉียบพลัน หรือม่านตาอักเสบทำให้ปวดตามากและตาบอดในที่สุด การรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดคือ การผ่าตัดนำเลนส์ตาที่ขุ่นออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ กรณีที่ผู้ป่วยเลนส์ตาขุ่นมากและแข็ง ต้องผ่าตัดเอาเลนส์ตาออกทั้งหมด โดยกรีดแผลประมาณครึ่งวงกลมของตาดำ แล้วจึงนำเลนส์ตาออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่ จากนั้นจึงเย็บปิดแผล ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยและได้ผลดีมากคือ การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ โดยเปิดแผลเพียงรูเล็กๆ เพื่อสอดเครื่องมือลักษณะคล้ายด้ามปากกาเข้าไปเพื่อสลายและดูดแก้วตาที่ขุ่นออกหมด จากนั้นใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ โดยไม่ต้องเย็บแผล ซึ่งวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาลสามารถมารับการผ่าตัดแล้วกลับบ้านได้เลย

ปฏิบัติตัวอย่างไรก่อนวันทำผ่าตัด
ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ในคืนก่อนวันทำผ่าตัด ฝึกหัดนอนราบไม่หนุนหมอน (ถ้าไม่ไหวอาจอนุญาตให้หนุนผ้าบางๆ ได้) ทดลองนอนคลุมโปงนานประมาณ ๓๐ นาที เพื่อให้เกิดความเคยชินสภาพเพราะขณะทำผ่าตัดจะมีการคลุมผ้าปราศจากเชื้อบริเวณศีรษะและลำตัว เปิดเฉพาะบริเวณตาข้างที่ทำ เตรียมทำความสะอาดร่างกายทั่วไป เช่น อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บสั้น โกนหนวดเครา เพื่อลดโอกาสของการติดเชื้อเข้าสู่แผลผ่าตัด ส่วนยาที่กินเป็นประจำให้ใช้ตามปกติ และนำมาโรงพยาบาลด้วย เช่น ยาเบาหวาน ยาลดความดันเลือดสูง ยาอมใต้ลิ้นแก้อาการเจ็บแน่นหน้าอก ยาพ่นหอบหืด แต่ยาที่ต้องงดก่อนผ่าตัด ๑ สัปดาห์ได้แก่ ยาละลายเกล็ดเลือด (เช่น ยาแอสไพริน)

ปฏิบัติตัวอย่างไรในวันทำผ่าตัด
ไม่ควรใส่เครื่องประดับหรือนำของมีค่าไปโรงพยาบาล และควรนำญาติมาด้วยอย่างน้อย ๑ คน (ในกรณีที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล) ถ้ามีอาการตาแดง ตากุ้งยิง ท้องเสีย หอบหืด ต้องแจ้งให้พยาบาลทราบทันที ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมความพร้อมบริเวณที่จะทำผ่าตัด โดยการตัดขนตาข้างที่จะทำผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เมื่อเข้ามาในห้องผ่าตัด จะได้รับการหยอดตาบ่อยครั้งซึ่งเป็นยาชา สลับกับยาขยายรูม่านตา หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาบริเวณเปลือกตาล่าง (บางรายอาจได้ยาระงับความรู้สึกด้วยการใช้ยาชาชนิดหยอดแทน) ระหว่างรอให้ยาชาออกฤทธิ์เต็มที่ ผู้ป่วยควรไปถ่ายปัสสาวะก่อนเข้าทำผ่าตัดเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่าง ไม่ปวดปัสสาวะขณะที่ทำซึ่งแพทย์สามารถทำผ่าตัดได้อย่างสะดวกและราบรื่น ระหว่างทำผ่าตัดควรนอนนิ่งๆ ไม่เกร็งตัว ให้ถามตอบ ด้วยการเปล่งเสียงพูด ห้ามพยักหน้า หรือส่ายหน้า ถ้ารู้สึกอยากไอ หรือจาม จะต้องบอกให้แพทย์ทราบก่อน เพื่อให้แพทย์หยุดทำผ่าตัด และนำเครื่องมือออกจากดวงตาก่อนเพื่อป้องกันอันตรายต่อดวงตาของผู้ป่วยเอง แพทย์จะใช้เวลาทำผ่าตัดประมาณ ๓๐-๔๕ นาที ระหว่างที่ทำอาจได้ยินเสียงของเครื่องมือที่ใช้ผ่าตัด ไม่ต้องตกใจ เป็นความปกติของเครื่องมือไม่ได้เกิดจากเครื่องมือชำรุด อาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ป่วยได้บ้าง เมื่อเสร็จการผ่าตัดพยาบาลจะหยอดตา ป้ายตา และปิดตาด้วยผ้าก๊อซ และฝาครอบตา

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ แต่ควรกินอาหารอ่อน เคี้ยวง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็ง กรอบ หรืออาหารที่ต้องออกแรงเคี้ยวมากๆ เพราะจะกระเทือน ดวงตาข้างที่ทำผ่าตัด ควรกินผัก ผลไม้สด และดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันท้องผูก เพราะการเบ่งถ่ายอุจจาระมีผลให้ความดันในลูกตาเพิ่ม กิจวัตรประจำวันก็สามารถทำได้ตามปกติเช่นกัน แต่ไม่ควรยกของหนักหรือทำงานหนักเช่น ขุดดิน โขลกเครื่องแกง ควรงดการทำอาหารหรือกวาดบ้านเพราะควันหรือฝุ่นอาจฟุ้งกระจายเข้าตา เวลาอาบน้ำให้ระมัดระวังน้ำเข้าตา ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า การแปรงฟันควรแปรงเบาๆ ไม่ก้มหน้าหรือสะบัดหน้าแรง ถ้าต้องการสระผมให้นอนหงายให้ผู้อื่นสระให้ ไม่ควรเล่นกับเด็กเพราะเด็กอาจยกมือตบลงบริเวณตาข้างที่ทำผ่าตัดได้ ให้ครอบตาไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันเผลอเอามือขยี้ตา ผู้ป่วยอาจรู้สึกคันตาได้ เนื่องจากการงอกของขนตาหรือรอยไหมเย็บ ให้พยายามกะพริบตาบ่อยๆ แทนเพื่อลดอาการคันหรือเคืองตา เวลานอนให้นอนตะแคงเอาตาข้างที่ทำไว้ข้างบน หลังผ่าตัดวันแรกให้ปิดตาไว้ก่อน ยังไม่ต้องหยอดตา มาพบแพทย์ตามนัด แพทย์จะเปิดตาเองเพื่อทดสอบการมองเห็นของผู้ป่วย หลังจากนั้นจึงเช็ดตา หยอดตา เปลี่ยนผ้าปิดตา
ข้อสำคัญคือ ผู้ที่มาเช็ดตา หยอดตา ให้ผู้ป่วยควร ล้างมือ ฟอกสบู่  ให้สะอาดเสียก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดตามาก ตาแดงจัด ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด การผ่าตัดต้อกระจกไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ใช้เวลาทำไม่นาน ขอเพียงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ทำใจให้สบายพยายามนอนนิ่งๆ ให้ความร่วมมือกับแพทย์ผู้ทำผ่าตัด ภายในเวลาไม่กี่วันก็จะมองเห็นได้อย่างสดใสเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง 

ข้อมูลสื่อ

327-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
เรื่องน่ารู้
วนิดา ลีเลิศไพศาล